หากกล่าวถึงผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับวงการศิลปะไทย และทำให้เจริญรุ่งเรืองมาถึงยุคปัจจุบัน แน่นอนว่าทุกคนจะต้องนึกถึงตำนานแห่งศิลปะร่วมสมัยอย่าง ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวิทยาลัยศิลปากร ผู้เป็นทั้งศิลปินและปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ศ. ศิลป์ พีระศรี ถูกยกให้เป็นปรมาจารย์ทางศิลปะอย่างแท้จริง เป็นผู้รอบรู้วิทยาศิลปะทุกประการ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การเมือง สุนทรียภาพ ความงาม ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงวิทยาศาสตร์ ศ. ศิลป์ พีระศรี ได้แสดงฝีมือประติมากรรมที่โดดเด่นไว้หลายชิ้น โดยได้ออกแบบอนุสาวรีย์ตามคำสั่งของทางราชการไว้มากมายหลายแห่ง เรียกว่าอนุสาวรีย์เกือบทั้งหมดของประเทศล้วนแต่ผลงานจากฝีมือของท่าน เช่น พระศรีศากยะทศพลญาน จังหวัดนครปฐม, ประติมากรรมปูนปั้นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ, พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สะพานพุทธฯ กรุงเทพฯ, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นครราชศรีมา และอีกมากมาย จนได้รับขนานนามว่าเป็น ศิลปินสาธารณะ

 

นอกจากนั้น ศ. ศิลป์ พีระศรี ยังเป็นบุคคลแรกที่ยกระดับวงการศิลปะไทยอันส่งคุณค่าออกสู่สายตาชาวโลก ท่านเล็งเห็นว่า นอกจากจะสอนให้ลูกศิษย์มีความสามารถด้านศิลปะแล้ว งานศิลปะเหล่านั้นควรได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะชนด้วย จึงเป็นที่มาของการแลกเปลี่ยนงานศิลปะระหว่างประเทศเกิดขึ้น ด้วยการจัดประกวดงานศิลปะแห่งชาติ ทำให้ศิลปินไทยได้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในวงการศิลปะของโลก ศิลปินแห่งชาติกว่า 99% ล้วนแต่เป็นฝีมือการปั้นจาก ศ. ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 เดิมครอบครัวมีอาชีพค้าขาย ชีวิตในวัยเด็กนั้น คอร์ราโด ไม่ชอบเรียนวิชาสามัญเท่าไหร่นัก มักหนีโรงเรียนไปดูช่างปั้นรูป ช่างเขียนรูปอยู่เสมอ จนรู้จักกับศิลปินมีชื่อหลายคน และมักขอเป็นลูกมือช่วยเสมอ แม้ทางครอบครัวจะไม่สนับสนุน เพราะอยากให้สืบทอดกิจการ

จนกระทั่งวันหนึ่งประติมากรมีชื่อเห็นแววทางด้านศิลปะของ คอร์ราโด และชักชวนให้ไปร่วมงานกัน หลังจากนั้นเขาก็ได้เข้าศึกษางานศิลปะอย่างจริงจัง ในสถาบันศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ และจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี ในขณะที่มีอายุเพียง 23 ปี และสอบคัดเลือกรับปริญญาบัตรเป็นศาสตร์จารย์มีความรู้ในงานศิลปะรอบด้าน โดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านงานประติมากรรม และจิตรกรรม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระประสงค์ต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านศิลปะตะวันตกเพื่อที่จะเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นในแผ่นดินไทยและทำการฝึกสอนช่างไทยให้มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตกได้ ทางรัฐบาลอิตาลีจึงได้ยื่นข้อเสนอโดยการส่งคุณวุฒิและผลงานของศาสตราจารย์คอร์ราโดให้สยามพิจารณา โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการคัดเลือกศาสตรจารย์คอร์ราโด ให้มาปฏิบัติงานในสยาม ด้วยเหตุนี้ศาตราจารย์คอร์ราโดจึงเดินทางสู่แผ่นดินสยาม เพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา

ศาสตรจารย์คอร์ราโด ได้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้น สังกัดกรมศิลปากร และพัฒนาการเรียนการสอนเรื่อยมา จนในปี พ.ศ. 2485 ได้ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโดดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย

การปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่รัฐบาลไทยนั้น ศ. ศิลป์ พีระศรี ไม่ได้มุ่งแต่จะนำหลักการของศิลปะตะวันตกมาอบรมสั่งสอนและทำให้เกิดความนิยมในหมู่คนไทยเท่านั้น แต่ยังศึกษางานศิลปะของไทยและสนับสนุนให้คนไทยสนใจศึกษาและคุณค่าของศิลปะประจำชาติ พยายามรักษาไว้ไม่ให้สูญสลายไป ศ. ศิลป์ มีความรักในเมืองไทยมาก ถึงขั้นออกปากว่า ตัวท่านเองนั้นไม่ใช่ฝรั่ง แต่เป็นคนไทยที่ไปเกิดในเมืองฝรั่งเท่านั้น

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2485 ประเทศอิตาลียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาเลียนในประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของญี่ปุ่น ทำให้ศาสราจารย์คอร์ราโดเองก็ถูกควบคุมตัวไว้เช่นกัน แต่รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจีเอาไว้เอง โดยหลวงวิจิตรวาทการ ได้ดำเนินการทำเรื่องราวขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘นายศิลป์ พีระศรี’ นับแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อไม่ต้องไปถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึก โดยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ค่าครองชีพในประเทศไทยสูงขึ้น ทำให้สถานะทางการเงินของท่านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จำต้องขายทั้งรถยนต์และบ้าน รวมถึงที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางการเงิน ไม่ยอมทิ้งลูกศิษย์และอุดมการณ์ในการพัฒนาวงการศิลปะไทยของท่าน แม้จะต้องหยุดชีวิตครอบครัวและชีวิตสมรสไว้ที่บ้านเกิดอย่างอิตาลี

ผลงานที่สำคัญซึ่งปรากฏเห็นในปัจจุบันมีดังนี้

  • พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีขนาด 3 เท่าคนจริง ประดิษฐานที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านเป็นช่างปั้น และเดินทางไปควบคุมการหล่อที่ประเทศอิตาลี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2472
  • อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477
  • รูปปั้นหล่อประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485
  • พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2493
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2497
  • รูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน
  • พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล 25 พุทธศตวรรษ ที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ .2498 ฯลฯ
  • นอกจากนั้นยังมีโครงการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จอีกคือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  จังหวัดลพบุรี เป็นต้น

ผลงานด้านการศึกษา

ด้วยเหตุที่ท่านได้ฝึกฝนเยาวชนไทยให้เข้าช่วยงานปั้นอนุสาวรีย์  จึงเป็นแรงบันดาลใจท่านจัดตั้งโรงเรียนของทางราชการขึ้นในปี พ.ศ. 2469 โดยสอนเฉพาะวิชาประติมากรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ทางกระทรวงธรรมการได้เห็นความสำคัญในสิ่งที่ท่านทำ จึงได้จัดตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนศิลปากร  จัดทำหลักสูตรศิลปกรรมชั้นสูง  4  ปี  ต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี  พ.ศ. 2486  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย

ผลงานด้านเอกสารทางวิชาการ

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีผลงานทางด้านเอกสารทางวิชาการ ตำรา และบทความมากมาย ซึ่งล้วนแต่ให้ความรู้ทางศิลปะ  พยายามชี้ให้เห็นคุณค่าของศิลปะ เช่น ทฤษฎีของสี ทฤษฎีแห่งองค์ประกอบศิลป์ คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง ศิลปะและราคะจริต อะไรคือศิลปะ ภาพจิตรกรรมไทย พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว ฯลฯ ตลอดเวลาที่ศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี ได้เดินทางเข้ามารับราชการและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ท่านได้ทุ่มเทความรัก ความรับผิดชอบให้แก่งานราชการอย่างมหาศาล แม้ว่าท่านอยู่ในฐานะของชาวต่างชาติก็ตาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ท่านได้โอนสัญชาติเป็นไทยและเปลี่ยนชื่อเป็นไทย พ.ศ. 2502 สมรส กับ คุณมาลินี เคนนี และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตลอดอายุของท่าน ศ. ศิลป์ พีระศรี ไม่ได้มีเพียงผลงานทางด้านศิลปะเพียงอย่างเดียวที่กลายเป็นที่จดจำ ยังมีคำสอนที่คอยเตือนใจบรรดาลูกศิษย์มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะประโยคที่ว่า

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น

เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ชีวิตของมนุษย์นั้นแสนสั้นนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยงคงงอยู่ของศิลปกรรม ที่จะยืนยงคงอยู่ยาวนานนับร้อยนับพันปี

ในมุมมองของลูกศิษย์ ศ.ศิลป์ ปรารถนาดีต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก

ศาสตราจารย์ศิลป์มีนิสัยรักธรรมชาติ ชอบความเรียบง่ายและหลงรักในวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยพัฒนาวงการศิลปะไทยให้ก้าวหน้า ในมุมมองของลูกศิษย์นั้น ศาสตราจารย์ศิลป์เป็นคนที่มีความรักใคร่ ห่วงใยละปรารถนาดีต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ในเวลาสอนศาสตราจารย์ศิลป์จะจริงจังและเป็นคนที่มีความตรงต่อเวลา สอนด้วยความเข้มงวดและมักจะพร่ำสอนให้นักศึกษาทำงานหนักอยู่เป็นประจำ เพราะงานศิลปะที่ดีนั้นย่อมมาจากการฝึกฝนอย่างหนัก โดยท่านยังมีความเป็นกันเองกับนักศึกษา มักจะแทนตัวเองว่า “ฉัน” และแทนนักศึกษาว่า “นาย” เมื่อนักศึกษาคนไหนขาดแคลนทุนทรัพย์ท่านก็มักจะช่วยเหลือเสมอ ท่านยังโปรดปรานการฟังเพลงเป็นอย่างมาก โดยเพลงที่ท่านมักจะฮัมเวลาทำงานอยู่บ่อยๆก็คือเพลงซานตา ลูเชีย เพลงพื้นเมืองภาษาอิตาลีซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร

หลังจากสงครามสิ้นสุดท่านจำต้องขายทั้งรถ บ้านและที่ดินเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินครอบครัว แต่ก็ยังปั่นจักรยานจากบ้านทางถนนสุขุมวิทมาสอนอยู่ทุกวัน เมื่อจำเป็นต้องเดินทางกลับอิตาลีเพราะวิกฤตทางการเงินแต่ท่านก็ยังห่วงงานที่ประเทศไทยที่ยังคงคั่งค้าง จึงจำเป็นต้องแยกทางกับครอบครัวเพื่อที่จะมาสานต่ออุดมการณ์ของท่านต่อ ในช่วงบั้นปลายแม้จะป่วยหนักแต่ศาสตราจารย์ศิลป์ก็ยังทำงานของท่านต่อ ท่านยังตรวจข้อสอบของนักศึกษาในขณะที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านได้บอกกล่าวกับลูกศิษย์ไว้ว่า

นาย ถ้าฉันตาย นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องไปทำอะไร นายทำงาน

ซึ่งเป็นคำสอนที่ลูกศิษย์ยึดถือไว้อีกประโยคหนึ่งเพื่อช่วยสืบต่ออุดมการณ์ของศาสตรจารย์ศิลป์ในการพัฒนาวงการศิลปะไทยต่อไปตราบนานเท่านาน

โอวาทแก่ลูกศิษย์และผู้อื่น

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มักจะเรียกลูกศิษย์ทุกคนว่า “นาย” และมักจะสั่งสอนลูกศิษย์ที่ขี้เกียจขวนขวายว่า

นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร

ศิลป์ พีระศรี
ให้โอวาทกับ สนิท ดิษรพันธ์ เมื่อเรียนสำเร็จจิตรกรรมคนเดียวในปีนั้น

อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก ฉันเองก็ยังศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา   

ศิลป์ พีระศรี
กล่าวกับคนอื่น ๆ และสมเกียรติ หอมอเนก

ในบรรดาศิลปะด้วยกัน ดนตรีเป็นสิ่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้มากที่สุด เมื่อเรามีนักดนตรีที่มีความสามารถสูงมาบรรเลงในบ้านเรา เราก็ใคร่จะให้ญาติสนิทมิตรสหายได้มาร่วมเสพสุนทรียรสกับเราด้วย   

ศิลป์ พีระศรี
กล่าวกับนักเรียนศิลปะที่เพิ่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากรในวันแรก

พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อนแล้วจึงเรียนศิลปะ

ศิลป์ พีระศรี
กล่าวกับลูกศิษณ์คนหนึ่ง

ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบแม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุด ก็อาจจะมีความงามที่แอบซ่อนอยู่ อาจจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือฟัน หรือแม้แต่จิตใจที่งดงามก็ตาม นายต้องค้นให้พบ…   

ศิลป์ พีระศรี
โอวาทแก่ชาวไทย

ชาวนาปลูกข้าวให้เรากิน ทำแผ่นดินให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไฉนเล่าเราจึงจะไม่เนรมิตสิ่งซึ่งยกจิตใจให้สูง สมกับที่เราเกิดมาแล้วโดยไม่เปลืองเนื้อที่ของแผ่นดินโลก

ด้วยคุณูปการนี้ศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากมายที่สร้างไว้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมไปถึง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ศาสตรจารย์ศิลป์จงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทยและเป็นบิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในวันที่ 15 กันยายน ของทุกปีจะถือเป็นวันศิลป์ พีระศรี ซึ่งมหาวิทยาลัยจะจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของศาสตราจารย์ศิลป์ที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทยหลายประการ