“สรรพากรสาส์น” วารสารความรู้เกี่ยวกับภาษีอากร ได้ให้แง่คิด ต่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ไว้ว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตหรือเกือบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราเลย ก็ว่าได้ เพียงแต่เราอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดหรือไม่รู้จักกับทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแท้จริง

พูดง่ายๆ คือ หลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ยุ่งยากสลับซับซ้อน เข้าใจยาก จึงทำให้เมินเฉยไม่อยากทำความเข้าใจกับความหมายหรืออยากรู้ความสำคัญของเรื่องนี้

นอกจากวัตถุที่มีรูปร่างอันเป็นทรัพย์ซึ่งบุคคลถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ได้แล้ว บุคคลยังมีสิทธิใน วัตถุไม่มีรูปร่างที่กฎหมายยอมรับและคุ้มครองให้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา”

ที่เรียกกันว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” ได้แก่ กรณีที่กฎหมายคุ้มครองสิทธิในการสร้างสรรค์การประดิษฐ์หรือการคิดค้น สิ่งใหม่ๆ มีด้วยกัน 3 ประเภท คือ 1. ลิขสิทธิ์ 2. สิทธิบัตร 3. เครื่องหมายการค้า

ขอโฟกัส มาที่คำถาม ที่ฮ็อตมากในเวลานี้ ว่า การสร้างสรรค์ งานประเภท “ภาพวาด” นั้น จะถือว่าเป็น ทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทใด

คำตอบอย่างกว้างตามกฎหมาย คือ เป็น งานที่ได้รับความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

ลิขสิทธิ์ (Copyright) หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงาน ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น

กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งคุ้มครองงานที่บุคคลได้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยตัวเอง ไม่ให้ใครลอก หรือ เลียนแบบ เอาไว้ใช้ประโยชน์เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ซึ่งได้แก่ ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงาน โดยความคิดริเริ่มของ ตนเองได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในงานสร้างสรรค์ของตน และให้ผู้อื่นเคารพในสิทธิของผู้สร้างสรรค์นั้น

งานสร้างสรรค์ที่ได้รับการคุ้มครองนี้ จะต้องไม่ใช่เป็นเพียงแต่ความคิด แนวคิด หรือแนวเรื่อง แต่ต้องเป็นการแสดงออกซึ่งความคิด เป็นการสร้างสรรค์โดยตนเอง

เป็นงานชนิดที่กฎหมาย ยอมรับ แสดงออกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น บทละคร บทความ รูปภาพ หรือแบบพิมพ์เป็นต้น ไม่ว่าจะแสดงออกมาด้วยการเขียนพิมพ์ออกอากาศ เทศนา คำปราศรัยด้วยเสียง ด้วยภาพ หรือตัววิธีอื่นใด

“งาน” ที่ได้รับความคุ้มครองนั้น คืองานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัตถุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่ภาพ หรืองานอื่นใด อันเป็นงานในแผนก วรรณคดีแผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะจากนิยามดังกล่าว ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์

สำหรับ “งานศิลปกรรม” หมายถึง งานอันมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ คือ

(1) งานจิตรกรรม ได้แก่ งานที่ประกอบด้วย เส้น เสียง แสง สี หรือสิ่งอื่นใด อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันลงบนวัสดุเดียว เช่น งานเขียนภาพ ภาพวาด เป็นต้น

(2) งานประติมากรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัส จับต้องได้ เช่น ภาพแกะสลักรูปต่าง ๆ เป็นต้น

(3) งานภาพพิมพ์ได้แก่งานที่สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ เช่น งานเขียนภาพต่าง ๆ ที่ทำมาจากแม่พิมพ์เป็นต้น และรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย

(4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบ ตกแต่งภายในหรืองานสร้างหุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น

(5) งานภาพถ่าย ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพ เช่น ใช้กล้องภาพหรือกรรมวิธีใด ๆ ที่ทำให้เกิดภาพด้วย

(6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรือรูปทรงสามมิติที่เกี่ยวกับ ภูมิศาสตร์ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์

(7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่งานที่นำเอางานตาม ข้อ 1-6 มาดัดแปลงมาใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์การค้า เช่น นำงานจิตรกรรมภาพวาด หรือภาพถ่ายมาพิมพ์ลงในปกสมุด เสื้อผ้า หรือ พิมพ์ลงในวัสดุอื่น ๆ เช่น แก้ว ถ้วย ชาม หรือแผ่นกระเบื้อง

ดังนั้น แล้ว ภาพวาด จึงเป็น งานศิลปกรรม ประเภท งานจิตรกรรม ที่เป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์

ในเรื่องความคุ้มครองลิขสิทธิ์ กฎหมายอนุญาตให้ผู้มีลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวมีสิทธิ ที่จะทำซ้ำดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพราะฉะนั้นหากบุคคลใดที่ไม่มีลิขสิทธิ์และ ไม่ได้รับอนุญาตการทำการดังกล่าว ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็จะถูกลงโทษตามกฎหมาย

ส่วนใครที่ ไปขโมยภาพวาด เขานั้น ไม่ใช่การเอาไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ ลอกเลียนแบบ ก็อาจผิดกฎหมายอาญา ข้อหาลักทรัพย์ ก็เป็นได้

ขอขอบคุณข้อมูล : จาก สรรพากรสาส์น , เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา