Heri dono เกิดปี 1960 ที่จาการ์ต้า อินโดนีเซีย เขาเป็นศิลปินที่ผ่าเข้าไปสู่ศูนย์กลางของวงการศิลปะร่วมสมัยของโลกมาตั้งแต่ยุค 80 – 90 และเป็นหนึ่งในสมาชิกของขบวนการศิลปินแห่ง Yogyakarta ที่มีชื่อเสียงในการทำงานศิลปะสะท้อน วิพากษ์ สังคมการเมืองของอินโดนีเซียอย่างถึงพริกถึงขิง Dono เอารูปแบบความเป็นวัฒนธรรมและศิลปะพื้นถิ่นของอินโดนีเซียมาทำงานศิลปะร่วมสมัย ความสอดคล้องกลมกลืนในงานของเขาคือการสร้างบทสนทนาของตัวเองระหว่างศิลปะในขนบจารีตดั้งเดิมของอินโดนีเซียกับวัฒนธรรมป้อปร่วมสมัย เช่นการ์ตูนอเมริกัน มันปนเปมากับเรื่องราวพิลึกพิลั่นที่ถูกนำมาเล่าอีกครั้งเพื่อเสียดสีความวุ่นวายของโลกการเมืองในอินโดนีเซีย สภาวะยุคหลังอาณานิคมของหมู่เกาะนี้ หรือวัฒนธรรมโลกาภิวัฒน์ที่ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีเชื่อมโลกไปสู่อารมณ์ความรู้สึกเดียวกัน ผลงานที่ผ่านมาผสมผสานความหลากหลาย material เช่นการใช้หุ่นที่เล่นกับเงา ( คล้ายหนังตะลุงบ้านเรา ) วัสดุสำเร็จรูป ไม้ เหล็ก หรือสื่อสารผ่านทั้งงานเพ้นต์ติ้ง ประติมากรรม เพอร์ฟอร์มมานซ์ และอิลสตอลเลชั่น

ฟิกเกอร์เรทีฟของ dono มันให้ความซับซ้อนระหว่างสังคม วัฒนธรรม การเมืองของอินโดนีเซียผสมผสานเข้าด้วยกันด้วยมุมมองที่เป็นสากล เพราะว่าเขาโตมาในช่วงที่อินโดนีเซียมีปัญหาทางการเมืองที่วุ่นวาย งานของเขาจึงมีความรุนแรงและความสับสน เช่นกันกับมุมมองที่มีต่อวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งปะทะรุนแรงกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของอินโดนีเซีย ในผลงานชุดที่เกี่ยวข้องกับฟิกเกอร์เรทีฟของการ์ตูน เขาบอกไว้ว่า “คอนเซปพื้นฐานในงานของผมคือ การเกิดขึ้นพร้อมๆกันระหว่างความเป็นโลกาภิวัฒน์ของการ์ตูนปัจจุบันกับความเชื่อทางจิตวิญญาณดั้งเดิมในขนบของอินโดนีเซีย ในทางปฏิบัติ ผมได้ผสมผสานความเชื่อโบราณที่ว่าจิตวิญญาณมีอยู่ในทุกสรรพสิ่งกับอะนิเมชั่นเข้าด้วยกัน เหมือนๆกับว่าทุกสิ่งมีจิตวิญญาณอยู่ในนั้น จากจุดนี้ผมจึงได้สร้างบทวิจารณ์ทางสังคมวัฒนธรรม-การเมืองด้วยอารมณ์ขัน”

ในอินโดนีเซียนั้นไอคอนต่างๆของป้อปคัลเจอร์ในโลกสากลและไอคอนทางจิตวิญญาณดั้งเดิมของพื้นถิ่นมีพลวัตรอยู่ในวิถีชีวิต เช่น มาริลีน มอนโรสามารถปรากฏอยู่ในแพคเกจจิ้งของยาสมุนไพรพื้นเมือง Dono จะใช้ไอคอนเหล่านี้ด้วยการเล่าเรื่องใหม่ให้กับมัน ผ่านความแฟนตาซีที่น่าตกตะลึง และสวยงามพอๆกับน่าหัวเราะ ผลงานหลายชิ้นอ้างอิงถึงการทำละครหุ่นเงา และใช้หุ่นละครนี้ไปกับการดรออิ้ง เพ้นต์ติ้งหรือกระทั่งสร้างหุ่นขึ้นมาจริงๆ เพื่อเดินหน้าไปสู่โลกที่มืดหม่นของประสบการณ์มนุษย์ dono มักจะพูดว่า ศิลปะไม่ใช่แค่การค้นหาความงามหรือสุนทรียะ แต่ต้องทำให้ผู้ชมตื่นตัวหรือตื่นตระหนก ศิลปินต้องมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่จะใส่เข้าไปในบทสนทนาเพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงความไม่ยุติธรรม

ภาพวาดคาแรคเตอร์ซุปเปอร์ฮีโร่ที่ดูตกต่ำและไร้สาระ รูปปั้นผสมระหว่างเหล่าผู้นำประเทศที่เป็นเผด็จการกับไดโนเสาร์ ภาพวาดทหารกับอาวุธที่นิยมความรุนแรงจากสงครามและบ้าอำนาจซึ่งพร้อมกดขี่ประชาชน ภาพสัตว์ในอุดมคติที่ปนเปมากับความแปลกประหลาดที่พิกลพิการ ภาพการรุกล้ำของจักรวรรดิที่ล่าเมืองขึ้นด้วยทั้งกำลังทางทหารในอดีตหรือแม้แต่การใช้ข้อมูลข่าวสารครอบงำในยุคนี้ นอกจากนี้นิยายปรัมปราโบร่ำโบราณ ตำนานม้าโทระจันแห่งกรุงทรอยก็ถูกนำพูดใหม่ในรูปของการแดกดันสังคม การทำลายสิ่งแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่ตกเป็นทาสเทคโนโลยี เหล่านี้คือความอึกทึกครึกโครมที่ Dono โยนเข้าใส่คนดูอย่างไม่ปรานีปรานอม โลกที่หม่นมืดเหมือนจะอบอวลก้องดังด้วยเสียงโหยหวนที่น่าหัวเราะซึ่งพร้อมจะลุกขึ้นต่อสู้ด้วยลีลากวนประสาท บนความล่มสลายของวัฒนธรรมหนึ่งซึ่งได้กลายพันธ์ไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง คนที่อายุขนาดเขาย่อมมองเห็นความเชื่อมโยงอันอลหม่านเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Dono แสดงพลังทางอารมณ์ผ่านรูปทรงที่ปะทะผู้ชมได้อย่างสูงกลับไม่ยิ่งหย่อนภาษาทางศิลปะที่มหัศจรรย์ในการสร้างรูปทรงเหล่านั้น มันยังคงความงามในแบบที่ปรากฏอัตลักษณ์ของตัวตนอย่างชัดเจน จักรวาลของ Dono จึงโดดเด่นเห็นชัดว่ามันประกอบสร้างจากอะไรบ้าง และนี่คือสิ่งที่ชวนติดตามอย่างยิ่ง

Heri Dono จะมาคุยให้ฟังถึงงานของเขาที่ห้องออร์ดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันพุธที่ 31 มกราคม เวลา 14.00 น. ครับผม เชิญทุกท่านมาฟังด้วยความรื่นรมย์ บางทีอาจทำให้นึกถึงสังคมวัฒนธรรมและการเมืองบ้านเราบ้างก็ได้