จิตรกรรมนามธรรมเพื่อปลดปล่อยเสรีแห่งความหลากหลายทางเพศ บทความโดย กฤษณะ ชัยกิจวัฒนะ
นิทรรศการแสดงเดียว : ‘LGBTQ : loves get better with time quietly’
จัดแสดง : 7 มิ.ย. – 8 ก.ค. 2018
โดย : สุดาภรณ์ เตจา <Sudaporn Teja>
ประเภทงาน : จิตรกรรมนามธรรม – ภาพถ่าย – วิดีโอสารคดี
@ Serindia Gallery (เจริญกรุง36)
การเดินทาง : ลง mrt สามย่าน ทางออกวัดหัวลำโพง ต่อวินมอเตอร์ไซค์ หรือ Taxi
bts ตากสิน เดินย้อนมาทางเจริญกรุง
โทร : 02-238-6410 เปิด อังคาร –อาทิตย์ 11.00 – 20.00 น.
กล่าวสำหรับแวดวงศิลปินหญิงในแนวนามธรรมแล้ว นับว่ามีน้อยอย่างยิ่ง รุ่นเก่าๆ ที่ยังแอคทีฟมีผลงาน และได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ ศ.กัญญา เจริญศุภกุล รุ่นต่อมาคือ พิณรี สัณฑ์พิทักษ์ / นิ่ม เครือแสง ส่วนรุ่นที่กำลังสร้างชื่อในระดับสากลและเป็นศิลปินฟูลไทม์ทำงานศิลปะเป็นอาชีพอย่างเดียว คือ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ , จิรัชยา พริบไหว และ สุดาภรณ์ เตจา ศิลปินสาวจากภาคเหนือ ทีมีภาษาจิตรกรรม (ทีแปรงการปาดป้ายของพู่กัน การใช้สี การสร้างพื้นผิวของงาน เป็นต้น )ที่มีลักษณะเฉพาะตัวสูงอีกคนหนึ่ง
สุดาภรณ์ เตจา จบ ปริญญาโทด้านจิตรกรรมจาก คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ โดยมี อ.เกศ ชวนะลิขิกร (ศิลปินจิตรกรรมนามธรรมที่มีชื่อเสียงมากอีกท่านหนึ่ง) เป็นที่ปรึกษา สุดาภรณ์ เริ่มสร้างชื่อ จากการได้รับทุน Artist Residency (ทุนศิลปินในพำนัก มีค่าอุปกรณ์ ค่ากินอยู่ มีที่พักสตูดิโอสร้างงานให้ใช้) จาก Thaillywood หน่วยงานเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย และจากนั้นจึงเปิดตัวแสดงเดี่ยวครั้งแรกที่ Serindia Gallery โดย เชน สุวิกะปกรณ์กุล ผู้บริหารแกลเลอรี เป็นผู้คัดเลือก
การแสดงเดี่ยว ครั้งที่แล้ว ปี 2560 งานของเธอมีเนื้อหาเกี่ยวกับการรำลึกและถวายอาลัย แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งงานมีความเศร้าสร้อยและโหยไห้อย่างยิ่งเช่นเดียวกับหัวใจคนไทยทั้งประเทศ ส่วนงานในครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่ 4 นี้ ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากการสูญเสียเช่นเดียวกัน นั่นคือ การสูญเสียเพื่อนสนิทที่เป็นชายเพศทีสาม เธอจึงขยายขอบเขตของการสูญเสียส่วนบุคคลมาเป็นการเรียกร้องในการเปิดโอกาสให้กับเพศทางเลือก (LGBT)
งานนี้ศิลปินมีการวิจัยข้อมูลอย่างจริงจัง สัมภาษณ์เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีของศิลปินอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ข่าวการฆ่าตัวตายของคู่รักชายรักชายคู่แรกของไทยใน ปี พ.ศ. 2510 / แรงบันดาลใจจากเด็กชายตาบอดที่อยากเป็นหญิง <transwomen > /หรือจาก กฎหมาย มาตรา 1448 – 1458 ที่ไม่อนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ดังนั้นจึงขาดสิทธิในการรับมรดก , การรับรองบุตร , สิทธิในการตัดสินใจเข้ารับการรักษาในเวลาฉุกเฉิน เป็นต้น / กระทั่งแรงบันดาลใจจากศิลปินเพศทางเลือก Marlow Moss ศิลปิน Constructivist / Neo- Plasticism ของอังกฤษทีได้คิดค้นเส้นคู่ <Double Line> และครุ่นคิดถึงความหมายของ ที่ว่าง <Space> ในงานจิตรกรรมนามธรรม แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากเพศชายซึ่งเป็นใหญ่ในสมัยนั้น
นอกจากนี้ สุดาภรณ์ ยังได้สัมภาษณ์และบันทึกเรื่องราวของเพศทางเลือกเป็นวิดีโอ สารคดีที่บอกเล่าแง่มุม อคติต่างๆ ของ LGBT ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเสมอภาค และอยากจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าเนื้อหาทีเป็นแรงบันดาลใจของศิลปินนั้นซับซ้อนและเข้าใจยาก และยังต้องนำมาถ่ายทอดเป็นงานจิตรกรรมนามธรรมอีก จึงถือได้ว่าศิลปินต้องมีความกล้าหาญมากที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ทั้งเนื้อหา เทคนิควิธีการ และ รูปแบบในการนำเสนอสู่สาธารณะชน โดยปราศจากการยึดติดกับความสำเร็จเก่าๆ (งานก่อนหน้านี้ของศิลปินมีผลตอบรับดีพอสมควรทั้งจากนักสะสมและนักวิจารณ์)
สำหรับนิทรรศการนี้ ข้อมูลล้นเหลือก็จริง แต่ถ้าผลงานไม่ส่งผลต่อความรู้สึกสะเทือนใจ งานนั้นๆก็จะกลายเป็นเพียงวัตถุประกอบเรื่องในที่สุด (นั่นคืองานไม่สามารถส่งผลสะเทือนใจในแง่ใดๆ ได้ อ่านแนวคิดยังมีความรู้สึกมากกว่าผลงาน) ผู้เขียนสัมผัสได้ว่างานในครั้งนี้ มีความสะเทือนใจและมีความสัมฤทธิ์ผลสูง มีอะไรที่สัมผัสได้มากกว่าแค่เทคนิคหรือสีสวยๆ ที่ปาดป้ายไปมาด้วยความชำนาญ
ด้านเทคนิคในงานจิตกรรมของสุดาภรณ์ มีการใช้ สีที่มีลักษณะปล่อยให้ไหลซึม แห้งเป็นคราบ ใช้.”เวลา” เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรูปรอย ซึ่งจะส่งผลในแง่ความโหยหาอาลัยคล้ายคราบน้ำตา เส้นดรออิ้งชาร์โคลที่ตวัดอย่างรวดเร็วเหมือนเป็นแกนกระดูกของงานที่ให้สีเกาะยึดไม่กระจายไร้ทิศทาง สีบางส่วนที่เป็นก้อนหนาเหมือนดั่งสะเก็ดแผลที่ยังไม่แห้งสนิท มีความรู้สึกทั้งเจ็บปวดรวดร้าว รัก อาลัย โหยหาอดีต <Nostaglia> มีแง่มุมที่ลึกลับแต่แข็งกร้าวในที เป็นอารมณ์ Abstarct Expressionnism สไตล์ผู้หญิงที่หายากมากๆ ในเมืองไทย
งานเด่นๆ ที่เป็นไฮไลท์ คือ งานชิ้นใหญ่ยักษ์ 2 ชิ้น คือ 1.“Self-actualization I- MTF” (มีการผสม ฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไปในผลงาน ซึ่งเป็นฮอร์โมนทีชายที่อยากเป็นหญิง <Transmen> ใช้ฉีดเข้าร่างตัวเอง อาจไม่มีผลในอิมเมจ ภาพ ทีปรากฏ (สีไม่เปลียน ไม่มีผิวที่แปลกจากเดิม) แต่ส่งผลแน่นอนต่อความรู้สึกผู้ชมว่าจะอันตรายไหมหากจับภาพ หรือ สูดดม ซึ่งอาจเกี่ยวโยงไปถึงอคติแง่ลบต่อเพศที่ 3 เช่นกัน
เช่นเดียวกับภาพแรก แต่ชิ้นที่ 2 “Self-actualization II- FTF” ผสมเจลที่ใช้ในการลดขนาดหน้าอกของเพศหญิงที่อยากเป็นชาย <Transmen> จิตรกรรม 2 ชิ้นนี้ ใช้โทนสีเหลืองเป็นหลัก เหมือนกับแสงอาทิตย์แทนความหวังและโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น เส้นที่พาดผ่านในแนวนอนของ ชิ้นที่ 1 “Self-actualization I- MTF” เหมือนว่าเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงที่เป็นฝ่ายรับ เป็นฝ่ายโอบอุ้ม ส่วน “Self-actualization II- FTF” มีลักษณะคล้ายหนวดแมลง <Moth> หรือ คล้ายดอกไม้ที่กำลังงอกออกมารับแสงแดด แต่ขณะเดียวกันก็มีความเจ็บปวดบางอย่างห่มคลุมทั่วทั้งภาพ
อนึ่ง การตีความภาพของจิตรกรรมร่วมสมัยโดยเฉพาะผลงานแนวนามธรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องตีความหมายเหมือนศิลปินทุกอย่าง ศิลปินนั้นมีความชัดเจนในการทำงานระดับหนึ่ง แต่ผู้ดูสามารถเสพย์ ชื่นชมและตีความได้อย่างอิสระ สามารถเลือกชอบ เลือกดู เลือกให้เวลากับบางชิ้น มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ควรเปิดใจดูเป็นอย่างแรก ลดอคติการคิดว่าดูไม่รู้เรื่องและเดินจากไปเงียบๆ กลับมาให้เวลาดูแบบพินิจพิเคราะห์ สัมผัสความงามของทัศนธาตุ สี เส้น รูปร่าง รูปทรง ฯลฯ ที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาให้ได้สักครั้งหนึ่ง แล้วค่อยไต่ระดับลึกไปถึงเนื้อหาความคิดที่ศิลปินทิ้งไว้ในภาพนั้นๆ
ความงามของศิลปะแนวนามธรรม คือ ความอิสระของศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานที่แทบไร้ข้อจำกัด ส่วนผู้ชม คือ ความอิสระในการตีความ เหมือนเรามองก้อนเมฆ – แสงอาทิตย์ยามเช้า – เย็น หรือ เสียงนกร้อง โดยเราไม่ตั้งคำถามว่า มันหมายถึงอะไรอย่างชัดเจน และลักษณะที่สำคัญทีสุดของงานศิลปะร่วมสมัย คือ ความเฉพาะตัวของผลงาน ความเข้มข้นของพลังความรู้สึก ความมีตัวตนมีเอกลักษณ์ที่ไม่ติดอิทธิพลของศิลปินรุ่นพี่ หรือ ศิลปินที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ศิลป์ร่วมสมัยก่อนหน้า
ผลงานที่น่าติดตามชิ้นต่อมาคือผลงานชื่อ “Moth” ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตนางโชว์คาบาเรต์ ที่ได้เฉิดฉายมีชีวิตชีวาได้รับการยอมรับในช่วงกลางคืนดังผีเสื้อกลางคืนตัวโตที่โผผินออกมาบินเล่นแสงไฟนวล งานชิ้นนี้ ศิลปินใช้เฟรมรูปร่างวงกลมต่างจากเฟรมสีเหลี่ยมทั่วไป อาจดูคล้ายรูปทรงของไข่ ,หม่อนไหม , รังดักแด้ ชิ้นนี้มีการใช้ซากผีเสื้อกลางคืนติดเข้าไปในผลงานด้วย นับเป็นชิ้นแรกที่ใช้วัตถุจริงใส่ในผลงาน
นอกจากผลงานเด่นๆ ข้างต้น ยังมีผลงานอีกหลายๆ ชิ้นที่มีความน่าสนใจในตัวเองรอให้ทุกท่านไปค้นหา สามารถโทรสอบถามแกลเลอรีก่อนได้หากท่านอยากพูดคุยกับศิลปินโดยตรง (ศิลปินเข้าแกลเลอรีบางวัน) ซักถามบางแง่มุมที่ท่านสงสัยได้ตามสะดวก
อยากให้ทุกท่านมาสนับสนุนให้กำลังใจศิลปินนามธรรมหญิงจากภาคเหนือ มารอติดตามกันว่าเธอจะเติบโตไปได้อีกไกลแค่ไหน (ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าเธอไปได้อีกไกล แว่ว ๆ มาว่าปีหน้ามีแสดงเดี่ยวที่ต่างประเทศ) เป็นอีกนิทรรศการในเดือน มิถุนายน ที่ควรต้องไปชมอย่างยิ่งครับ Must see !!!
เครดิตภาพ
Serindia Gallery
เพจเฟสบุ๊ค Serious Art Theory ทฤษฎีศิลป์จริงจัง
เชิงอรรถ
-LGBT กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ] ในภาษาอังกฤษย่อว่า LGBT (หรือ GLBT) ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวแรกของคำว่า lesbian (เลสเบี้ยน) , gay (เกย์) , bisexual (ไบเซ็กชวล) , และ transgender/transsexual (คนข้ามเพศ) มีการใช้คำว่า LGBT มาตั้งแต่ยุค 90 ซึ่งดัดแปลงมาจาก “LGB” ที่ใช้ในการแทนวลี “สังคมเกย์” (Gay community) ที่ในหลาย ๆ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่รู้สึกว่าอธิบายกลุ่มคนพวกนี้ได้อย่างถูกต้องตามที่กล่าว ในการใช้สมัยใหม่ LGBT มีความหมายถึงความหลากหลายของเพศวิถี (Sexuality) และลักษณะการแสดงเพศทางสังคม และในบางครั้งอาจหมายถึงกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มรักต่างเพศ แทนการระบุว่าเป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล หรือ คนข้ามเพศ
– Abstract Expressionism ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์นามธรรม เรียกอีกชื่อว่า The New York School เกิดขึ้นในอเมริกาช่วง 1940-1950 จากศิลปินยุโรปที่อพยพหนีภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปอยู่ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นพัฒนารูปแบบบางประการจากลัทธิคิวบิสม์ และ เซอเรียลลิสม์ ผสมกับทัศนะส่วนตัวอันเข้มข้นของศิลปิน ศิลปะในแนวทางนี้ จะมีขนาดใหญ่โต มีฝีแปรงสีสันที่สดใส มีการแสดงออกอย่างฉับพลัน อิสระรุนแรง ไม่มีการอ้างอิงรูปหรือวัตถุที่เหมือนจริง <Non-Representative>ใช้อารมณ์ภายในเป็นหลัก สร้างสรรค์ในเวลาไม่นานนัก ศิลปินทีมีชื่อเสียงในแนวทางนี้ได้แก่ Jakson Pollock , Willem De Kooning , Franz Kline , Mark Rothko , Hans Hofmann เป็นต้น
อ้างอิงจาก หนังสือ กว่าจะโมเดิร์น ประวัติย่อของศิลปะก่อนยุคสมองกลสารสนเทศ โดย ดร.เถิง พัฒโนภาษ หน้า 111, 156
หนังสือ โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 โดย รศ.จิระพัฒน์ พิตรปรีชา หน้า 227 – 228
–Constructivism เป็นแขนงหนึ่งของศิลปะซึ่งมีลักษณะแข็งคมชัด มีรูปร่างที่คิดคำนวณมาอย่างรอบคอบเป็นเรขาคณิต เริ่มสร้างขึ้นโดยศิลปินชาวรัสเซีย Vladimir Tatlin ปี ค.ศ.1915 มีนัยสื่อถึงโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่มีเครื่องจักรเป็นส่วนประกอบสำคัญ
อ้างอิงจาก หนังสือ กว่าจะโมเดิร์น ประวัติย่อของศิลปะก่อนยุคสมองกลสารสนเทศ โดย ดร.เถกิง พัฒโนภาษ หน้า 153