พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๘๘ ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงศึกษางานจิตรกรรมด้วยพระองค์เองทรงศึกษาจากตำราศิลปะที่ทรงซื้อเองและมีผู้ทูลเกล้าฯถวาย และทรงฝึกเขียนเอง หากพระองค์สนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินคนใดพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมศิลปินผู้นั้นบ่อยๆ เพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีทำงานของเขาไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้สี การผสมสี ตลอดจนเทคนิควิธีการต่าง ๆเมื่อเข้าพระราชหฤทัยอย่างถ่องแท้แล้ว ก็ทรงนำวิธีการเหล่านั้นมาฝึกฝนด้วยพระองค์เองจนเกิดความชำนาญ
หลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระบาทพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มวาดภาพอย่างจริงจังในช่วงพ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ พระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับศิลปินร่วมสมัยทั้งไทยและต่างประเทศเช่น เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมออสการ์ โคคอชกา (Oskar Kokoschka) ศิลปินชาวออสเตรียถึงที่บ้านของเขาที่เมืองวิลเนิฟ (Villeneuve) ทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับจิตรกรผู้นี้ด้วยเหตุที่ออสการ์ โคคอชกา เป็นจิตรกรที่เขียนภาพโดยใช้สีที่ร้อนแรง และฝีแปรงรุนแรงตามแบบศิลปะลัทธิเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ที่ทรงโปรดส่วนศิลปินไทยนั้น พระบาทพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรไทยหลายท่านเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นครั้งคราวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลี้ยงอาหารบ้าง ร่วมวาดภาพแข่งขันกันบ้าง ศิลปินไทยที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในระยะนั้นได้แก่ เหม เวชกร เขียน ยิ้มสิริ จำรัส เกียรติก้อง เฟื้อ หริพิทักษ์ ไพฑูรย์เมืองสมบูรณ์ ทวี นันทขว้าง อวบ สาณะเสน เฉลิม นาคีรักษ์ จุลทัศน์ พยาฆรานนท์พิริยะ ไกรฤกษ์ และลาวัลย์ ดาวราย เป็นต้น
ในระหว่างที่ทรงร่วมวาดภาพและร่วมสังสรรค์กับศิลปินไทยพระองค์มีพระราชปฎิสันถาร ทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทอดพระเนตรวิธีการทำงานของศิลปินแต่ละคนแต่เมื่อจะทรงงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้วิธีการทำงานของพระองค์เอง อันแสดงถึงพระปัจเจกภาพและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านศิลปะอย่างสูง หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ศิลปินสมัครเล่นที่ทรงใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ไว้ ดังนี้
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มเขียนภาพเหมือน ซึ่งเหมือนจริงและละเอียดมากแต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกร สมัยใหม่ และทรงค้นคว้าหาทางใหม่ ๆ แปลกๆ ที่จะแสดงออก ซึ่งความรู้สึกของพระองค์ โดยไม่ต้องกังวลกับความเหมือน อันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศิลปินโดยแท้ ทรงชื่นชมในงานของศิลปินอื่นเสมอ และดูจะไม่เคยทรงพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะทรงค้นคว้าหาวิธีใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ก็ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะขณะที่ทรงวาดภาพนามธรรมที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสาระ ดังเช่นภาพที่พระราชทานชื่อว่า“วัฎฎะ” “โลภะ” “โทสะ”“ยุแหย่” “อ่อนโยน” “บุคลิกซ้อน”ก็ยังทรงเขียนรูปในลักษณะสวยงามน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม ได้ดีอีกด้วย
ทั้งที่ไม่สู้ตรงกับพระราชอัธยาศัยเท่าใดนักในฐานะจิตรกร ขณะทรงงาน ทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็ม ที่ทรงมีความรู้สึกตรงและรุนแรง ทรงใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากโปรดเส้นโค้ง แต่ในบางครั้งบางคราวก็มีข้อดลพระราชหฤทัยให้ทรงใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อย”
ในช่วงเวลา พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมไว้ถึง๑๖๗ ภาพ ทรงนิยมใช้สีน้ำมัน สีชอล์ก และสีน้ำ บนผืนผ้าใบ แผ่นไม้อัด หรือกระดาษ นอกจากนี้ยังทรงโปรดการเข้ากรอบภาพด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทรงใช้ผ้าใบทาบหุ้มแผ่นไม้อัดแทนกรอบไม้ โดยทรงนำวัสดุที่เหลือใช้หรือใช้แล้วมาดัดแปลงใช้ใหม่ซึ่งนอกจากจะสะท้อนความ “ช่างคิดช่างทำ” แล้ว ยังแสดงพระราชอัธยาสัยที่ทรงเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กสิ่งน้อยด้วย ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์มีหลากชนิดทั้งภาพเหมือน(Portrait) ภาพแบบเอ็กซ์เพรสชันนิสม์(Expressionism) ภาพแบบคิวบิสม์ (Cubism) ภาพแบบนามธรรม( Abstract) และ ภาพแบบกึ่งนามธรรม (Semi-abstract) ศาสตราจารย์ ดร. วิรุณ ตั้งเจริญ ได้วิเคราะห์แนวคิดและวิธีการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้อย่างละเอียด ดังนี้
๑. ภาพเหมือน (Portrait) ภาพเหมือนฝีพระหัตถ์สีน้ำมันมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ ภาพ ในกระบวนแบบ(Style) ต่าง ๆ กันเป็นงานฝีพระหัตถ์ในช่วงแรก ส่วนใหญ่เป็นพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนอกนั้นเป็นพระรูปสมเด็จพระราชบิดา ภาพ ม.ล. บัว กิตติยากร เป็นต้น สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้
๑.๑ ภาพเหมือนแนวเรียลิซึม (realism) เป็นภาพฝีพระหัตถ์ที่มุ่งเน้นแสดงความเหมือนอย่างศิลปะสัจนิยมเป็นด้านหลักเช่น พระรูปสมเด็จพระราชบิดา (๒๕๐๔) พระรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ(๒๕๐๔) พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินทรเทพรัตนราชสุดาฯ (๒๕๐๕) พระรูปสมเด็จพระราชบิดาเป็นภาพที่ใช้สีตามธรรมชาติ(local color) สีออกน้ำตาลหรือเอิร์ธโทนให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติคล้ายแนวทางธรรมชาตินิยม (naturalism) ทรงระบายสีบางเรียบจนสามารถมองเห็นพื้นผิวผ้าใบในบางที่ สีหนาบริเวณแสงเด่นแสดงแสงเงา กายวิภาค และมวลสารของรูปทรงได้อย่างงดงาม
๑.๒ ภาพเหมือนแนวอิมเพรสชันนิซึม (Impressionism) เป็นภาพเหมือนฝีพระหัตถ์ ทรงแสดงรอยพู่กันเพื่อแสดงภาพแสงสเปคตรัม การสะท้อนแสงและสภาพการสั่นพร่าของแสง(light vibration) แสดงความประทับใจในบรรยากาศและสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะภาพเหมือน ๒-๓ ภาพที่ไม่ปรากฏชื่อ ผลงานฝีพระหัตถ์ภาพสุภาพสตรีผมยาว(ไม่ปรากฏชื่อภาพและปีที่ทรงเขียนภาพ) ภาพเด็กผู้หญิงสวมเสื้อสีแดง(๒๕๐๗) ภาพหญิงชรา รอยพู่กันหยาบ บริเวณเสื้อและพื้นหลังเหมือนระบายไม่เสร็จ(๒๕๐๗) ได้แสดงแนวคิด รอยพู่กัน สีและกลวิธีการระบายสีด้วยรอยพู่กันเพื่อสะท้อนสภาพแสง ในแนวทางศิลปะประทับใจนิยมหรืออิมเพรสชันนิซึม
๑.๓ ภาพเหมือนแนวโฟวิซึม (Fauvism) เป็นภาพเหมือนฝีพระหัตถ์ที่ทรงใช้เป็นสื่อแสดงออกอย่างที่พระองค์ทรงปรารถนาสีคือการแสดงออก สีคือเสรีภาพ สีแสดงมิติในตัวของมันเอง เช่น พระรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ (๒๕๐๗) และภาพสุภาพสตรีนั่งพับเพียบ อย่างน้อย ๒ ภาพ(ไม่ปรากฏชื่อภาพและปีที่ทรงเขียนภาพ) ทรงระบายด้วยสีที่ตัดกันอย่างรุนแรง สีแดงน้ำเงิน เหลือง ดำ พื้นผิวตัดกันระหว่างพื้นผิวหยาบและเรียบ รอยพู่กันสั้นยาวคล่องตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเสื้อและพื้นหลัง
๑.๔ ภาพเขียนแนวเอ็กซ์เพรสชันนิซึม (Expressionism) ศิลปะแสดงออกนิยมหรือศิลปะเอ็กซ์เพรสชันนิซึม มุ่งแสดงอารมณ์ความรู้สึกภายในด้วยสาระที่เกี่ยวกับสังคมการระบายสีและการใช้สีรุนแรงตรงไปตรงมา นิยมระบายสีทับซ้อน (impasto) เพื่อแสดงภาวะความรู้สึกลึกๆรูปทรงที่ปรากฏอาจปรับไปตามกระบวนการระบายสีอย่างอิสระ พระองค์ทรงพัฒนาแนวคิดและการปฏิบัติของเอ็กซ์เพรสชันนิซึมมาใช้ในจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์เช่น ภาพเหมือนสุภาพสตรี พื้นภาพสีแดง สีขาว แสดงบริเวณแสง เสื้อสีเขียว ไม่ปรากฏชื่อภาพ(๒๕๐๖) ภาพสุภาพสตรีสีเขียว ไม่ปรากฏชื่อภาพ (๒๕๐๖) ภาพสุภาพสตรีสีออกเหลืองเขียวคล้ำดำ รอยพู่กันอิสระ รูปทรงไร้ขอบ ไม่ปรากฏชื่อ (๒๕๐๗)พระองค์ทรงอาจหาญในการแสดงออก โดยไม่ทรงกังวลกับพื้นฐานการเขียนภาพระบายสีในอดีต
๑.๕ ภาพเหมือนแนวพรีคิวบิซึม (pre-cubism) ปอล เซซานน์ สร้างภาพที่แสดงโครงสร้างง่ายๆ มุ่งเน้นวัตถุและมวลสารปฏิเสธแสงในเชิงวิทยาศาสตร์ ปาโบล ปิกัสโซ รับแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาสอดคล้องกับจิตวิทยาเกสตอลท์ (Gestalt Psychology) ที่ถือว่าส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนย่อยงานในช่วงต้นบาศกนิยม (cubism) ระยะคริสต์ศักราช ๑๙๐๕–๑๙๐๖ ได้แสดงโครงสร้างที่เรียบง่าย มวลสาร สีจำกัด การระบายเน้นพื้นผิวมวลสาร เช่น ภาพเหมือนเกอร์ทรูด สเตน (๑๙๐๕–๐๖) ภาพเหมือนตนเองและจานสี(๑๙๐๖) ของปิกัสโซ ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างภาพเหมือนสุภาพบุรุษเอนกายพิงพนักมือซ้ายถือแก้ว มือขวาชี้ไปข้างบน ใต้ข้อศอกมือขวามีหนังสือที่เปิดกางอยู่ ไม่ปรากฏชื่อภาพ(๒๕๐๖) พระองค์ทรงพัฒนาแนวคิดดังกล่าวได้น่าศึกษามาก
๑.๖ ภาพเหมือนกลุ่มบุคคล (Group Portrait) พระองค์ทรงสร้างสรรค์พอร์เทรตอีกลักษณะหนึ่งที่แสดงภาพเหมือนกลุ่มบุคคลพร้อมทั้งทรงผสานลีลาการระบายสีการใช้สีสร้างส่วนเพิ่ม (additional elements) บนพื้นภาพ ตามปัจเจกภาพทางศิลปะส่วนพระองค์เช่น ภาพครอบครัว เป็นภาพเหมือน ๖ คน (๒๕๐๗) ภาพสุภาพสตรี สีเหลือง ดำ รวม ๔ คนไม่ปรากฏชื่อภาพ (๒๕๐๙)
๒. ภาพคนแนวใหม่ (New Image of Man) ศิลปะหลักวิชาจากอดีตได้แสดงภาพคนบนพื้นฐานการมองเห็นและตามสภาพความเป็นจริงทางกายวิภาคภาพคนในแนวทางดังกล่าวได้กลายเป็นแบบแผนที่เชื่อมั่นกันมาเป็นเวลานานมาก ช่างฝีมือหรือศิลปินพยายามเขียนภาพคนที่แสดงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองการบันทึกเหตุการณ์ เรื่องราว และการสรรเสริญไปพร้อมกัน ศิลปินสมัยใหม่ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่๒๐ ได้เปลี่ยนแนวคิดดังกล่าวมาสู่ทัศนศิลป์ (visual art) “ทัศนะ”(visual) ที่หมายถึง “ภาพที่มองเห็นหรือสิ่งที่ประจักษ์”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ภาพคนเป็นสื่อในการแสดงออก และเป็นสื่อความคิดทางจิตรกรรมหลากหลายกระบวนแบบได้แก่
๒.๑ ภาพคนแนวโซเชียลเรียลิซึม (social-realism) ในขณะที่ศิลปินเรียลิซึมช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ได้นำภาพความจริงของสังคมมาแสดงออกศิลปินโซเชียลิซึมในสหภาพโซเวียต จีน และไทย ได้พัฒนาให้ศิลปะเป็นพาหะหรือสื่อที่สื่อสารได้ง่ายแสดงความเหมือนจริง ช่วยกระตุ้นความดีงามและจริยธรรมของสังคม สัมพันธ์กับแนวคิดของกรีกโบราณเรื่องความจริงความดี และความงาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเสนอแนวคิดดังกล่าวไว้ในภาพฝีพระหัตถ์ชื่อ“ไปตลาด” เป็นภาพหญิงชราชนบท ๒ คนไม่ได้สวมเสื้อกำลังเดินไปตลาด หญิงชราขวามือถือตะกร้าใส่ผักฉากหลังด้านขวามือเป็นภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมชนบท (๒๕๐๔)พระองค์ทรงระบายได้อย่างเป็นธรรมชาติ สื่อสารการดำรงชีวิตในชนบทชัดเจน
๒.๒ ภาพคนแนวเอ็กซ์เพรสชันนิซึม (Expressionism) ศิลปินเอ็กซ์เพรสชันนิซึมในเยอรมนี ฝรั่งเศส และสแกนดิเนเวีย ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่๒๐ นิยมเขียนภาพจากสาระเหตุการณ์ในสังคม โดยมักมีคนเป็นศูนย์กลางความคิดแสดงออกตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของศิลปิน การใช้สีและการระบายภาพรุนแรงตรงไปตรงมาไม่ว่าจะเป็นงานของมักซ์ เบคมันน์, เอมิล โนลเด, ชอร์ซ รูโอ, เอดวาร์ด มุง, เจมส์เอนชอร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาแนวคิดดังกล่าวมาสู่งานในแนวทางของพระองค์อย่างชัดเจนเช่น ภาพคน ๒ คนยืนและนั่ง ใช้สีตรงกันข้าม รอยพู่กันสั้น ๆ บริเวณคนยืนซ้ายมือ สีหนากลวิธีระบายสีทับขณะสีเปียก ไม่ปรากฏชื่อภาพ (๒๕๐๖) ภาพต่อสู้ (๒๕๐๖) ภาพคนกำลังระบายสีภาพนามธรรม มือซ้ายถือจานสีขนาดใหญ่ (ไม่ปรากฏชื่อภาพและปีที่ทรงเขียนภาพ)๒ ภาพหลังนี้ทำให้นึกถึงการแสดงอารมณ์อย่างกร้าวกร้านบนผลงานของเอมิล โนลเด
๒.๓ ภาพคนแนวคิวบิซึม (Cubism) เมื่อกล่าวถึงศิลปะบาศกนิยมเรามักนึกถึงเพียงการสร้างโครงสร้างพื้นภาพขึ้นมาใหม่ในลักษณะรูปทรงเรขาคณิตและปริมาตรของลูกบาศก์แต่บาศกนิยมยังรวมถึงการผสานด้านและมุมหลายด้านหลายมุมเข้าด้วยกันการใช้รูปทรงร่วม (sharing form) และการสร้างพื้นภาพระบาย ๒มิติอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ทั้งการสร้างโครงสร้างในเชิงบาศกนิยม เช่น ภาพคนหน้าเป็นเหลี่ยม ๓ หน้าใช้ระนาบรูปทรงเรขาคณิต เส้นตรงชัดเจน (ไม่ปรากฏชื่อภาพและปีที่ทรงเขียนภาพ)ภาพคนในลักษณะการใช้รูปทรงร่วมและ รูปคนหลายด้าน อย่างน้อย ๒-๓ ภาพรวมทั้งภาพหน้าคนร่วม ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ (ไม่ปรากฏชื่อภาพและปีที่ทรงเขียนภาพ)ได้แสดงการใช้รูปทรงร่วมทั้งบริเวณหน้าและลำตัว ใช้สีตัดกันสดใส ระบายด้วยสีหมาดและสีเปียกพื้นผิวหลากหลาย ภาพคนบนพื้นหลังขวามือ แสดงการระบายสีที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็วสีซับซ้อน พื้นผิวแสดงกลวิธีขูดขีดอย่างกระฉับกระเฉง
๒.๔ ภาพคนแนวฟิวเจอริซึม (Futurism) ศิลปะฟิวเจอริซึมรับแนวคิดจากคิวบิซึมและพัฒนาขึ้นในอิตาลีผสานความคิดกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล การเคลื่อนไหวความเร็ว โดยการสร้างรูปทรงที่ซ้ำหรือซ้อนกันหลายๆรูปทรงเพื่อแสดงพลังการเคลื่อนไหว (visual movement) บนพื้นภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ภาพคนเป็นสื่อแสดงออกถึงสภาพการเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงความเร็วบนพื้นภาพด้วยภาพที่ซ้ำ ๆ กัน เหมือนกับการถ่ายภาพซ้อนทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเช่น ภาพบุคลิกซ้อน (ไม่ปรากฏปีที่ทรงเขียนภาพ)ภาพคนใบหน้าซ้อน มีรูปทรงคล้ายแรคเกตแบดมินตันและลูกขนไก่มุมขวาบนคล้ายการเล่นกีฬา(๒๕๐๖) ส่วนกลวิธีระบายสีเป็นของพระองค์โดยเฉพาะ
๒.๕ ภาพคนแนวเซอร์เรียลิซึม (Surrealism) ศิลปะเหนือจริงหรือเซอร์เรียลิซึมพัฒนาขึ้นมาในยุโรป พร้อมกับแนวคิดจิตวิทยาจิตวิเคราะห์(psychoanalysis) ซึ่งมีซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรียเป็นผู้นำแนวคิดศิลปะเหนือจริงมุ่งสะท้อนความเก็บกด ภาพความจริงจากระดับจิตใต้สำนึก จิตไร้สำนึก ความฝันที่คนเราพยายามซ่อนเร้นไว้ด้วยระดับจิตสำนึก(consciousness) ซึ่งแสดงศีลธรรมจริยธรรมในสังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสะท้อนสภาพจิตวิเคราะห์ด้วยภาพคนที่เหมือนความฝันรูปทรงที่ปรับเปลี่ยนไปจากสภาพความจริง คล้ายแนวทางของมาร์ก ชากัลล์, ซาลวาดอร์ ดาลี เช่น ภาพไม่ปรากฏชื่อ (๒๕๐๖) และอย่างน้อยอีก ๒-๓ ภาพที่ไม่ปรากฏชื่อภาพและปีที่ทรงเขียนภาพ
๓. ภาพแนวซิมบอลิซึม (Symbolism) ภาพแนวสัญลักษณ์นิยมเป็นภาพที่มุ่งนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งรวมทั้งการใช้สี แสดงสัญลักษณ์หรือความคิดบางประการ เป็นภาพในเชิงอุปมาที่ผู้ชมจะตีความไปตามสภาพการสื่อสารความคิดในสังคมและตามประสบการณ์ส่วนตัวสีทองในศิลปะไบแซนไทน์ อาจหมายถึงสวรรค์ เกตุมาลาหมายถึงรัศมีและโลกุตรธรรม นกพิราบหมายถึงอิสรภาพ ใบเมเปิลหมายถึงเสรีภาพ สีดำสำหรับไทยหมายถึงการไว้ทุกข์ เป็นต้นภาพฝีพระหัตถ์จิตรกรรมสีน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นภาพเครื่องดนตรีคลาริเน็ตทรัมเป็ต ทรอมโบน สีสันหลากสีตัดกันอย่างรุนแรง แดง เขียว เหลือง ดำ มือสีแดงเด่นชัดบนฉากหน้าเฉพาะดวงตาลอยเด่นอยู่คู่หนึ่งซ้ายมือ และไม่เห็นเด่นชัดนักอีกคู่หนึ่งมุมบนซ้ายมือเป็นการระบายสีเรียบ (blending) แม้จะผสานแนวคิดทางด้านศิลปะในลักษณะอื่นๆ ไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเอ็กซ์เพรสชันนิซึมหรือเซอร์เรียลิซึม แต่การแสดงสัญลักษณ์ของเครื่องดนตรีการวางโครงสร้างภาพที่ตัดกันในลักษณะกากบาท สีตรงข้ามสดใสแสดงความตื่นเต้นเร้าใจเครื่องดนตรีและมือที่เล่นดนตรี มิได้แสดงเพียงเครื่องดนตรีในฐานะวัตถุหรือมือในฐานะอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้นแต่ภาพรวมได้สะท้อนให้รู้สึกถึงดนตรีที่กำลังบรรเลงโหมกระหน่ำ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าจะเป็นดนตรีแจ๊สที่พระองค์ทรงโปรดปรานนั่นเอง
ภาพฝีพระหัตถ์ชิ้นนี้ทำให้นึกถึงแนวคิดในการเขียนภาพของ วาซิลี คันดินสกีศิลปินชาวรัสเซีย ที่พัฒนาจิตรกรรมเอ็กซ์เพรสชันนิซึมไปสู่รูปแบบนามธรรมบริสุทธิ์(pure abstraction) ที่ไร้รูปทรงตามธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในช่วงคริสต์ศักราช๑๙๑๐ และคันดินสกียังพยายามที่จะสร้างภาพจิตรกรรมนามธรรมโดยใช้สีแทนค่าหรือเป็นสัญลักษณ์ของเสียงดนตรีจากเครื่องดนตรีต่างๆเป็นความพยายามที่จะสร้างสรรค์จิตรกรรมไร้รูป คล้ายดนตรีคลาสสิกที่ไร้คำหรือความหมายของคำและภาษาและคันดินสกีก็มักตั้งชื่อภาพว่า “improvisation” เพื่อบอกความฉับพลันในการตัดสินใจ“การเดี่ยวแบบ solo adlib ซึ่งถือว่ายากเพราะนักดนตรีจะต้องสร้างขึ้นโดยฉับพลัน แต่ให้อยู่ในกรอบและจังหวะของแนวเพลงนั้น”
๔. ภาพแนวอารมณ์นิยม ( Emotionalism) ภาพแนวอารมณ์นิยมเป็นภาพผลงานศิลปะที่มุ่งแสดงออกทางอารมณ์เป็นด้านหลักสภาพการแสดงอารมณ์บนพื้นภาพจิตรกรรมอาจอยู่เหนือรูปทรงภาพนอก นอกเหนือรูปแบบหรือสีสันตามความเป็นจริงจิตรกรใช้พลังอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดผ่านกลวิธีในการระบายสีที่ซับซ้อน ใช้สีเพื่อแสดงความรู้สึกของอารมณ์ภายในจิตวิทยาสีที่เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตและในสังคม เนื้อหาสาระบนพื้นภาพตอบสนองอารมณ์ของตนเองถือตนเองเป็นศูนย์กลางของการแสดงออก อาจเป็นนามธรรมหรือภาพที่แสดงการปรับเปลี่ยนรูปทรงเพื่อตอบสนองอารมณ์ของตนแนวคิดและการปฏิบัติในเชิงอารมณ์นิยมอาจพัฒนามาจากศิลปะจินตนิยมหรือโรแมนติซิซึม(Romanticism) ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙พัฒนามาสู่โพสต์อิมเพรสชันนิซึม (Post-Impressionism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของฟินเซนต์ ฟาน ก๊อก เอ็กซ์เพรสชันนิซึมและแอบสแตร็กเอ็กซ์เพรสชันนิซึม (abstract-Expressionism)
ภาพฝีพระหัตถ์จิตรกรรมสีน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อาจพิจารณาร่วมกับแนวคิดนี้ได้เช่น ภาพนามธรรมแสดงหน้าคนไม่ชัดเจน ผสมผสานกับรูปทรงนามธรรมพลิ้วไหวเหมือนเปลวเพลิง๒ ภาพ ทรงเขียนขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๐๖ (ไม่ปรากฏชื่อภาพ) แสดงถึงการแสดงออกซึ่งอารมณ์ภายในของพระองค์ที่ทรงกระตือรือร้นมุ่งมั่นภายในจิตใต้สำนึก
๕. ภาพแนวแอบสแตร็กเอ็กซ์เพรสชันนิซึม(abstract-expressionism) เมื่อเซอร์เรียลิซึมพยายามสะท้อนภาพเก็บกดภายในระดับอัตตา( ego) และอัตตาดิบ (id) ตามแนวคิดของจิตวิทยาจิตวิเคราะห์ภาพการเก็บกดของมนุษย์ที่เหมือนภูเขาน้ำแข็งจมอยู่ใต้ปริมาณน้ำมหาศาล เหลือลอยให้เห็นบนผิวน้ำเพียงน้อยนิดแต่แอบสแตร็กเอ็กซ์เพรสชันนิซึม หรืออเมริกันแอบสแตร็กเอกซ์เพรสชันนิซึม (Americanabstract expressionism) ในสหรัฐอเมริกา ช่วงกึ่งศตวรรษที่ ๒๐ศิลปินใช้ “พลัง” จากความเก็บกด(ไม่ใช่ “ภาพ” จากความเก็บกด) แสดงออกอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาศิลปินเซอร์เรียลิซึมชาวฝรั่งเศส อองเดร เบรอตงให้อิทธิพลต่อศิลปินหัวก้าวหน้าชาวอเมริกันกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก วิลเลม เดอ คูนิงใช้แปรงทาสีอาคารขนาดใหญ่ระบายสีอย่างอิสระบนพื้นภาพขนาดใหญ่ แจ็กสัน พอลล็อกหยดสี สาดสี แสดงความพลุ่งพล่านของความรู้สึกภายใน ฟรันซ์ ไคลน์ ระบายสีขาวดำอย่างฉับพลันนามธรรมเหมือนภาพรอยพู่กันตัวอักษรจีน (calligraphy) ฟรานซิสเบคอน ศิลปินชาวอังกฤษ ที่เขียนภาพคนผนึกไว้กับแผ่นกระจกและธรรมชาติ ฯลฯ
ภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สะท้อนแนวคิดของแอ็บสแตร็กเอ็กซ์เพรสชันนิซึมอย่างเด่นชัดทั้งพลังของสีและพลังในการระบายสี กลวิธีสีหนาทับซ้อน การระบายสีฉับพลันโดยตรง(direct painting)
พื้นภาพเกิดจากปรากฏการณ์ภายในเป็นจิตรกรรมเชิงอุบัติเหตุ ( accidental painting) มากกว่าการคาดคำนวณหรือการวางแผนการรู้จักเก็บรักษาหรือการรู้จักหยุดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นด้วยประสบการณ์และความรู้สึกสัมผัสที่เฉียบคมคือเป้าหมายและเจตนาที่สำคัญสำหรับการระบายสีในกระบวนแบบนี้
ภาพฝีพระหัตถ์ มือแดง (๒๕๐๔) ภาพนามธรรมสีแดง ส้ม เหลือง ม่วง ดำ(๒๕๐๕) ภาพวัฏฏะ (๒๕๐๖) ภาพดินน้ำลมไฟ (ไม่ปรากฏปีที่ทรงเขียนภาพ) และภาพในแนวทางนี้อีกหลายภาพพระองค์ทรงระบายสีอย่างอิสระมาก การระบายสีอยู่เหนือการควบคุมรูปทรงภายนอก สีสันที่แสดงออกเป็นสีที่อยู่นอกเหนือทฤษฎีโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพ มือแดง พระองค์ทรงใช้พระหัตถ์ทาบสีแดงและพิมพ์ลงบนพื้นภาพสีเขียวรอบ “มือแดง” แสดงริ้วรอยถูไถขูดขีดด้วยรอยพระหัตถ์อย่างรวดเร็วภาพวัฏฏะที่ทรงระบายสีด้วยกลวิธีหลากหลายในกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นผิว(texturing) การระบายฉาบสี (glazing) การระบายสีเปียกบนแห้ง(wet into dry) บริเวณมุมขวาด้านล่าง รูปทรงบนพื้นภาพอาจแสดงรูปทรงทางกายภาพที่เป็นต้นกำเนิดของการเกิดวัฏสงสารคือการเวียนเกิดเวียนตาย “ธรรมทั้งหลายยังธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้นโดยความประกอบพร้อมแห่งเหตุปัจจัย พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อความดับแห่งเหตุทั้งหลายเมื่อเหตุทั้งหลายระงับไป วงจร (วัฏฏะ) ขาด ก็ไม่หมุนต่อไปชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ย่อมมีเพื่อการทำความจบสิ้น ทุกข์อย่างนี้เมื่อหาตัวสัตว์ไม่ได้จึงไม่มีทั้งขาดสูญ ไม่มีทั้งเที่ยงแท้ยั่งยืน (พระธรรมปิฎก. ๒๕๓๘ : ๗๐/๒๖–๒๗)
ภาพนามธรรมคล้ายหน้าคนด้านข้าง ระบายสีหนาทับซ้อน(ไม่ปรากฏชื่อภาพและปี) เป็นภาพที่พระองค์ทรงระบายสีหนาทับซ้อนหลายชั้น บางตอนเหลือพื้นภาพด้านล่างให้ปรากฏเห็นได้(underpainting) สีแดงค่าคล้ำ และสีน้ำเงินค่าอ่อนเป็นการระบายสีขาวเปียกทับบนสีชั้นล่าง แสดงการตัดสินใจอย่างกล้าหาญ แสดงพลังภายในผ่านการตัดสินใจและผ่านกระบวนการระบายสีอย่างมีนัยสำคัญโดดเด่นในกระบวนแบบนี้
๗. ภาพภูมิทัศน์แนวโรแมนติซิซึม (Romanticism) แม้จะปรากฏภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ภูมิทัศน์จำนวนจำกัด แต่ภาพภูมิทัศน์ยามราตรีที่ทรงเขียนขึ้นในปีพุทธศักราช๒๕๐๓ ภาพออกสีน้ำเงินและดำ ต้นไม้ลักษณะต้นสน ทิวเขา น้ำ และดวงจันทร์บนท้องฟ้า สีค่าคล้ำและรูปทรงท่ามกลางความมืดที่เห็นได้ไม่ชัดเจนไม่แสดงรายละเอียด ท้องฟ้าบริเวณรอบดวงจันทร์สว่างขึ้นท้องน้ำที่ติดกับภูเขามีแนวแสงเป็นทางยาว การระบายสีซ้อนหลายชั้นช่วยสร้างพื้นภาพที่ดูลึกลับ อาจเป็นภาพภูมิทัศน์แนวจินตนิยมหรือโรแมนติซิซึมที่ศิลปินอังกฤษอย่างจอห์นคอน สเตเบิล และ วิลเลียม เทอร์เนอร์ แสดงออกบนจิตรกรรมภูมิทัศน์
