นิทรรศการแสดงเดียว The Secret not Secret
เปิดงาน 12 ก.ค. 2561
โดย โยทะกา จุลโลบล
ประเภทงาน : จิตรกรรม วาดเส้น และ ประติมากรรมบรอนซ์
@333 gallery ชั้น 3 river city
การเดินทาง : ลง mrt สามย่าน ทางออก วัดหัวลำโพง ต่อ วินมอเตอร์ไซค์ หรือ แท็กซี
โทร : 081 845 1371
Page facebook.com/333bababagallery/
Page facebook.com/meyotaka.daradaily
The Secret not Secret ความลับทีไมใช่ความลับ เป็นผลงานเดี่ยวครั้งที่ 3 ในรอบ 7 ปี ของโยทะกา จุลโลบล ศิลปินสาวสุดมั่น Colouryo Style ที่มาพร้อมแนวคิดที่เปิดเปลือยอิสรภาพอันเจิดจรัสของสตรีเพศ ผ่านสัญลักษณ์ อาทิ รูปร่างอิสตรีเปล่าเปลือยเย้ยสายตาผู้ชม ,ปีกนางฟ้า,หน้ากากแรด, ดอกไม้,มงกุฎสีทอง และปริศนาในดวงตาว่างเปล่า ท่ามกลางบรรยากาศสีสันสดใสร้อนแรง ที่ผสมขึ้นมาเพื่อโยทะกาโดยเฉพาะ บางสีเป็นสีชนิดพิเศษมีประกายมันวาวของโลหะเมทัลลิค ให้ความรู้สึกลึกลับอีโรติค , เสน่หารสนิยมทางเพศที่เย้ายวนใจ,ประกายสีแวววาวที่ยั่วล้อ ชวนชมเหมือนน้ำนัยน์ตาอิสตรียามยิ้มเยาะเขินอาย (น่าชื่นชม บ.Artistic บ.ผลิตสีของคนไทยที่เข้าใจศิลปิน และร่วมกันสร้างสรรค์สีพิเศษจนสำเร็จ) เราลองมาถอดรหัสความลับที่เธอซ่อนไว้ในผลงานครั้งนี้กัน
นัยของถ้อยคำ นิยามของตัวตน
ในการสร้างแนวทาง และตัวตนของศิลปินให้โดดเด่นนั้น ต้องอาศัยการก่อร่างศึกษา ฝึกฝนทักษะฝีมือที่อาจไม่ใช่การสั่งสมเพียงแค่ในด้านความเหมือนจริงอย่างเดียว แต่รวมถึงทักษะในการเรียบเรียงทัศนธาตุ (เส้น,สี,รูปร่าง-รูปทรง,จังหวะ,พื้นผิว ฯลฯ) ให้มีความงามสมบูรณ์พร้อม อีกทั้งยังต้องมีสารัตถะที่เป็นแก่นกลางของศิลปะ นั่นคือ การแสดงออกอย่างกล้าหาญตรงไปตรงมา ไม่ติดอิทธิพลแนวคิด และรูปแบบผลงานจากศิลปินคนอื่น ศิลปินที่ดีต้องหมั่นขัดเกลา พัฒนางานของตนทั้งแนวคิด เทคนิควิธีการ และ รูปแบบงานอย่างสม่ำเสมอ
ในงานครั้งนี้ ศิลปินเลือกใช้ถ้อยคำทีเป็นคำดูหมิ่นสตรีอย่างคำว่า ดอก(ไม้)ทอง (ดั้งเดิมเป็นคำด่าโสเภณีในอดีตที่ติดเชื้อซิฟิลิส เมื่อมีอาการของโรคก็จะเกิดดอกดวงเห่อขึ้นตามผิวหนัง จึงเรียกดอกทองตั้งแต่นั้น) แต่ ศิลปินกลับนำรูปดอก(ไม้)ทอง นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความหวัง ความหยิ่งทระนง ความมุ่งมั่นองอาจเยี่ยงชายชาตรี ในรูปของช่อดอกไม้, มงกุฎ , ปีกนางฟ้า ,หน้ากากแรด,ชุดสตรีที่คล้ายชุดฮองเฮา