เนื่องจากทางผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทความของคุณนราซึ่งเขียนใน manager online เมื่อสิปปีที่แล้ว และดูเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจผลงานของศิลปินไทยในตำนานอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์จึงขออนุญาตนำบทความดังกล่าวมานำเสนอให้คุณผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวของความรักอันยิ่งใหญ่ของศิลปินในนำตำนานท่านนี้

ชื่อบทความชิ้นนี้ ผมเลือกหยิบมาจากข้อความตอนหนึ่งในสารคดีเรื่อง “เฟื้อ หริพิทักษ์” โดย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ (เขียนเมื่อปี พ.ศ. 2502 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “เถ้าอารมณ์”) อันเป็นผลงานที่ “ครูนักเขียนเล่าถึงชีวิตของครูช่างวาด” ได้อย่างยิ่งใหญ่ งดงาม ทรงพลัง เป็นอมตะ

และ – – บางบรรทัดก็แอบขโมยน้ำตาผู้อ่านไปหลายหยด

ผมขออนุญาตเล่าแบบเคี้ยวและกลืนตัวหนังสือของพญาอินทรีเข้าไปในความคิด แล้วไตร่ตรองเขียนขึ้นใหม่ ด้วยท่วงทีของการแสดงความคารวะและรับอิทธิพลแรงบันดาลใจ

ผนวกผสมกับบทความ ข้อเขียน อีกจำนวนหนึ่งที่ผมสามารถค้นและอ่านเจอ เพื่อประกอบรวมเป็นภาพต่ออันสมบูรณ์

เรื่องราวชีวิตรักของอาจารย์เฟื้อนั้นมีอยู่ว่า
ครั้งนั้นเมื่อเนิ่นนานมาแล้ว…
ก่อนหน้าที่เฟื้อหนุ่มจะฝากตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีไม่นานนัก

วาระนั้น เฟื้อหนุ่มเพิ่งหันหลังให้กับการศึกษาตามระบบที่โรงเรียนเพาะช่าง เปลี่ยนย้ายวิธีมาฝึกฝนแสวงหาความรู้ด้วยตนเองตามลำพัง ควบคู่กับการไปเยี่ยมเยียนขอความรู้คำแนะนำจากครู 2 ท่าน คือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต และ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร

ที่บ้านของท่านอิทธิเทพสรรค์นี้เอง ชายหนุ่มมีโอกาสได้พบและรู้จักกับ “เธอ” (หลานสาวของท่านอิทธิเทพสรรค์) เป็นครั้งแรก

ประติมากรรมภาพเหมือน ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร โดยอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์”

สาวสวยผู้นี้สูงด้วยชาติตระกูลและฐานะ เป็นบุตรสาวของหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส และหม่อมเชื่อม (พี่สาวของนายควง อภัยวงศ์)

เธอเกิดและเติบโตใช้ชีวิตหรูหราเพียบพร้อมแบบผู้ดีชนชั้นสูงในต่างแดนมาตลอด

จนกระทั่งเมื่อบิดาเสียชีวิต หญิงสาวพร้อมครอบครัว จึงเดินทางกลับเมืองไทย และศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอี

ด้วยใจรักในศิลปะ ทั้งเธอและเขาในยามแรกรู้จัก จึงพากันมาฝากตัวศึกษาวิชาศิลปะกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในช่วงเวลาไล่เลี่ยใกล้เคียงถัดมาไม่นาน

ครูใหญ่นักเขียนแห่งสวนทูนอิน พรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“…ในวงล้อมของศิลปะและแรงดลของธรรมชาติ เปรียบเสมือนลมกระพือความรักแท้ให้โหมจัด หล่อนมาสู่ห้องทำงานของเขา มาสู่ชีวิตของเขา หล่อนนั่งเป็นแบบให้เขา ทดลองความชำนิชำนาญในสิ่งที่เขากำลังค้นคว้า และนอกไปกว่าที่หล่อนคือเขา และเขาจะขาดหล่อนเสียมิได้ น้ำใจอันดีงามยังมีผลส่งให้เขาได้บรรลุผลในขั้นสูงต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หล่อนให้ทั้งคำแนะนำแนวคิดและสนับสนุนเขาทุกทางเท่าที่จะทำได้”

แล้วสายสัมพันธ์นั้นก็งอกงาม กลายเป็น “…ความรักร้อนกว่าไฟ-เย็นกว่าน้ำแข็ง-อบอุ่นกว่าแสดงแดดยามเช้า-และบ้างก็ว่าความรักติดปีกบินได้…”

ในบทสัมภาษณ์ “วิญญาณขบถของชายชื่อ เฟื้อ หริพิทักษ์” โดยวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เก็บความถ้อยคำจากการบอกเล่าของอาจารย์เฟื้อถึง “ยามรัก” ไว้ว่า

“ตอนนั้นผมเช่าห้องแถวอยู่ในซอยโรงเลี้ยงเด็ก บ้านเค้าอยู่ไม่ไกลคือยศเส ตรงที่เป็นโรงพยาบาลหัวเฉียวในปัจจุบันก็ที่ของเค้าทั้งนั้น วันไหนที่เราไม่เจอกัน เราจะนัดกันที่ซอยข้างโรงพยาบาลโรคปอด แถวนั้นเป็นบ้านของฝรั่ง ลึกเข้าไปเป็นสุสานมุสลิม

“…เรามาเจอกันแถวนั้น ไม่ได้เห็นหน้ากันมันจะตาย”

ล่วงเลยต่อมา “ความรักติดปีกบินได้” ก็ปกปิดเก็บงำซ่อนเร้นไว้ไม่สนิท รักอันเคยเป็นความลับนั้นล่วงรู้ไปถึงมารดาฝ่ายหญิง

“หม่อมเชื่อมแม่เขารู้ก็หาวิธีไม่ให้พบกัน แต่เขาก็มาหาผม จนแม่เขาจับขังไม่ให้กินอะไรอยู่ชั้นบน…บ้านเขาเป็นคฤหาสน์ใหญ่สูงสองชั้นตั้งอยู่กลางสนามในที่ดินซึ่งเป็นโรงพยาบาลหัวเฉียวทุกวันนี้…

“หม่อมเชื่อมแกรักลูกก็แกล้งไม่ให้ลูกมาพบผม ไปบ๊งเบ๊งกับอาจารย์ศิลป์ อาจารย์ศิลป์เสียใจเป็นลมและไม่สบายใจ…” (อ้างจากบทความ “เสน่หาอาลัยของเฟื้อ หริพิทักษ์ ปูชนียศิลปิน” โดยบุญยก ตามไท)

ขยายความเพิ่มเติม เธอถูกกักขังจำกัดบริเวณอยู่เฉพาะชั้นบนของคฤหาสน์หรูหราอย่างเดียวดาย รอบๆ มีบ่าวไพร่คอยยืนยามเฝ้าระแวดระวังรัดกุม เพื่อกีดกันมิให้คู่รักหนุ่มสาวพานพบกัน

หนังสือ “สุมาลัยปรโลก” ที่ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ร่ายรจนาชีวิตของอาจารย์เฟื้อ ออกมาเป็นกวีนิพนธ์ สะท้อนระบายความรู้สึกรวดร้าวในช่วงนี้ไว้ว่า

พรากน้องสับเสน่ห์สิ้น สยดสยอง
ยุยั่วแตกแยกสอง เปล่าเอื้อ
นางแก้วเพชรเรืองรอง รุ้งร่วง ดังฤา
คุกเข่า ผวาหาเฟื้อ ยืดเยื้อเยื่อใย

จนกระทั่งวันหนึ่ง “เยื่อใย” ที่ไม่มีสิ่งใดสามารถขวางกั้นพันธนาการไว้ได้ ก็ทำให้หญิงสาวตัดสินใจ-อย่างเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด-หนีออกจากบ้าน โดยใช้ผ้าปูที่นอนมาฉีกทำเป็นเชือก ปีนลงทางหน้าต่าง

