เมื่อยุคสุดท้ายของมนุษยชาติมาถึงเราจึงต้องมาหาคำตอบในนิทรรศการ Genzman โดยวสันต์ สิทธิเขตต์ บทความโดย กฤษณะ ชัยกิจวัฒนะ

นิทรรศการแสดงเดียว Genzman.
เปิดงาน 12 มิ.ย. 2561
โดย วสันต์ สิทธิเขตต์
ประเภทงาน : ประติมากรรมบรอนซ์เทคนิคผสม (จิตรกรรมบนประติมากรรม)

@rebel art space สุขุมวิท 67
การเดินทาง :  ลง bts พระโขนง ทางออก 1
โทร : 064 – 790 – 9436 ,  083 – 841-  8582
Email –  rebelartspace@gmil.com

Genzman มีที่มามาจาก ” Gen z ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายของมนุษยชาติที่อยู่ได้ด้วยอายตนะ 5

คือ หิว เ-ียน กระหาย ในโลกโกลาหล จนวันสิ้นลมหายใจ” (จากสูจิบัตร นิทรรศการ)

ผลงานเดี่ยว ชุด Nogod-Nowar เป็นประติมากรรมบรอนซ์ รูปใบหน้าของวสันต์ทีมีรูปร่างประหลาดผิดเพี้ยน มีลำตัวเป็นเท้าหนาหนัก ใบหูข้างซ้ายมีอวัยวะเพศชายงอกออกมา ด้านบนศรีษะโดนตัดออกจนเรียบ เหมือนไร้สมองให้ขบคิด ส่วนด้านหลังก็มีมือที่ชี้นิ้วเหมือนปืนเกาะติดอยู่ เปิดโอกาสให้ผู้ชมใคร่ครวญ และตีความอย่างอิสระ (นัยที่ผมตีความ คือ โลกทีผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว จากมลภาวะ และ การตัดต่อพันธุวิศวะกรรมจนสายพันธ์มนุษย์กลายพันธ์จนเป็นมนุษย์พันธุ์สุดท้ายในโลก)

วัสดุที่ใช้คือ บรอนซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุที่เป็นขนบความงามของประติมากรรมในยุคโมเดิร์น(สมัยใหม่) ที่มีนัยของความสูงค่า ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งขัดแย้งกับอุดมคติของโลกปัจจุบัน นั่นคือ ยุค โพสต์ โมเดิร์น (หลังสมัยใหม่) ซึ่งมีคตินิยมทำลายล้าง และตั้งคำถามกับคตินิยม ยุคโมเดิร์นทั้งหมด

การใช้สีทาทับ ราดเคลือบ มีนัยของการทำลายล้างความเป็นบรอนซ์จนไม่เหลือลักษณะความเป็นบรอนซ์อีกต่อไป

สิ่งที่น่าสนใจ และเป็นคุณลักษณะสำคัญอีกอย่างของศิลปะในยุค โพสต์ โมเดิร์น คือ การเล่นแง่กับนิยามความหมายที่ชัดเจน ของประเภทงานนั้นๆ เช่นงานประติมากรรมของวสันต์ เราจะเรียกว่าเป็นประติมากรรม. เพราะใช้มวลปริมาตร กินพื้นที่ในอากาศ หรือ จิตรกรรม 3 มิติ เพราะใช้สีสรรมีผลต่อการรับรู้ที่เด่นกว่ามวล หรือจะเป็น งานจัดวางกับพื้นที่ (Installation art) ดี? เพราะไม่ได้จัดวางโดดๆ เป็นชิ้นเดียว แต่ละชิ้นที่วางเป็นกลุ่มก้อน มีผลต่อการรับรู้ และนัยความหมาย ที่ เกี่ยวเนื่ิองกับทุกๆ ชิ้นในห้องแสดง ฯลฯ

ความคลุมเครือของยุคสมัย อาทิ คนดี คนเลวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน และยากจะตัดสินผ่านสื่อโซเชียล  ปัญหาความชัดเจนในเรื่องเพศที่สับสนอลหม่าน (ชายในร่างหญิง หญิงในร่างชาย ทอมที่รักทอม ทอมที่รักดี้ ดี้ที่รักดี้ กะเทยที่รักทอม ฯลฯ)