จักรพรรดินีจีนโบราณ กลวิธีการใช้รูปสัญลักษณ์เพื่อสร้างตัวตนให้เป็นที่จดจำอย่างชัดเจนนี้ เป็นแนวทางเช่นเดียวกับ ศิลปินในยุค Impressionism สืบเนื่องมาถึงยุค Post- Impressionism ที่ต่างคนต่างเลือกชนิดของดอกไม้คนละชนิด แล้ววาดเผยแพร่ผลงานในสไตล์ของตนเองซ้ำๆ จนสาธารณชนจดจำได้ เช่น ดอกทานตะวัน ของ Vincent Van Goh หรือ ทุ่งดอกบัวของ Claude Monet ฯลฯ
ภาษาของสีสัน การแปรเปลี่ยนของกฎเกณฑ์
Coloryo Style เป็นคำติดหูที่โยทะกาใช้พูดถึงแนวงานของเธอเสมอ ศิลปินสาวสุดมั่น ผู้เหมาหมดแทบจะทุกตำแหน่งในวงการศิลปะ ทั้งพิธีกร , Creative , ครูสอนศิลปะเด็กในบางโอกาส , คอลัมนิสต์ , curator , ผู้จัดประมูลงานศิลปะ เป็นต้น
“ศิลปินเป็นอย่างไร งานศิลปะก็เป็นเช่นนั้น” เป็นคำกล่าวของ Jackson Pollock (ศิลปินอเมริกันชั้นนำ ในลัทธิ Abstract Expressionism) Colouryo Style คือ นิยามของสีสันสดใสสุดร้อนแรงที่บีบสีจากหลอดโดยตรง แทบจะไม่ผสมสีอื่น ให้สีแสดงคุณลักษณ์แท้ๆ ของปฏิกิริยาระหว่างคู่สีที่ทั้งดึงดูด และ ผลักดันกัน เรื่องทฤษฎีสีนั้นเธอแทบจะโยนทิ้งอย่างไม่ไยดี (แต่ไม่ใช่ใช้สีอย่างคนไม่มีประสบการณ์) อาจจัดแนวเธอให้อยู่ในงานแนว Fauvism ก็น่าจะได้ ( Fauvism โฟวิสม์ แปลว่า สัตว์ป่า ในภาษาฝรั่งเศส เป็นคำเรียกประชดลัทธิศิลปะในแนวนี้จากเหล่านักวิจารณ์ ลัทธินี้มีคตินิยมใช้สีสดใสร้อนแรง วางสีคู่ตรงข้าม ในรูปร่างธรรมชาติ และวัตถุที่วาดอย่างสดอิสระ เหมือนเด็ก หรืออนารยะชนที่สร้างสรรโดยไม่คำนึงถึงความเหมือนจริงแต่ยังคงดูออกว่ามาจากรูปอะไร เสน่ห์ของงานแนวนี้คือ ความสดใส อิสระ มีความกล้าหาญสนุกสนาน แต่ไม่รุนแรงเท่าลัทธิ Expressionism)
ความพิเศษอีกอย่างคือ กรอบรูปที่เธอเปลี่ยนจากคติที่คิดว่า กรอบ คือ ส่วนเสริมงานให้โดดเด่น กลายเป็นการใช้สีเคลือบทับกรอบเพื่อเป็นการเพิ่มมิติ และทำลายขอบเขตของกรอบ หรือ กฎเกณฑ์บางอย่างที่เคยชิน ให้กลายเป็นสิ่งใหม่
กล่าวถึงเทคนิค วิธีการ ลักษณะฝีแปรง ชิ้นที่เป็นไฮไลท์ คือ งานชื่อ Miracle ศิลปินใช้น้ำเป็นจำนวนมากผสมสีอะครีลิคสาดกระจายไปทั่วผืนภาพเพื่อสร้างมิติ พื้นผิวที่คลุมเครือ มีการหยดและสลัดสี บางจุดก็เป็นก้อนนูนหนา สีที่สาดกระจายเหมือนเป็นออร่าที่ช่วยเสริมสตรีทีสวมมงกุฏสีทองในชุดจักรพรรดินีจีน แขนที่ผายออกเหมือนการแสดงพลังผู้นำของเพศหญิงที่แท้จริง ใบหน้าของเธอมีการใช้สีเมทัลลิคแวววาว แต่ดวงตากลับไร้สีสันแต่งแต้ม มองทะลุไปถึงพื้นหลังดำมืด เพิ่มความลึกลับน่าเกรงขาม
งานที่เป็นไฮไลต์ 3 ชิ้นถัดมา คือ หลุมดำ <Black Hole>, ความเจ็บยังคงหายใจ <Unbreathable>, นางฟ้าตกสวรรค์ <Fallen Angle> ทั้ง 3 ชิ้น เหมือนเป็นงานชุดต่อเนื่องกัน มีเนื้อหา เทคนิคคล้ายๆ กัน การใช้พื้นหลังเป็นสีดำทะมึน ปีกนางฟ้าเทาเงินเมทัลลิคนูนหนา มีการใช้เทคนิคให้สีไหลเป็นสายจากส่วนบนของภาพ กระจายประสานให้ภาพมีความกลมกลืน คล้ายจะเป็นคราบเลือด น้ำตา ความทุกข์หม่นเศร้า เป็นความเจ็บปวดที่ไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้ แต่ก็ยังคงต้องหายใจมีชีวิตอยู่ต่อไป โดยมีดอก(ไม้)ทองเป็นความหวังที่ช่วยให้เธอโบยบินได้อีกครั้ง งานสายดาร์คที่เผยความทรมาน เป็นประสบการณ์จากชีวิตจริงของศิลปิน ที่เธอเองก็สารภาพว่าไม่อยากทำบ่อยนัก เพราะมันยากที่จะรับไหว เราจะเห็นได้อีกครั้งในกลุ่มงานวาดเส้น คือ งานชื่อ Happyness of Devil (ความสุขของปีศาจ),Scream (กรีดร้อง) , Coldness (ความเหน็บหนาว) เป็นต้น
Coldness (ความเหน็บหนาว) เป็นงานแนว Appropriation Art (งานศิลปะ
หยิบยืม) คือ การหยิบยืมผลงานจากศิลปินชั้นครู มาตีความใหม่ในสไตล์ของตัวเอง ศิลปินอาจปรับลด เพิ่มบางอย่างของต้นฉบับที่นำมาใช้ได้อย่างอิสระแต่ไม่ใช่การก็อปปี้ภาพโดยตรง ต้นฉบับที่โยทะกา นำมาใช้คือ งานชื่อ Scream ของศิลปินแนว Expressionism ชาวนอร์เวย์ นาม Edward Munch )
อีกชิ้นที่ต้องกล่าวถึง คือ I’m What I’m (ฉันคือฉันเอง) ผู้หญิงสีแดงเพลิงยืนประจันหน้าสบตาผู้ชมอย่างมั่นใจ ศรีษะสวมมงกุฎดอก(ไม้)ทอง ด้านหลังมีผู้หญิงสวมหน้ากากแรดแสดงความอึดถึกทนหันไปทั้งซ้าย และขวา ซ้ายมีพื้นหลังดำมืด ขวามีพื้นหลังสีฟ้าสดใส เหมือนจะสื่อว่าเธอพร้อมจะเผชิญทั้งสุข และทุกข์ในทะเลชีวิตอย่างมั่นใจ ภาพนี้ไม่เพียงบอกถึงตัวตนของโยทะกาเพียงเท่านั้น แต่ยังมีนัยแสดงถึง ตัวตนของอิสตรียุคใหม่ที่ไม่ยอมเป็นช้างเท้าหลัง แต่ยังพร้อมเดินไปด้วยกันกับเพศชาย และอาจเดินนำในบางคราเสียด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกันกับ ประติมากรรมบรอนซ์ที่เธอออกแบบเอง Rhinody Venus นางฟ้าปีกทองผมยาวสลวยหุ่นอรชรอวบอิ่ม มือกุมช่อดอก(ไม้)ทอง ปกปิดใบหน้าด้วยหน้ากากแรด เธอเอียงคอในอารมณ์เพลิดเพลินใจ มีจริตของสตรีวัยแรกสาว น่าแปลกที่แม้เธอจะนั่งบนกองเพลิงก็ยังชื่นชมดอกไม้ได้อย่างสบายๆ
