อาจารย์ ทวี รัชนีกร
เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พุทธศักราช 2477 ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
อาศัยอยู่ตรง ตลาดน้ำราชบุรี พออายุได้ประมาณ 6 ปี อาจารย์ ทวี รัชนีกร ได้ย้ายมาอาศัยอยู่ แถวตลาด น้ำอัมพวา
อาจารย์ ทวี รัชนีกร เริ่มสนใจศิลปะ ตั้งแต่เด็ก เพราะอาจารย์ ทวี รัชนีกร ได้เห็น วัด พุทธประติมา จิตรกรรมฝาผนัง สถาปัตยกรรม สิ่งมีชีวิต สิ่งของ ธรรมชาติ จึงทำให้ตื่นเต้น ประทับใจ ทำให้เป็นแรงบันดาลใจ ให้ชอบเขียนรูป ตั้งแต่เด็ก
พอตอนกำลังศึกษาชั้นประถมศึกษา อาจารย์ ทวี รัชนีกร เริ่มฝึกฝนฝีมือด้วยการลอกภาพจากปกสมุดและปกหนังสือ
เมื่อบิดาของอาจารย์ ทวี รัชนีกร ได้บวช 3 พรรษา อาจารย์ ทวี รัชนีกร ได้มีโอกาสไปดูหนังตะลุง และได้กลับมาเขียนหนังตะลุง เขียนยักษ์ เขียนมาร สีแก้ว เป็นต้น บิดาของ อาจารย์ ทวี รัชนีกร พอเขียนรูปเป็น จึงได้เขียนให้ อาจารย์ ทวี รัชนีกร ดู อาจารย์ ทวี รัชนีกร จึงได้เขียนตาม จึงทำให้ชอบศิลปะมากขึ้น
เมื่ออาจารย์ ทวี รัชนีกร เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงได้สอบเข้าเรียนศิลปะขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนเพาะช่าง สาขา วิจิตรศิลป์ พอต่อมาอาจารย์ ทวี รัชนีกร ได้ไปดูงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้ไปเห็นผลงานศิลปกรรมแห่งชาติ ของ สนั่น ศิลากร และ แสวง สงฆ์มั่งมี และได้เห็นการสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน จึงทำให้ตื่นเต้น อยากสร้างงานประติมากรรมบ้าง และได้สอบเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เมื่อเริ่มเข้าไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ศิลป์ พีระศรีได้กล่าวว่า ถ้าแค่ก้าวมาในวิหารศักดิ์สิทธินี้ ถ้าไม่จริงจังก็ขอให้ถอยออกไป และในตอนที่กำลังเรียนสุนทรียภาพกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เล่าว่า วัฒนธรรมเมืองไทย ไม่ต่างจากโรม ไม่ต่างจากฝรั่งเศส ไม่ต่างอะไร มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่ดีมาก มีประติมากรรมสุโขทัย วัดสุทัศน์ พุทธชินราช และจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุวรรณ ที่งดงามและยิ่งใหญ่มาก
หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ ทวี รัชนีกร ได้เดินทางสู่ภาคอีสาน เพื่อไปสอนศิลปะที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะการศึกษา วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังได้ร่วมก่อตั้งแผนก ศิลปกรรม เปิดสอนวิชาศิลปะโดยตรง ถือเป็นการบุกเบิกการเรียนการสอนศิลปะในภาคอีสาน ชีวิตการเป็นอาจารย์สอนศิลปกรรม สร้างลูกศิษย์ศิลปะตลอดระยะเวลา 30 ปี จนเกษียณอายุราชการ
อาจารย์ ทวี รัชนีกร เป็นศิลปินอาวุโสที่ทุ่มเทในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2503 โดยในการสร้างสรรค์ผลงานด้านจิตรกรรมนั้น ระยะแรกได้แสดงออกให้เห็นความงามของธรรมชาติที่ผสมผสานความคิด จนเกิดรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะตัวและต่อมาได้เสนอภาพสะท้อนภาวะของสังคม วิถีชีวิต ความเชื่อ ความเป็นท้องถิ่นและเรื่องราว สะเทือนใจที่มีต่อประชาชนโดยเสนอทัศนะต่อสังคมให้ตระหนักถึงความยุติธรรมและความจริงของมนุษย์ที่จะมอบให้แก่กันและกัน
ในส่วนของกระบวนการแสดงออก
อาจารย์ ทวี รัชนีกร ยังได้นำเอาวัสดุพื้นบ้านอีสานมาพัฒนาสู่การสร้างสรรค์ในระดับสากล และผลงานได้รับรางวัลและเกียรติคุณจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายครั้ง เช่น รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9
รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10
รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญทองแดง สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11
รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12
อาจารย์ ทวี รัชนีกร ยังเคยได้กล่าวไว้ว่า
” งานของผมเหมือนบทเพลงที่ไพเราะ โดยไม่มีเนื้อร้อง เส้น แสง สี เงา องค์ประกอบ มีความงดงาม จนบางคนบอกรูปผม สีผู้ดีเหลือเกิน สีสันและรูปทรงมาจากจินตนาการ แล้วยังมีผลงานอีกส่วนสร้างจากความสะเทือนใจที่เข้ามากระทบ ผมเป็นคนเซ้นซิทีฟ เห็นภาพสืบ นาคะเสถียร อุ้มสัตว์ป่าหนีตายจากน้ำท่วมที่เขื่อนเชี่ยวหลาน สะเทือนใจก็แสดงผ่านผลงาน เห็นป่าไม้ถูกตัดก็สร้างงาน “ป่าตาย คนตาย ” แล้วยังมีสื่อผสมชื่อ “บวชป่า” งานจิตรกรรมและงานปั้นโดยนำดินด่านเกวียนมาสร้างงานชุด”ป่าร้อง” เมืองไทยมีเรื่องสะเทือนใจมากมาย เขียนจนตายก็ไม่มีหมด ”
นอกจากนั้น อาจารย์ ทวี รัชนีกร ยังเป็นผู้บุกเบิกการสร้างงานเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนให้แก่ศิลปินและวงวิชาการศึกษาทางด้านนี้ จนเกิดการพัฒนารูปแบบมาถึงปัจจุบัน นับได้ว่าผลงานศิลปะและงานวิชาการทางศิลปะต่างๆ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างมาก อาจารย์ ทวี รัชนีกร เป็นศิลปินที่ดำรงชีวิตในการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างมีความมั่นคง และประกอบกิจการงานด้วยคุณธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง
อาจารย์ ทวี รัชนีกร จึงได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) พ.ศ. 2548
อีกทั้ง อาจารย์ทวี รัชนีกร ยังได้ก่อตั้ง หอศิลป์ ทวี รัชนีกร ในปี พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงผลงานศิลป์ในประเภทต่างๆ ประกอบด้วยผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม และเทคนิคผสม นอกจากจะจัดแสดงผลงานดังกล่าวแล้วยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา อาทิ การประกวดวาดภาพ การจัดเสวนา หรือการบรรยายทางศิลปะ นอกจากนี้ยังมีอาคารเล็กที่จัดแสดงผลงานวาดเส้นเทคนิคผสม ชั้นบนเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือศิลปะ