ศิลปินนักเขียนภาพเหมือนที่มีชื่อเสียงและมีฝีมือเป็นเลิศ ชำนาญทั้งภาพสีน้ำ สีน้ำมัน สีชอล์ก และดินสอ มีผลงานเขียนภาพบุคคลสำคัญของประเทศไว้มากมาย และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ผลงานศิลปกรรมภาพเหมือนของอาจารย์จำรัสได้รับการยอมรับตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ขณะถึงแก่กรรมนั้น ดำรงตำแหน่งนายช่างศิลปเอก กองโบราณคดี กรมศิลปากร

จำรัส เกียรติก้อง เกิดที่กรุงเทพฯ เป็นบุตร นายเกอร์เซน (เภสัชกรชาวเยอรมัน ประจำห้าง บี.กริม แอนด์โก) และนางฉาย เกียรติก้อง สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างเมื่อ พ.ศ. 2477 ต่อมาได้สอบเข้าเป็นข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนสตรีวิทยา และโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย ตามลำดับ

ระหว่างที่ทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามได้ทวีความรุนแรงจนโรงเรียนทุกแห่งต้องปิดหมดโดยไม่มีกำหนด จำรัสได้ใช้เวลาระหว่างที่โรงเรียนหยุดนี้ไปเขียนภาพสีน้ำมันอยู่กับเพื่อนๆ ซึ่งทำงานอยู่ในกรมศิลปากรขณะนั้น ในโอกาสเดียวกันก็ได้ขอรับคำแนะนำติชมจากศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ด้วย และเมื่อมีผู้มาติดต่อให้จำรัสเขียนภาพเหมือนจากตัวจริงด้วยสีน้ำมัน จำรัสจะต้องขอให้ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี เป็นผู้ตั้งราคาการเขียนภาพให้ทุกครั้งตลอดมา (แม้ในระยะหลังก็ได้ปฏิบัติเช่นนั้นตราบจนศาสตราจารย์ฯ ได้สิ้นไป

ขณะเมื่อจำรัสได้ใช้เวลาว่างระหว่างโรงเรียนปิดโดยไม่มีกำหนดมาเขียนรูปอยู่ที่กรมศิลปากรดังกล่าวแล้วนั้น เป็นเวลาที่ทางราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ให้มาทรงช่วยงานในกรมศิลปากรอยู่ระยะหนึ่ง ได้ทรงเห็นภาพเหมือนที่จำรัสได้เขียนไว้ ทรงพอพระทัยในฝีมือ รับสั่งว่า“นายจำรัสเขียนภาพเหมือนได้ดีถึงขนาดนี้น่าจะได้ตัวมาไว้ในกรมศิลปากร” ต่อจากนั้น พระองค์ท่านได้โปรดให้ติดต่อขอโอนตัวจำรัสจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้มาอยู่ในกรมศิลปากร

จำรัสได้เขียนภาพไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากงานในหน้าที่ราชการแล้ว ส่วนมากเป็นภาพเหมือน (Portrait) เขียนด้วยสีน้ำมันและสีชอล์ค ซึ่งได้เขียนจากตัวจริงและจากภาพถ่าย ในการเขียนภาพเหมือนนี้ จำรัสชอบเขียนจากตัวจริงมากกว่าเขียนจากภาพถ่าย จำรัสบอกว่าการเขียนจากตัวจริงได้เห็นสีสรรพ์ตามธรรมชาติและเป็นการเขียนที่ยากยิ่ง ทำให้เกิดความสนุกที่จะติดตามผลงานจนกว่าจะสำเร็จ