กลุ่มงานที่น่าชื่นชมต่อมาคือ งานชุด แม่และลูก อันแสดงถึง ความบริสุทธิ์อบอุ่นงดงามของแม่และลูก อาทิ งานภาพเหมือนตอนอุ้มท้องของ อมิตา ทาทา ยัง ซึ่งเป็นงานสะสมของเธอเอง , งานแม่และลูกน้อย ผลงานสะสมของ คุณปิยะ กิตติพรชัย , งานในหลวง รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จย่า ผลงานสะสมของ ดร.ฐิติมา โอภาสวงการ และสุดท้ายผลงานชื่อ พระจันทร์ของจันทร์เพ็ญ <Endless Love>
ผลงานรูปศิลปินตอนเด็กกับคุณแม่ของเธอ ซึ่งเป็นความรักความผูกพันที่ไม่สิ้นสุด เหมือนแสงจันทร์ที่ส่องสว่างให้ดวงจันทร์อีกดวงหนึ่งเสมอมา
นอกจากนี้ยังมีงานน่าสนใจอีกหลายชิ้น ทั้งกลุ่มงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เธอวาดในช่วงแห่งการสูญเสียของปวงชนชาวไทย กลุ่มงานนู้ด ภาพเปลือยสตรีที่เปิดเผยเบื้องลึกอย่างกล้าหาญ กลุ่มงานนามธรรม และงานชิ้นอื่นๆ ที่ยังรอคอยให้เราท่านไปค้นหาความลับที่เธอนำมาบอกเรา
สุดท้าย คือ งานภาพถ่ายเปลือยหลังของตัวเธอเองกับดอก(ไม้)ทองถ่ายคู่กับ อ.ฑีฆาวุฒิ บุญวิจิตร ศิลปินหนุ่มเพื่อนสนิทที่จัดแสดงเดี่ยวพร้อมกัน ศิลปินหนุ่มเปลือยท่อนบน ใส่หน้ากากปิดบังใบหน้า เหมือนต้องการซ่อนตัวตนบางอย่างไว้เบื้องลึก ในมือเหมือนถือช่อดอกไม้ที่มองไม่เห็น เหมือนจะสื่อสารถึงความลับลวงพรางบางสิ่งที่ศิลปินจำเป็นต้องปกปิดไว้ ผลงานชิ้นนี้ซ่อนนัยไว้ให้ผู้ชมตีความอย่างอิสระซึ่งเป็นผลงานภาพถ่ายโดย คุณรชต ภู่ศิริ ศิลปินภาพถ่ายมือรางวัลชั้นแนวหน้าของไทย และเป็นผลงานที่นำมาใช้เป็นโปสเตอร์นิทรรศการอีกด้วย
นิยามของศิลปิน
นับตั้งแต่ Josept Beuys เจ้าพ่อศิลปะแสดงสดชาวเยอรมัน <Performance Art> ( เป็นศิลปะการแสดงที่ร่างกายของศิลปินเป็นสื่อแสดงความคิด ความรู้สึก เช่นเดียวกันกับจิตรกรทีใช้สีระบายบนผืนภาพ หรือ ประติมากรที่แกะสลักหิน) Beuys ประกาศไว้ว่า ทุกคนล้วนเป็นศิลปินได้ (ดังนั้นจึงไม่ต้องจบมาโดยตรง ไม่ต้องมีทักษะเชิงช่างเหมือนจิตรกรและประติมากร แต่ต้องมีแนวคิดที่จะสื่อสารบางอย่าง และมีผลงานออกมา)