๘. ภาพดอกไม้แนวอิมเพรสชันนิซึม (Impressionism) ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ดอกไม้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเขียนขึ้นในพุทธศักราช๒๕๐๓ เป็นภาพดอกไม้สีชมพูในแจกันสีเหลือง ตั้งบนโต๊ะกลม ฉากหลังสีน้ำเงินคล้ำ เป็นภาพที่ทรงระบายสีเกี่ยวกับสภาพแสงตามความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์สภาพแสงและการสะท้อนแสงบริเวณฉากหลังที่แสดงแสงทะลุผ่านชั้นสี การสะท้อนแสงบริเวณดอกไม้ใบไม้ และกิ่งก้าน แม้ผลงานชิ้นนี้จะเป็นประสบการณ์ช่วงแรก แต่ภาพก็ได้แสดงแนวคิดดังกล่าวชัดเจนพอสมควร
นอกจากภาพผลงานฝีพระหัตถ์สีน้ำมันในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่นำมาวิเคราะห์จำนวนหนึ่งยังมีผลงานอีกจำนวนมากที่แสดงความหลากหลายทางกระบวนแบบ แนวคิดและการปฏิบัติสร้างสรรค์ตลอดห้วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ มีภาพผลงานจิตรกรรมที่ทรงคุณค่านับด้วยจำนวนร้อยท่ามกลางพระราชภารกิจและงานสร้างสรรค์ศิลปกรรมทางด้านอื่น ๆ ของพระองค์อีกมากมายหลายด้านภาพผลงานจิตรกรรมดังกล่าวย่อมสะท้อนพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างมากมาย
ศิลปินและประชาชนทั่วไปมีโอกาสชมภาพฝีพระหัตถ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานภาพเข้าร่วมแสดงในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๕๐๖ จนถึงงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยครั้งที่๑๔ พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์จำนวน ๖ รูป ครั้งที่ ๑๕ พระราชทานจำนวน ๗ รูป ครั้งที่๑๖ จำนวน ๔ รูป และครั้งที่ ๑๗ จำนวน ๓ รูป ไปจัดแสดง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมา
และทุกครั้งได้พระราชทานพระราชดำรัสอันแสดงให้เห็นว่าทรงสนพระราชหฤทัยในศิลปะอย่างลึกซึ้งและทรงเห็นว่าศิลปะเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติของชาติและยกระดับจิตใจของประชาชน ดังความตอนหนึ่งในพระราชทานดำรัสพระราชทานในพิธิเปิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ว่า
“งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริม อัจฉริยภาพของศิลปินแล้วยังสร้างเกียรติให้แก่ชาติ และอำนวยประโยชน์แก่ ประชาชนโดยสวนรวมให้มีโอกาสใฝ่ใจในสิ่งที่สวยงามเจริญตาและเจริญใจ เป็นผลให้เกิดนิสัยรักความประณีตวิจิตรบรรจงมีความรู้สึกละเอียดอ่อน เกิด ความคิดในทางดีงามเป็นการยกระดับทางจิตใจของประชาชนในชาติให้สูงขึ้น…”
นอกจากนี้ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์จำนวนหนึ่งให้องค์กรSoka Gakkai International แห่งประเทศญี่ปุ่น นำไปจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสริริราชสมบัติครบ๕๐ ปี โดยจัดแสดงที่ Tokyo Fuji Art Musuem กรุงโตเกียว และนำไปแสดงต่อที่กรุงโอซากาอีกด้วย
ข้อมูล หออัครศิลปิน The Supreme Artist Hall