จริยธรรม คุณธรรมแห่งยุคสมัยเบลอเซอเรียล ปรากฎเป็นก้อนที่จับต้องได้ในงานโซโล่ครั้งนี้ ของวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินโซเชียลลิสม์ และ แอ็คติวิสม์ผู้ยืนหยัดทิ่มแทงอธรรมดั่งไฟประลัยกัลป์ในวันโลกแตก

Must See เอาไป 5 กะโหลกครับ เชิญชมกันได้ไม่เสียเวลาแน่นอน แนะนำว่า ไปชมด้วยตาตัวเองจะดีที่สุด เพราะผลของสีสันจัดจ้านที่เคลือบทาทับก้อนบรอนซ์ 3 มิติ มวลหนาหนักตัดกับผนัง พื้นสีขาวโล่งๆจะส่งผลกับการรับรู้ของสายตา และใจอย่างสูง ภาษาทางการเรียนศิลปะ เรียกว่า รูปทรง และ สี “ทำงาน”คือกระตุ้นให้เกิดประสบการณ์การรับรู้ที่แปลกใหม่พิเศษ เป็นภาวะที่พบไม่ได้ในงานอย่างอื่นนอกจากงานศิลปะทีผ่านกระบวนการที่เคี่ยวกรำโดยศิลปินเท่านั้น

เชิงอรรถ
โมเดิร์น
( Modern Art ) สมัยใหม่ เป็นคำที่ใช้เรียกความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง ศตวรรษที่ 19 เมื่อศิลปินรุ่นใหม่ในกรุงปารีสรวมตัวกันเพื่อนำเสนอศิลปะแนวใหม่ โดยในปี 1870 มีการก่อตั้งสมาคมศิลปินนิรนาม อันถือเป็นจุดกำเนิดของศิลปิน อิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism)
(จาก A Very Short Introduction โดย David Cottington แปลโดย จรัญญา เตรียมอนุรักษ์ ฉ.พิมพ์ครั้งแรก 2554 หน้า 16

โพสต์ โมเดิร์น ( Post – Modern Art ) หลังสมัยใหม่ “ เป็นที่เข้าใจกันว่าคำว่า โพสต์โมเดิร์นนิสม์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในงานเขียนชื่อ “อาร์คิเทคเจอร์ แอนด์ เดอะ สปิริต ออฟ แมน” (Architecture and the Spirit of Man) ของ โจเซ็พ ฮัดนอท (Joseph Hudnot) ในปี 1949 ต่อมาอีก 20 ปีให้หลัง ชาร์ลส์ เจนส์ (Charles Jencks) ช่วยทำให้แพร่หลายออกไป จนกระทั่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 นักวิจารณ์ศิลปะเริ่มใช้คำๆนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ ในตอนนั้นคำว่า โพสต์โมเดิร์น ยังคลุมเครืออยู่มาก แต่โดยมากแล้วบ่งบอกถึงการต่อต้านลัทธิสมัยใหม่ (โมเดิร์นนิสม์)”
( รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th  กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 )

เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ ( Expressionism ) “ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ .ในความหมายกว้างๆ คำๆ นี้ใช้อธิบายให้เห็นถึงงานศิลปะ ซึ่งถืออารมณ์เป็นสิ่งสำคัญเหนือกว่าความคิด งานศิลปะแนวนี้ศิลปินจึงมักจะเลือกใช้เนื้อหาที่มีความเร้าใจ สร้างอารมณ์อันเข้มข้นให้กับผู้ชม เช่น การต่อสู้ ความโกรธ ความทุกข์ทรมาน ความตาย และการแสดงออกมักจะเน้นไปที่การแสดงออกด้วยการใช้สี ในลักษณะของเส้นซึ่งเกิดจากการแสดงออกด้วยอารมณ์ฉับพลันทันที “ จาก หน้า 132-133 หนังสือ โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 ของ รศ.จิระพัฒน์ พิตรปรีชา (ตัวอย่าง ศิลปินไทยทีทำงานแนวนี้ เช่น ทวี รัชนีกร(ศิลปินแห่งชาติ) , สุเชาว์ ศิษย์คเณศ , จ่าง แซ่ตั้ง , ตะวัน วัตุยา , โยทะกา จุลโลบล , กฤช จันทเนตร , บู๊ซือ อาจอ เป็นต้น – ผู้เขียนคอลัมน์)