หอศิลป์ ศุภโชค ดิอาร์ต เซ็นเตอร์ ภูมิใจนำสนอ
นิทรรศการของ 2 ศิลปินไทยหน้าใหม่ที่สร้างผลงานศิลปะสะท้อนมายาคติการบริโภควัตถุนิยมของมนุษย์ ผ่านงานจิตรกรรมและประติมากรรม

นฤพล บำรุงเรือน : ประติมากรรมสะท้อนอารมณ์ตลกร้ายเย้ยหยันมนุษย์ผู้นิยมในวัตถุ

“มนุษย์ถือสิทธิ์เอาประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตร่วมโลกได้ทุกวิถีทางอย่างทารุณ และการกระทำนั้นไม่ได้เพื่อความอยู่รอดจำเป็น แต่เป็นไปเพียงเพื่อสนองความต้องการของตนเอง เป็นความโหดร้ายที่มาในรูปแบบของคำว่ารสนิยม ในทุกยุคสมัยและในมนุษย์ทุกชาติพันธ์ สัตว์หลายๆประเภทมักถูกเลาะขน ถลกหนัง ทั้งตอนยังมีชีวิตและถูกทำให้เสียชีวิตเพื่อนำมาประกอบขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์หลายประเภทให้มนุษย์ได้ใช้สอย โดยมีค่านิยมที่ว่า ยิ่งทำมาจากอวัยวะสัตว์จริงๆ ยิ่งนับว่าเป็นของแท้ ของดี ราคาแพง

นฤพล บำรุงเรือน สะท้อนแนวคิดของเขาผ่านประติมากรรมรูปสัตว์ที่ประกอบขึ้นจากซากกระเป๋ามากมายหลายชนิด ศิลปินเลาะรื้อส่วนต่างๆของกระเป๋าเพื่อนำมาเย็บ ตอก ร้อยทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกันด้วยมือตนเอง ห่อคลุมรูปทรงสัตว์ต้นแบบจากการปั้นหล่อไฟเบอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลอมแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์นิยมใช้กัน ประติมากรรมของศิลปินเป็นดั่งกระเป๋าสมมติใบใหม่ที่มีนัยยะสะเทือนใจ เพื่อย้ำเตือนถึงชีวิตสัตว์จำนวนมากที่ต้องสละเพื่อความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุดของมนุษย์

…ในความไร้ชีวิตนั้น มีที่มาจากคุณค่าของชีวิตให้ระลึกถึง …”

 

พัฒน์ดนู เตมีกุล : จิตรกรรมที่ใช้เศษซากเนื้อและคาวเลือดสะท้อนรสนิยมหรูหรา

” มนุษย์จำนวนมากต่างหลงใหลและยึดติดในวัตถุแสดงรสนิยมเลิศหรู จนบางครั้งกลับหลงลืมที่มาที่น่าขมขื่นของวัตถุนั้น

ศิลปิน พัฒน์ดนู เตมีกุล สร้างงานจิตรกรรมสีน้ำมันที่เจตนาใช้อวัยวะ เนื้อหนัง มาสร้างเป็นวัตถุสัญลักษณ์ขึ้นใหม่ โดยเริ่มกระบวนการทำงานตั้งแต่การใช้ เนื้อสด ๆมาประกอบจัดสร้างเป็นหุ่นนิ่งตามที่ต้องการ แล้วใช้ทักษะทางจิตรกรรมสร้างผลงานอย่างฉับพลัน เพื่อต้องการสัมผัสอารมณ์ กลิ่น สภาพของเนื้อสดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสัจจะของกาลเวลา โดยวัตถุสัญลักษณ์ส่วนใหญ่ ศิลปินได้แรงบันดาลใจจากวัตถุนิยมในศตวรรษที่ 14-17 ของยุโรปที่นับเป็นยุคแห่งความฟุ่มเฟือยอย่างสุดโต่ง เหล่าชนชั้นสูงกับรสนิยมเลิศหรูพิสดาร ทั้งการกินอยู่ เครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ แต่อำนาจและความร่ำรวยนั้นกลับมีที่มาจากการเบียดบังผู้อ่อนแอกว่าเช่น การล่าอาณานิคมชนกลุ่มน้อยอย่างโหดเหี้ยม หรือในปัจจุบันที่แบรนด์ดัง วัตถุแสดงความร่ำรวยราคาแพงส่วนใหญ่มักต้องมีที่มาในเส้นทางเลือด เช่นการใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ การทารุณสัตว์ หรือเบื้องหลังด้านมืดที่ถูกปกปิดไว้อีกมากมาย”

นิทรรศการ Dissecting Desire เปิดให้เข้าชม
ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2017 ถึง 21 มกราคม 2018
พิธีเปิดนิทรรศการจัดขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคม 2017 เวลา18:30 น.
ณ หอศิลป์ศุภโชค ดิ อาร์ตเซ็นเตอร์ สุขุมวิท 39 กรุงเทพฯ