“แต่ความรักมันร้อนแรง ไม่ได้หรอกผู้หญิงคนนี้เป็นคนจริง นิสัยรุนแรง ทีนี้เขาจะออกให้ได้ ผมไม่ได้บอกให้เขาออก ผมยังย้ำว่าผมไม่มีอะไร แต่เขาก็จะออก เพราะทรมานใจมาก” (เสน่หาอาลัยของเฟื้อ หริพิทักษ์ ปูชนียศิลปิน)

ผู้ให้กำเนิด “แจ้ง ใบตองและผองเพื่อน” และอีกนับร้อยตัวละครบนหน้ากระดาษ บันทึกถึงการต่อสู้เพื่ออิสรภาพแห่งรักครั้งนี้ว่า

“หล่อน-ผู้เราจะออกนามไม่ได้-วางขนบประเพณีไว้ที่ขอบหน้าต่างแล้วปีนหน้าต่างหนีลงมาอย่างอาจหาญ ผลที่ได้รับคือกระดูกส้นเท้าแตกละเอียด พิการมาจนบัดนี้

“ความรักเท่านั้นที่ไม่บุบสลาย!”

หล่อน-ผู้เราจะออกนามไม่ได้-ในเวลาต่อมา จึงค่อยได้รับการเปิดเผยว่า คือ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร

เหตุการณ์ถัดจากนั้น

ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร ถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

จากบทสัมภาษณ์อาจารย์เฟื้อ 2 ชิ้นต่างวาระ แต่ใจความแนบเนื่องต่อกันดังนี้

“ผมไปเยี่ยมดูแลทุกวัน…”

“…ตอนนั้นแม่เค้าต้องการให้ถนอมศักดิ์แต่งงานกับชายหนุ่มตระกูลสูงคนหนึ่ง วันที่เขาไปเยี่ยมถนอมศักดิ์ ผมก็ไป แต่ผมไม่กล้าเข้าไปในห้องเธอ เค้าจะพูดอะไรกันผมไม่รู้…”

ณ สถานการณ์น่ากระอักกระอ่วนเช่นนั้น อาจารย์เฟื้อถอยตนเองออกมารออยู่นอกห้องผู้ป่วย ด้วยความถ่อมเจียมในฐานะ และอาจจะด้วยอารมณ์เศร้าหม่น กระวนกระวาย วิตกกังวล หลากหลายปนเปในใจจนยากจำแนก

สิ่งที่ปรากฏต่อมา ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ไม่ยอมคุยกับชายคนนั้น-ผู้ที่มารดาเลือกแล้วว่าเหมาะสมและอยากให้แต่งงานกับลูกสาว

ทั้งๆ ที่ยังบาดเจ็บเดินเหินไม่ได้ “…ถนอมศักดิ์ก็คลานออกมาหาผมข้างนอก ผมบอกว่าไปแต่งงานกับหนุ่มคนนั้นเถิด ผมไม่มีอะไร ผมไม่ดึงเค้าไว้หรอก…”

หากใช้เงินเป็นเกณฑ์ชี้วัด “รักต้องห้าม” ระหว่างศิลปินหนุ่มผู้ยากไร้กับหญิงสาวสูงศักดิ์ ควรจะจบลงเอยด้วยความไม่สมหวังตรงนี้- – ตรงที่มีอุปสรรคหนักหนาสาหัส พรากคู่รักทั้งสอง ให้มีชีวิตเบนไกลห่างออกจากกันไปคนละทางเป็นเส้นขนาน และไม่หวนย้อนคืนมาบรรจบพบเจอกันอีก

เผอิญนิยายรักเรื่องนี้ เป็นเรื่องของใจสองใจที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าเงินตรา

เรื่องจึงลงเอยอีกแบบ

ขอเชื้อเชิญตัวหนังสือของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผ่านสู่สายตาผู้อ่านอีกสักบางบรรทัด

“คนเรามักชอบพูดด้วยอารมณ์ขบขันว่า-เมื่อความจนเข้าทางประตู ความรักก็เผ่นแผลวออกไปทางหน้าต่าง-ขอแสดงความเสียใจต่อเจ้าของคำพูดนี้ ที่บ้านซอมมอซ่อของเฟื้อไม่มีหน้าต่างบานนั้น!”

ขออนุญาตและถือวิสาสะ เขียนถึง-ฉากจบที่ยังไม่จบ-ของบทความชิ้นนี้ โดยคงเหตุการณ์ไว้ตามความเป็นจริง แต่ปรุงแต่งแทรกเสริมเติมรายละเอียดเกี่ยวกับบรรยากาศห้อมล้อม และสีสันของอากาศ ด้วยความซื่อสัตย์ต่อจินตนาการส่วนตัวของผมเอง

…คล้อยหลังจากเหตุการณ์ “ตัดใจ” และไม่พยายามเหนี่ยวรั้งความรักอันยากจะลุล่วงสมปรารถนาที่โรงพยาบาลแล้ว

นับจากนั้น ชายหนุ่มก็ดำรงอยู่แบบไม่ชำเลืองแลความหลัง ไม่เอื้อมมองถึงอนาคต แต่เดินหน้าไปกับปัจจุบัน และทุ่มทำงานศิลปะอันเป็นเป้าหมายปลายทางสูงสุดในชีวิตที่เหลืออยู่

รวมทั้งยาย – – บุคคลผู้เป็นความผูกพันล้ำลึกเพียงหนึ่งเดียว

ส่วนบาดแผลร้าวลึกในใจ เป็นเรื่องที่ต้องฝากความหวังไว้ว่า เวลาจะช่วยเยียวยาสมานแผลให้อาการทุเลาลงบ้าง

นั้นหมายถึงว่า เป็นกรณีที่เวลาจะสามารถช่วยรักษาแผลใจได้จริง

เศร้าและซมสืบเนื่อง ผ่านวันและคืนอันยืดเยื้อยาวนานด้วยทุกข์โศกไม่รู้จบ

วันนั้น ฟ้าคำรณคำรามเหมือนอยู่ในอารมณ์เกรี้ยวกราด ทิ้งโปรยเม็ดฝนกระหน่ำลงมาหนาหนัก แดดล้าระทมเกินกว่าจะโชนฉายแสงลอดผ่านเมฆทึบทึม ชายหนุ่มนั่งเยือกสะท้านมองม่านฝนนอกบานหน้าต่าง

สำหรับบางคนในบางวัน ฝนตกหนักทั้งเบื้องนอกและตกหนักกว่านั้นที่ภายในใจ

ขณะหนึ่ง ชายหนุ่มได้ยินเสียงแว่วปนมากับสำเนียงมโหรีแห่งเมฆฝนฟ้าดิน เป็นเสียงกระทบคล้ายใครกำลังเคาะประตู

แรกเริ่มเขาบอกกับตัวเองว่า คงหูแว่วไปเอง แต่สักพักเสียงนั้นก็ยังปรากฏอยู่เป็นระยะๆ ตอกย้ำให้รู้ว่า เป็นเสียงที่ดังมาจากโลกแห่งความจริง มิใช่ความฝัน

ชายหนุ่มเดินไปเอื้อมมือเปิดประตู ในใจเต้นไม่เป็นส่ำ แอบภาวนาให้เบื้องนอก เจาะจงแน่ชัดเป็นใครบางคน

มือนั้นสั่นเล็กน้อย ขณะค่อยๆ เอื้อมเปิดแง้มบานประตูออกทีละนิด จนกระทั่งเห็นภาพถนัดเต็มตา

ณ เบื้องหน้า หญิงสาวผู้เป็นความรักของเขา ยืนถือกระเป๋าบรรจุเสื้อผ้าพะรุงพะรังในสภาพชุ่มโชกทั้งตัว

มองใกล้เข้าไปในจินตนาการของผม ภาพหญิงสาวนั้นมีหยาดน้ำตาปีติยินดีแทรกปนมาในรอยยิ้มเปียกฝน

 

ขอบคุณบทความจากคุณนรา
ขอบคุณ Manager Online