จำรัสได้มีโอกาสเขียนภาพเหมือนจากตัวจริงของบุคคลสำคัญและบุคคลผู้มีเกียรติไว้หลายท่าน นอกจากนี้ก็ได้เขียนภาพให้นิตยสารต่างๆ ตามแต่จะมีผู้ต้องการ เช่นได้เขียนภาพประกอบบทขับร้องเพลงตามหลักสูตรประถมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประพันธ์โดย ฉันท์ ขำวิไล และในตอนปลายของชีวิตได้เขียนภาพสำหรับหน้าปกนิตยสารสามทหารเป็นประจำโดย ฉันท์ทิชย์ กระแสร์สินธุ์ ซึ่งเป็นมิตรอาวุโสของจำรัสได้มาติดต่อให้เขียน

ถ้าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการกุศลคุณจำรัสก็จะตั้งใจทำให้อย่างสุดฝีมือด้วยใจศรัทธา ซึ่งกุศลจิตอันนี้เป็นที่ซาบซึ้งแก่ทุกท่านที่ได้มาติดต่อเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้จัดทำหนังสือ “ทางร่มเย็น” ซึ่งมีอาจารย์เอื้องพันธ์ คุ้มหล้า ผู้ซึ่งได้มาติดต่อกับจำรัสในเรื่องเกี่ยวกับการเขียนภาพให้กับหนังสือ “ทางร่มเย็น” อยู่เสมอนั้น ได้กรุณาเป็นผู้ดำเนินงานจัดพิมพ์หนังสือ “ทางร่มเย็น” มาร่วมแจกในงานพระราชทานเพลิงศพจำรัสด้วยความอาลัยรำลึกถึงด้วย

กำลังเขียนและตกแต่งพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรขณะเมื่อทรงผนวช

การเขียนภาพครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้เคยนำคุณจำรัส พร้อมกับจิตรกรประติมากรของกรมศิลปากรเข้าเฝ้าถวายการเขียนพระบรมฉายาลักษณ์จากพระองค์จริงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร,สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ได้มีพระเสาวนีย์ให้จำรัสเข้าเฝ้า รับสั่งให้เขียนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขณะทรงผนวชในพระอิริยาบถประทับนั่ง ทรงโปรดให้เขียนด้วยสีน้ำมันขนาดเท่าพระองค์จริงโดยจำลองจากภาพฉายของกรมแผนที่

สมเด็จพระบรมราชชนนีศรีสังวาลย์ ในรัชกาลที่ 9 ประทับเป็นแบบให้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ด้วยสีน้ำมัน

เมื่อจำรัสได้เขียนพระบรมฉายาลักษณ์ทรงผนวชเสด็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระราชชนนีฯ ได้โปรดให้เขียนพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ด้วยสีน้ำมันขนาดเท่าพระองค์จริง โดยพระองค์ได้ประทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาประทับนั่งเป็นแบบให้เขียนจนพระฉายาลักษณ์นั้นสำเร็จเรียบร้อย

เมื่อจำรัสได้เขียนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จเรียบร้อย และได้นำเข้าถวายแด่สมเด็จพระราชชนนีฯ แล้ว โอกาสต่อมา ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 สำนักราชเลขาธิการได้ส่งรถยนต์มารับจำรัสไป ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และได้เข้าพบ พลเอก หลวงสุรณรงค สมุหราชองค์รักษ์ ซึ่งได้เป็นผู้มอบซองบุหรี่เงิน มีพระปรมาภิไธย “ภ.อ.” ให้เป็นของพระราชทานด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งจำรัสเป็นคนแรกที่ได้รับพระราชทาน ท่านได้กรุณาแจ้งแก่จำรัสว่า ในวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 ทางสำนักราชเลขาธิการจะจัดรถไปรับจำรัสไปวังสระปทุมเนื่องในงานพระราชทานเลี้ยงส่วนพระองค์

ครั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 จำรัสได้ไปในงานพระราชทานเลี้ยงส่วนพระองค์ ณ วังสระปทุม ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีฯ และในงานพระราชทานเลี้ยงครั้งนี้ได้อันเชิญพระฉายาลักษณ์สีน้ำมันของสมเด็จพระราชชนนีฯ ซึ่งจำรัส เป็นผู้เขียนมาประดิษฐานไว้ด้วย

อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง (ขวาสุด) เข้าเฝ้าถวายการเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์จากพระองค์จริงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ในโอกาสต่อมาจำรัสได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ โดยเลขาธิการพระราชวังได้แจ้งให้จำรัสทราบว่า มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้เลาขาธิการพระราชวัง เชิญ นายจำรัส เกียรติก้อง และภริยา รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2506 เวลา 19.30 น. ซึ่งจำรัสและภิริยาได้รับใส่เกล้าฯ ไว้ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งนี้คุณจำรัสได้เข้าเฝ้าพร้อมกับจิตรกรผู้มีเกียรติและมีชื่อเสียงอีกหลายท่าน อาทิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ,เหม เวชกร ,เฉลิม นาคีรักษ์,อวบ สาณเสน ฯลฯ

จากการที่ได้มีโอกาสเขียนพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์ดังกล่าวและได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมให้ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์นี้จำรัสถือว่าเป็นศิริมงคลอย่างสูงสุดแก่ตนเองและแก่ครอบครัววงศ์ตระกูลและจำรัสถือเสมือนหนึ่งว่าความใฝ่ฝันที่จะเป็นช่างเขียนคนไทยที่สามารถเขียนรูปเหมือนจากตัวจริงตามแรงดลบันดาลใจแต่แรกเริ่มของตนนั้นได้บรรลุสมความปรารถนาแล้ว

ยังพอจะจำภาพเหมือนสีน้ำมันซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติที่เป็นภาพเขียนอาจารย์แสวง สงฆ์มั่งมีได้หรือไม่ ซึ่งจำรัสได้เขียนขึ้นจากความรู้สึกบันดาลใจในขณะนั้น และใช้เวลาในการเขียนไม่นาน

ส่วนภาพเขียนบุคคลสำคัญและผู้มีเกียรติที่จำรัสได้เขียนจากตัวจริงด้วยสีน้ำมันและสีชอล์ค ได้แก่ ม.จ. หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล,ฯพณฯ นายพจน์ สารสิน, ธนิต อยู่โพธิ์,ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี,หวาน อยู่โพธิ์, มาลินี พีระศรี, Mrs. Kaith Waller ภริยาอดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย,คุณหญิงสุมาลี จาติกวณิช และธิดา, ประหยัด เชวงศักดิ์สงคราม,เพ็ญพิมล สิริสวย, บรรจบพันธ์ นวรัตน์ ณ อยุธยา,มัลลิกา วัชราภัย,เรวดี ทับทิมทอง,นิด ทองอุทัย,พงษ์จันทร์ มันประเสริฐ,ภาพหมู่ครอบครัวคุณกระสินธ์ และพงษ์จันทร์ มันประเสริฐ, หม่อมปริม ภาณุพันธ์ ยุคล,ธาดา วานิชสมบัติ,เบญจรัตน์ วานิชสมบัติ,มานิต วัลลิโภดม, ชิน อยู่ดี,โหมด ว่องสวัสดิ์,พึงจิต สวามิภักดิ์,จิรา จงกล,ดาเรศ สาตะจันทร์,อารีย์ นักดนตรี,ดวงดาว อาษากิจ,ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ฯลฯ

จำรัสได้เขียนภาพของตนเองและภรรยาไว้ด้วย นอกนั้นเป็นภาพเหมือนสีน้ำมัน ซึ่งเขียนจากภาพถ่าย ส่วนมากเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ซึ่งมีผู้มาให้เขียนเพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ สถานที่ต่างๆ

ภาพเขียนสีน้ำมันภาพสุดท้ายคือ พระรูปของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นภาพขนาดใหญ่ 2เท่าพระองค์จริง ซึ่งทางกองทัพเรือได้ติดต่อให้เขียนเพื่อนำไปประดิษฐานไว้ ณ กองทัพเรือ