โดยนัยนี้ โยทะกาก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่ไม่ได้จบทางด้านศิลปะโดยตรงเช่นเดียวกัน ผลงานของนักสะสมหลายๆ ท่านที่โยทะกาเชิญมาร่วมแสดงงานก็ไม่ได้จบด้านศิลปะแต่มีใจรักและชื่นชอบการวาดรูป (ยกเว้นคุณสุรพงษ์ ที่จบจากเพาะช่าง) ผลงานรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ของ คุณสุรพงษ์ งานเลิศ ที่วาดอย่างช่ำชอง และของ อ.ภาคภูมิ เต็งอำนวย ที่วาดอย่างเรียบง่ายมีเสน่ห์จริงใจ ผลงานวาดเส้นสถาปัตย์ของ คุณปริญญา ผลงานดอกไม้ของคุณวารินทร์ ผลงานทะเลของน้องโมนาท์ และผลงานJohn Lennon ของคุณภูมิ ภัทโรพงศ์ ที่ชวนชมชวนมองมิรู้เบื่อ
น่าสนใจว่าต่อไปเราคงต้องสลับบทบาท ระหว่างศิลปิน นักสะสม นักวิจารณ์ ผู้รักงานศิลปะ และผู้ชม ทั้งหมดอาจมีบทบาทที่เลื่อนไหล ทั้งเป็นและไม่เป็นในเวลาเดียวกัน อันที่จริง นิยามของศิลปินอาจสำคัญไม่เท่ากับสิ่งที่เขาแสดงออกมา ศ.เกียรติคุณ อิทธิพล ตั้งโฉลกกล่าวว่า “หน้าที่ศิลปินมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ การทำงานให้ดีเลิศที่สุด” แต่ผมขอเสริมว่า ถ้ามีการบริหารจัดการตัวเองแบบมืออาชีพ มีวินัย มีความรับผิดชอบ รู้ว่า “ตลาด” “เวที” ผู้ชื่นชอบงานของตนเองอยู่ที่ไหน รู้จักการวางตำแหน่งแห่งหนของตัวเองอย่างถูกต้องเหมาะสม หากศิลปินมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ก็จะสำเร็จได้เหมือน ที่ศิลปินสาวสุดมั่น ได้แสดงให้เราเห็น โยทะกา จุลโลบล มารดา ผู้ให้กำเนิด หน้ากากแรด ดอก(ไม้)ทอง และสีสันสุดจี๊ด Colouryo Style
อ้างอิง
เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ ( Expressionism ) “ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ .ในความหมายกว้างๆ คำๆ นี้ใช้อธิบายให้เห็นถึงงานศิลปะ ซึ่งถืออารมณ์เป็นสิ่งสำคัญเหนือกว่าความคิด งานศิลปะแนวนี้ศิลปินจึงมักจะเลือกใช้เนื้อหาที่มีความเร้าใจ สร้างอารมณ์อันเข้มข้นให้กับผู้ชม เช่น การต่อสู้ ความโกรธ ความทุกข์ทรมาน ความตาย และการแสดงออกมักจะเน้นไปที่การแสดงออกด้วยการใช้สี ในลักษณะของเส้นซึ่งเกิดจากการแสดงออกด้วยอารมณ์ฉับพลันทันที “ จาก หน้า 132-133 หนังสือ โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 ของ รศ.จิระพัฒน์ พิตรปรีชา (ตัวอย่าง ศิลปินไทยทีทำงานแนวนี้ เช่น ทวี รัชนีกร(ศิลปินแห่งชาติ) , สุเชาว์ ศิษย์คเณศ , จ่าง แซ่ตั้ง , ตะวัน วัตุยา , กฤช จันทเนตร ,ชุมพล คำวรรณะ,ปราสาท นิรันดรประเสริฐ , บู๊ซือ อาจอ เป็นต้น – ผู้เขียนคอลัมน์)