อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2497 เป็นพระบรมรูปทรงม้าที่มีขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะรมดำ ออกแบบและปั้นโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยมี สิทธิเดช แสงหิรัญ, ปกรณ์ เล็กสน และสนั่น ศิลากร เป็นผู้ช่วย

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นำเสนอภาพแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยในท่าทางที่สง่างามสมชายชาตินักรบ  สงบนิ่งและไม่หวั่นไหวดังศิลา แต่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความหาญกล้าและเด็ดเดี่ยว ม้าทรงของพระองค์นั้นเล่าแม้จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ก็เต็มไปด้วยพลังแห่งม้าศึกชั้นดีซึ่งเชี่ยวชาญในการยุทธ์ และกำลังคึกคะนองพร้อมรอคอยคำบัญชาจากจอมทัพให้โลดแล่นไปข้างหน้าเพื่อสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่และนำชัยชนะกลับมาสู่มาตุภูมิ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ในชุดขุนศึก กำลังประทับนั่งบนหลังม้าศึกคู่พระทัย พระวรกายเหยียดตรง พระอูรุ (ต้นขา) ทั้งสองแนบอยู่กับลำตัวอาชา พระบาทสอดอยู่ในโกลนในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะตบโกลนเพื่อเตือนให้อาชาคู่พระทัยโลดลิ่วไปข้างหน้า พระหัตถ์ซ้ายทรงกระชับสายบังเหียนเพื่อดึงให้ม้าซึ่งกำลังคึกคะนองหยุดนิ่งอยู่กับที่ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระแสงดาบยกชูขึ้นสู่นภากาศในท่าออกคำสั่งให้กองทัพหยุดนิ่งอยู่กับที่เพื่อรอฟังพระบัญชาให้เข้าประจัญบานกับข้าศึก

พระเศียรทรงพระมาลาเส้าสูงแบบไม่พับซึ่งมีขนนกประดับอยู่บนยอด พระพักตร์ที่ผินไปทางด้านซ้ายเล็กน้อยและพระหนุที่เชิดพองาม บ่งบอกถึงความคาดคะเนและการระแวดระวังในสถานการณ์ พระเนตรทอประกายแห่งความเด็ดเดี่ยวและความสุขุมคัมภีรภาพ พระขนงขมวดเข้าหากันแสดงถึงความครุ่นคิดและไตร่ตรอง พระโอษฐ์ที่มีพระมัสสุประดับอยู่บดแน่นเข้าหากันบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นและเด็ดขาดในการตัดสินพระทัย

       การนำเสนอพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในลักษณะเช่นนี้เผยให้เห็นเจตนารมณ์ของประติมากรในอันที่จะสะท้อนลักษณะอันเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวสมชายชาตรีของจอมทัพผู้เกรียงไกรและมหาราชที่ทรงไว้ซึ่งความปราดเปรื่องและสุขุมคัมภีรภาพ ผู้ทรงมุ่งมั่นในอันที่จะกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทย สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับบ้านเมือง และนำความสงบสุขกลับคืนสู่อาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ ดังเช่นที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวอธิบายถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ของท่านไว้ว่า

       …ข้าพเจ้าคิดทำอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินในลักษณะขององค์วีรบุรุษไทย… ข้าพเจ้าสร้างมโนภาพให้เห็นพระองค์ในลักษณะอันเปี่ยมด้วยมนุษยธรรมอย่างแท้จริงเพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยในยามที่ความหวังทั้งหลายดูเหมือนจะสูญไปแล้วจากจิตใจของชาวไทยทั้งมวล ข้าพเจ้าคิดเห็นองค์วีรบุรุษของเราในขณะทำการปลุกใจทหารหาญให้เข้าโจมตีข้าศึกเพื่อชัยชนะ ดังนั้นความรู้สึกที่แสดงออกในพระพักตร์จึงเต็มไปด้วยสมาธิในความคิดและเต็มไปด้วยลักษณะของชายชาติชาตรี

       จุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ในการนำเสนอรูปแบบการสร้างสรรค์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้เต็มไปด้วยพลังแห่งการเคลื่อนไหวอันสงบนิ่ง สง่างาม น่าเกรงขาม ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจแห่งขัตติยะ และมีค่าควรยิ่งแก่การสักการบูชา สะท้อนให้เห็นความปราดเปรื่องทางปัญญา ความแม่นยำในการคิดคำนวณโครงสร้างของประติมากรรม ตลอดจนความล้ำเลิศและความแยบยลในการสร้างสรรค์ศิลปะของประติมากรท่านนี้

ในการออกแบบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็เช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พยายามที่จะหาแบบที่มีชีวิตในอุดมคติของท่านก่อน ไม่ว่าจะเป็นม้าทรงหรือพระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดเห็นมาก่อน

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี วาดมโนภาพไว้ว่า พระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะต้องมีลักษณะไทยปนจีน แต่จะค่อนไปทางไทยมากกว่า สีพระพักตร์จะต้องบ่งบอกถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว สุขุมคัมภีรภาพ และแสดงความปราดเปรื่องทั้งการยุทธ์และการปกครองเฉกเช่นมหาราชผู้เกรียงไกร และที่สำคัญที่สุดจะต้องอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ คือมีพระชันษาประมาณ ๓๐ กว่าๆ ถึง ๔๐ ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการกอบกู้เอกราชและทำนุบำรุงบ้านเมืองไม่ใช่อยู่ในวัยแห่งปลายพระชนมชีพคือประมาณ ๔๘ พรรษา

ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงเลือกแบบที่มีชีวิต ๒ คน แทนคนๆ เดียว ซึ่งมีอายุไม่เกิน ๔๐ ปี คือ ทวี นันทขว้าง และจำรัส เกียรติก้อง (ลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี) อายุประมาณ ๓๔ ปี…

(บน) อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ (ซ้ายล่าง) จำรัส เกียรติก้อง และ (ขวาล่าง) ทวี นันทขว้าง

ที่มา: คัดจาก “อนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : ดอกผลของศิลปะเรอเนสซองซ์ของอิตาลีในสยาม”. รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2552

 

หมายเหตุ: อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่กล่าวถึง คืออนุสาวรีย์ซึ่งประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2497 เป็นพระบรมรูปทรงม้าที่มีขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง ออกแบบและปั้นโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยมี สิทธิเดช แสงหิรัญ ปกรณ์ เล็กสน และ สนั่น ศิลากร เป็นผู้ช่วย