ผลงานศิลปะของศิลปินไทยเพียงหนึ่งเดียวในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 มาจัดแสดงในเมืองไทยเป็นครั้งแรก
ในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่ง ที่ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยที่ถือได้ว่ายิ่งใหญ่และเข้มข้นที่สุดในโลกอย่าง มหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 ปี 2017 ได้กลับมาแสดงผลงานนิทรรศการเดี่ยวในบ้านเราอีกครั้ง
โดยผลงานที่จะมาแสดงนั้น เป็นผลงานที่อริญชย์เคยจัดแสดงในมหกรรมศิลปะ Documenta 14 ที่เมืองคาสเซล ประเทศเยอรมนี ในหอศิลป์ Neue Neue Galerie (Neue Hauptpost) ที่มีชื่อว่า246247596248914102516… And then there were none (2017)
ซึ่งประกอบด้วยผลงานศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยและเยอรมันไม่ว่าจะเป็นภาพวาดของ ประศาสน์ ชูถิ่น และภริยา ซึ่ง ประศาสน์ ชูถิ่น หรือ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) นั้นเป็นหนึ่งในนายทหารของคณะราษฎร ผู้ร่วมก่อการปฏิวัติสยามและเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย ในปี 2475 อีกทั้งเขายังเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ได้เข้าไปเยี่ยมเยือนฮิตเลอร์เป็นกลุ่มสุดท้ายและลงรายชื่อไว้ในสมุดเยี่ยมอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมี สมุดเยี่ยมและกระดาษสมุดหน้าสุดท้าย ที่จำลองขึ้นจากสมุดเยี่ยมของจริงของฮิตเลอร์ ที่ ประศาสน์ ชูถิ่น ลงชื่อเอาไว้ และผลงานภาพยนตร์ที่ร้อยเรียงเสียงบอกเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองและประวัติศาสตร์ส่วนตัวของศิลปินเข้ากับการแสดงโมเดิร์นแดนซ์และกระบวนการทำงานศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชุดนี้ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะที่โดดเด่นเป็นเอกที่สุดในงานแสดงชุดนี้ นั่นก็คือประติมากรรมจัดวางที่จำลองจากรูปปั้นนูนต่ำบนฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขนาดเท่าจริงขึ้นมาใหม่นั่นเอง
ด้วยการเปลี่ยนวัสดุจากฐานอนุสาวรีย์ของเดิมที่เป็นปูนปั้นหล่อให้กลายเป็นวัสดุทองเหลืองอันงดงามตระการตา อริญชย์หยิบเอาวัตถุทางประวัติศาสตร์ไทยมาสร้างขึ้นใหม่ด้วยชั้นเชิงและเทคนิคทางศิลปะของเขา และทำให้วัตถุทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ถูกแยกออกมาจากความทรงจำร่วม (Collective Memories) และกลายเป็นวัตถุร่วมสมัยได้ในที่สุด
ในฐานะศิลปิน อริญชย์ รุ่งแจ้ง ใช้ผลงานศิลปะของเขาเป็นเครื่องมือในการทำลายกำแพงทางสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความแตกต่างหลากหลายของผู้คน เข้ากับ ศิลปะ, วัฒนธรรม, ภูมิประเทศ, ประวัติศาสตร์, การเมือง ไปจนถึงความทรงจำส่วนตัว เรื่องราวรอบตัวทั่วไปในชีวิต พื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะ อดีตและปัจจุบัน ด้วยผลงานศิลปะหลากสื่อหลายแขนง ทั้งประติมากรรม ศิลปะจัดวาง วิดีโอ หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน และใช้สิ่งเหล่านี้ท้าทายมายาคติเดิมๆ และกระตุ้นให้คนเกิดการตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างเปี่ยมชั้นเชิง
และนอกจากจะผสมผสานกรอบความคิดอันลุ่มลึกแหลมคมของงานศิลปะแบบคอนเซ็ปช่วลเข้ากับสนุทรียะความงามของงานศิลปะหัตถกรรมอันประณีตบรรจง และหลอมรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ากับเทคนิคเชิงช่างฝีมือแบบโบราณได้อย่างกลมกลืนลงตัว เช่นเดียวกับนักเล่นแร่แปรธาตุอันชำนาญที่เปลี่ยนสสารให้กลายเป็นทองคำได้ อริญชย์ก็เปลี่ยนความคิดของเขาให้กลายเป็นงานศิลปะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความงามและความคิดอันลึกซึ้งได้เช่นเดียวกัน
สำหรับมิตรรักนักดูงานศิลปะที่ไม่มีโอกาสบินไปชมงานของอริญชย์ที่มหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 ที่เมืองคาสเซลที่ผ่านมา นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นผลงานชิ้นนี้ตัวจริงเสียงจริงในบ้านเราในครั้งนี้
อนึ่ง รหัสตัวเลข 246247596248914102516 ในชื่องานนั้นมีที่มาจากวันเดือนปีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง อาทิเช่น วันที่ 24 เดือน 6 ปี 2475 (วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง) วันที่ 14 เดือน 10 ปี 2516 (เหตุการณ์ 14 ตุลา) เป็นอาทิ
นิทรรศการศิลปะ 246247596248914102516… And then there were none จัดแสดงที่หอศิลป์เว่อร์ (Gallery VER) ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันนี้- 21 มกราคม 2561
ท่านใดสนใจไปชมก็เข้าไปสอบถามข้อมูลได้ที่ facebook Gallery VER หรือ อีเมล galleryver@gmail.com และเบอร์โทรศัพท์ 089 9885890