อวบ สาณะเสน เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ บิดาชื่อ นายเอื้อ สาณะเสน มารดาชื่อ นางสาลี่ สาณะเสน สมรสกับ วิสุตา หัศบำเรอ มีบุตรสามคนคือ อู่แก้ว อ้อมขวัญ และ เกล้า เรียนจบมัธยมหกที่ โรงเรียนอัสสัมชัญ ศึกษาต่อที่ โรงเรียนศิลปวิทยา (วิทยาลัยช่างศิลป์) และได้ปริญญาศิลปบัณฑิต (จิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อพ.ศ. ๒๕o๓
ชื่อภาพ “อวบ สาณะเสน” (๒๕๑๘)
เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๑o x ๑๒ นิ้ว
“อวบ สาณะเสน เป็นแบบอย่างของศิลปิน ที่มีจังหวะก้าวเดินแบบไม่ทอดทิ้งผู้ดูจนห่างไกล และก็ไม่ให้อยู่ใกล้จนกลายเป็นผู้เดินตามหลัง โดยไม่มีส่วนในการยกระดับรสนิยมหรือความคิดของคนดู”
อวบเป็นลูกศิษย์ที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะไทยสมัยใหม่ ได้ให้ความไว้วางใจในฝีมือและพื้นฐานความรู้ ถึงขนาดมอบหมายให้เป็นอาจารย์พิเศษที่โรงเรียนศิลปศึกษา (วิทยาลัยช่างศิลป์) และที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะที่เขายังเป็นเพียงแค่นักศึกษาจิตรกรรมปีที่ ๔ เท่านั้น จากผลงานที่เคยได้รับรางวัลเหรียญทองแดง (จิตรกรรม) ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ แล้วหากใครถามเขาว่า “สนใจศิลปะมาตั้งแต่เมื่อไร ?” ก็จะได้คำตอบว่า “ผมจำได้ว่าขีด ๆ เขียน ๆ ผนังบ้านมาตั้งแต่สามสี่ขวบ
ครูอวบในวัยเด็ก
เอื้อ สาณะเสน บิดาผู้จุดประกายความรักในเสียงไวโอลิน
โดยผู้มีอิทธิพลทางศิลปะคนแรกในชีวิตของอวบก็คือบิดานั่นเอง ซึ่งเป็นนักไวโอลินที่มีลูกศิษย์ลูกหาหลายคน และเป็นช่างภาพฝีมือดีที่ชนะการประกวดมากมาย ตั้งแต่วัยเยาว์ อวบหมั่นฝึกฝนทักษะด้านศิลปะมาโดยตลอด ระหว่างเป็นนักเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งมีเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน ชื่อ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อวบรับอาสาเขียนโปสเตอร์เชียร์ฟุตบอลโรงเรียน ออกแบบหนังสือและเขียนภาพประกอบในหนังสือพิมพ์ ประเภทใต้ดินของห้องคัดลอกลายไทยและภาพรามเกียรติ์จากวัดพระแก้วขายให้นักท่องเที่ยว ฯลฯ
และด้วยฝีมือการวาดเขียนที่สั่งสมมา อวบก็ได้สอบเข้าโรงเรียนศิลปศึกษาจนจบหลักสูตร ๒ ปี ทำคะแนนได้ดีพอที่จะมีสิทธิศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม – ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยไม่ต้องสอบเข้า เขาจึงไปเป็นนักศึกษารุ่นที่ ๑๓ ของคณะ จนจบหลักสูตรเต็ม ๕ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕o๕ และได้รับพระราชทานปริญญาตรี (จิตรกรรม) ก่อนที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะเสียชีวิตได้ไม่นาน
อวบกล่าวถึงอาจารย์ศิลป์ว่า “ถ้าไม่ได้ท่าน ผมคงทำไม่ได้เท่านี้ ท่านเป็นผู้สอนให้ผมเข้าใจถึงศิลปะหลาย ๆ แขนง ไม่ว่าเป็นด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี การละคร แม้กระทั่งศาสนาและปรัชญาที่เกี่ยวข้อง ท่านสอนหมด”
Violin, 1999
ไวโอลิน ปี 2542
Oil on canvas
60 x 45 cm.
ถ้าจะย้อนไปดูผลงานภาพเขียนและงานศิลปะอื่น ๆ ของอวบแล้ว ก็จะพบว่ามีอิทธิพลจากคำสอนของ อ.ศิลป์ไม่น้อยเลย วิชาหลักที่เขาศึกษากับท่าน ได้แก่ ศิลปะคลาสสิก ศิลปะอิตาเลียนสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) และเมื่อรวมกับความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับและศิลปะไทยแล้ว อวบสามารถผสมผสานการใช้เทคนิค กฎเกณฑ์ และกลิ่นอายจากศิลปะของทั้งสองวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืนและงดงาม
ชื่อภาพ “ไม่มีชื่อ” (มิถุนายน ๒๕๓๙)
เทคนิค สีอครีลิคและสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๓๓ x ๒๔ นิ้ว
เทคนิคในการเขียนสีประเภทสีฝุ่น สีน้ำมัน สิ่งที่อวบให้ความสำคัญมากในการขวนขวายและฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ “ศิลปะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องมีการศึกษา ต้องเรียนและหมั่นสังเกตสิ่งต่าง ๆ ให้ละเอียด และการเรียนศิลปะก็ต้องเรียนทั้งชีวิต คือไปไหนเราต้องสังเกตตลอด” อวบกล่าว
ชื่อภาพ “ไม่มีชื่อ” (กรกฎาคม ๒๕๓๘)
เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๒o x ๑๖ นิ้ว
จนถึงขณะนี้ในวัย ๗๒ ปี อวบ สาณะเสน ได้อุทิศตนและเข้าไปคลุกคลีและรับใช้วงการศิลปะ และวัฒนธรรมของเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ปี ๒๕๒๑ อวบ และภรรยา วิสุตา สาณะเสน ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์โดย ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ได้จัดตั้งและเป็นผู้ดำเนินงานศูนย์ศิลปะนวลนาง ในซอยอรรถการประสิทธิ์ อยู่ใกล้ ๆ กับหอศิลป์ พีระศรี ถนนสาทร เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ศิลปินทั้งหลาย ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชม ศึกษา สนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกิจกรรมอันส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม จนถึงกระทั่งทุกวันนี้ อวบและวิสุตา ซึ่งย้ายบ้านไปอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ก็ยังยินดีเปิด บ้านคำอูน ที่อ.แม่ริม ต้อนรับผู้เยี่ยมเยียนที่มีความสนใจเกี่ยวกับงานศิลปะด้วยความอบอุ่นเสมอ
ชื่อภาพ “สุขสันต์วันเกิด” (มิถุนายน ๒๕๓๒)
เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๒๑ x ๒๔ นิ้ว
และเมื่อหลายปีก่อนในขณะที่มีกระแสว่า การขายงานศิลปะเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและน่าละอาย อวบเคยให้คำสัมภาษณ์สะท้านวงการว่า แรงบันดาลใจในการทำงานของเขาก็คือ เงิน เขาเห็นว่าอันที่จริงแล้วศิลปินก็เหมือนกับคนอาชีพอื่น ๆ งานที่ทำเป็นสิ่งที่ทำให้มีชีวิตอยู่รอด แต่หากวิเคราะห์คำตอบให้ลึกซึ้งก็จะเห็นได้ว่า อวบต้องการกระตุ้นให้คนทั่วไปเข้าใจศิลปินได้ถูกต้อง และไม่มองศิลปะในแง่ที่เลอเลิศจนเกินไป เพราะเขามีความเชื่อพื้นฐานว่า ศิลปะและสังคมต้องพึ่งพาอาศัยและมีบทบาทร่วมกัน ระหว่างศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานกับประชาชนผู้รับชม ควรมีปฏิกิริยาตอบโต้กันอย่างแน่นแฟ้น หากผู้ชมขาดความเข้าใจ ไม่ชื่นชม และที่สำคัญ ความศรัทธาในคุณค่าของงานศิลปะจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ชื่อภาพ “ไวโอลินสีฟ้า” (สิงหาคม ๒๕๔o)
เทคนิค สีอะคริลิกและสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๓๖ x ๒๘ นิ้ว
“ควรมีใครสักคนดึงศิลปะลงมาให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ คนที่บอกว่างานขายต้องเป็นงานตลาดนั้น เหมือนไม่เข้าใจงานศิลปะว่าแท้จริงมันคืออะไร สักแต่จะขายเพียงอย่างเดียว แล้วผลิตสินค้าที่เลวที่สุด ผมทำงานขายผมจะทำงานที่ดีที่สุดเท่านั้น เพราะงานขายก็ต้องเป็นงานที่เราคิดว่าเป็นผลงานศิลปะที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งเช่นกัน” อวบกล่าว
งานถ่ายรูปหรืองานศิลปะถ่ายภาพ เป็นงานอีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์อวบทำได้และทำได้ดี หรืออาจจะดีกว่าช่างถ่ายภาพทั่วไป ด้วยเหตุที่สนใจการถ่ายรูปมาตั้งแต่อยู่มัธยม ประกอบกับมีเลือดคุณพ่อซึ่งเป็นช่างภาพสมัครเล่นฝีมือดี เคยชนะการประกวดนานาชาติมาแล้วมากมาย และเมื่อได้ศึกษาด้านศิลปะจึงได้ใช้วิชาความรู้ในเรื่องการจัดภาพ การใช้เสงเงาควบคุมให้ได้เหมือนกับที่จิตรกรเขียนภาพ ตรงนี้เองที่เป็นเสน่ห์ของคนศิลปะ ที่เมื่อทำงานศิลปะในสาขาอื่นจึงมักจะมีความพิเศษอยู่ในงานนั้น ๆ มากกว่าคนอื่น
บรรยากาศงานถ่ายภาพครั้งประวัติศาสตร์
ผลงานภาพถ่ายที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันจนถึงวันนี้ คืองานถ่ายภาพ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี การถ่ายภาพครั้งนั้น มีช่างภาพซึ่งยังเป็นนักศึกษาสองคนคือ สมบัติ วนทรัพย์ ของคณะมัณฑณศิลป์ และ อวบ สาณะเสน จากคณะจิตรกรรมฯ การถ่ายทำมีการจัดแสงอย่างจริงจัง กระบวนการล้างอัด และขยายภาพ ทำกันเองทั้งสิ้น (อาศัยห้องมืดชั่วคราว คือห้องน้กหน้าห้องธุรการนั่นเอง)
ตัวนายแบบก็เต็มใจและตั้งใจ เพราะรู้ดีว่าฝีมือของศิษย์ทั้งสองคนนี้เป็นฝีมือระดับมืออาชีพ คนถ่ายเองก็รู้ว่าผลงานครั้งนั้น จะกลายเป็นงานประวัติศาสตร์ของคนในวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย ผลงานทั้่งหมดจึงเป็นที่กล่าวขวัญถึง และภาพของปรมาจารย์ศิลป์ พีระศรีที่บันทึกไว้ ได้นำไปใช้ทั้งตีพิมพ์ในหนังสือวารสารรับน้องใหม่ หนังสือวิชาการอื่น ๆ ใช้ขยายเป็นภาพขนาดใหญ่ติดไว้ในสถานที่สำคัญต่าง ๆ แม้จนกระทั่งทุกวันนี้ หากจะใช้ภาพบุคคลอมตะอย่างอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ต้องใชงานจากภาพถ่ายครั้งประวัติศาสตร์ชุดนี้ทุกครั้ง
อาจารย์อวบยังเป็นผู้จุดประกายการถ่ายภาพแบบ portrait สไตล์คลาสสิกขึ้นเป็นคนแรก ด้วยการจัดฉากอย่างประณีต พิถีพิถัน เสื้อผ้าอาภรณ์ที่แสดงสไตล์คลาสสิก จัดแสงเงาแบบ studio lighting เหมือนวิธีที่ช่างเขียนรูปโบราณทั่ว ๆ ไปตกแต่งรูปถ่ายด้วยกรรมวิธีจิตรกรรม และอัดขยายลงบนผ้าใบให้ดูคล้ายรูปเขียนสมัยคลาสสิก เทคนิคนี้ได้รับผลสำเร็จอย่างสูง จนเป็นต้นแบบแพร่ขยายไปทั่วประเทศไทย
งานที่สร้างชื่อเสียงให้อาจารย์ก้าวยืนในอีกระดับหนึ่งคือ การเป็นนักจัดการศิลปะ หรือเป็นระดับที่ฝรั่งเรียกว่า curator คือการเป็นผู้กำกับหรือผู้จัดการเลือกหาศิลปินอีกทีหนึ่ง อาจารย์และเพื่อนสนิท นายแพทย์วิชัย โปษยะจินดา ซึ่งเป็นจิตรกรสมัครเล่นและเป็นนักเปียโนฝีมือดี ได้จัดสร้างแกลลอรีหรือหอศิลป์แบบมีมาตรฐาน ที่ไม่ใช่เพียงแกลลอรีที่ขายงานศิลปะเท่านั้น หอนี้เป็นที่รู้จักกันดีของผู้คนยุคนั้นคือ “หอขวัญศลิปะสถาน” อยู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ น่าจะเป็นแกลลอรีเอกชนที่จัดแสดงผลงานศิลปะกันอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก โดยจัดแสดงให้ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ จัดแสดงงานของจิตรกรสมัครเล่น เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ล.อัศนีย์ ปราโมช และ คุณทวี บุญเกตุ เป็นต้น
ต่อมาเมื่อ มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ โดย ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บิรพัตร และ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากร ร่วมกับมูลนิธิต่างประเทศและบรรดาศิลปินทั้งหลาย ได้ร่วมกันก่อนตั้งหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งแรก ให้ชื่อตามบิดาของศิลปะสมัยใหม่ของไทยว่า “หอศิลป์พีระศรี” ที่ซอยอรรถการประสิทธิ์ ถนนสาทร อาจารย์อวบและภรรยาได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจาก ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ให้ก่อตั้ง “ศูยน์ศิลปนวลนาง” ขึ้นในบริเวณใกล้ที่ดินของท่านซึ่งอยู่ติดกับหอศลิป์พีระศรี เป็นที่ตั้งทั้งสตูดิโอของศิลปิน เป็นสถานที่แสดงงานจิตรกรรม และงานศิลปะแขนงอื่น ๆ เป็นที่นัดพบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของศิลปิน จนกลายเป็นศูยน์กลางของวงการศิลปะร่วมสมัยควบคู่กับหอศิลป์พีระศรี และเป็นที่เกิดของ “มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ” หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม BSO ซึ่งอาจารย์อวบเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและยังเป็นที่ปรึกษามาตลอด
ศูยน์ศิลปนวลนางดำเนินกิจการอยู่นานจนถึงสิบปีจึงได้เลิกราไป พร้อม ๆ กับการเสียชีวิตของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บิรพัตร และด้วยเหตุที่หมดสัญญากับมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ แต่กิจกรรมด้านสิ่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมตามแบบที่อาจารย์อวบชอบก็ยังมีอยู่ แม้ไปอยู่ในต่างจังหวัด ระยะหลังท่านย้ายสถานพำนักไปที่เชียงใหม่ และเปิด “บ้านคำอูน ที่อำเภอแม่ริม ต้อนรับผู้คนที่รักศิลปะด้วยความเต็มใจ
ข้อมูลและภาพจาก
“อวบ สาณะเสน ๗๒ ปี”