การก่อสร้างพระเมรุมาศในสมัยโบราณ

การปลงศพในธรรมเนียมไทยแต่โบราณ คงได้แบบแผนธรรมเนียมมาจากอินเดีย กษัตริย์คงได้ใช้ธรรมเนียมการเผาศพแบบคติทางพุทธศาสนา คือ บรรจุในพระลอง(หีบ) เผาและบรรจุอัฐิในสถูป การพระบรมศพที่มีการสร้างเมรุมาศ เรียกว่า ออกพระเมรุ ถือเป็นแบบอย่างธรรมเนียมสืบมา เมื่อไทยได้รับอิทธิพลรูปแบบการปกครองตามลัทธิเทวราชจากขอม มีการสร้างเทวาลัยหรือปราสาทหินสูงใหญ่เพื่อการพระบรมศพ ซึ่งเป็นคติเกี่ยวเนื่องกับระบบการปกครอง จึงใช้กับชนชั้นผู้ปกครองเท่านั้น หากสืบสวนดูจากวิธีการตามคติดังกล่าว การปกครองสมัยสุโขทัยและล้านนา ไม่ได้ปกครองด้วยพระราชอำนาจตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฐานะของกษัตริย์สุโขทัยเป็นเจ้าเป็นขุนนางปกครองไพร่ฟ้าอย่างพ่อปกครองลูก ส่วนล้านนาการพระบรมศพกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ได้พบหลักฐานจากพระจิตกาธานเผาพระบรมศพที่เหลืออยู่เป็นลักษณะรองรับพระลองทั้งสิ้น ดังนั้น ธรรมเนียมการสร้างพระเมรุที่สืบต่อเป็นธรรมเนียมปฏิบัติคงเริ่มในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รับอิทธิพลจากขอมแล้ว จากหลักฐานพงศาวดารปรากฏชัดว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑(พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว อาณาจักรขอมได้ตกอยู่ใต้อำนาจอาณาจักรศรีอยุธยา การดำเนินการปกครองของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาคงได้ปรับเป็นอย่างขอมเพื่อสามารถแผ่พระบรมเดชานุภาพปกครองขอม ซึ่งเดิมเป็นอาณาจักรใหญ่มีอำนาจมาก การพระเมรุนั้นจึงคงเป็นเครื่องประกอบพระราชอำนาจและพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่นั้น

จากหลักฐานพงศาวดารสมัยอยุธยา ได้กล่าวถึงการถวายพระเพลิงพระบรมศพและการสร้างพระเมรุโดยตลอด โดยมีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากหลักฐานต่างๆ พบว่าในสมัยอยุธยาตอนต้นยังไม่มีรายละเอียดพระราชพิธีและลักษณะของพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงแต่ประการใด มีเพียงการสร้างพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อความที่บันทึกไว้ในพงศาวดารสะท้อนให้เห็นถึงธรรมเนียมการพระบรมศพบางประการที่เป็นแนวทางปฏิบัติสืบมาถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง

ในระยะเริ่มต้นนั้น การจัดสร้างพระเมรุมาศยังไม่ได้มีการกำหนดเขตสร้างพระเมรุเป็นการเฉพาะ คงเป็นไปตามพระบรมราชโองการของกษัตริย์ให้จัดการสร้างพระเมรุขึ้นที่หนึ่งที่ใดตามความเหมาะสม และนำพระอัฐินั้นบรรจุในสถูปตามทำนองคติทางพุทธศาสนามาจนตลอดสมัยอยุธยา(สมัยอยุธยาตอนปลายมีหลักฐานว่าได้มีการบรรจุพระอัฐิไว้ที่ท้ายจระนำวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์) แสดงให้เห็นว่ายังได้มีสถานที่ทำการถวายพระเพลิงแด่พระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงอื่นเป็นการเฉพาะนั้น เห็นได้จากการที่พระมหากษัตริย์ได้สถาปนาสถานที่ถวายพระเพลิงบางแห่งเป็นพระอาราม คล้ายดังเป็นอนุสรณ์สถานแต่พระบรมศพนั้นๆ จึงไม่น่าจะมีการถวายพระเพลิงซ้ำในที่นั้นอีก เนื่องจากได้สถาปนาสิ่งปลูกสร้างเป็นการถาวรขึ้นแล้ว การพระบรมศพต่อๆ มา น่าจะหาสถานที่อื่นๆ เป็นสถานที่สร้างพระเมรุถวายพระเพลิง หรือโดยกลับกันกล่าวว่าธรรมเนียมเลือกทำเลสร้างพระเมรุต่างๆ กัน จึงเมื่อมีการประกาศสถาปนาสถานที่ถวายพระเพลิงเป็นวัดจึงเกิดมีวัดขึ้นในที่ต่างๆ ซึ่งการณ์ดังกล่าวนี้คงหมดไปเมื่อมีการสร้างพระเมรุมาศเฉพาะที่ขึ้น

สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นวัด เช่น ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (เจ้าสามพระยา) ได้สถาปนาที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา พระเชษฐา ซึ่งทรงทำยุทธหัตถีชิงราชสมบัติกัน ต้องของ้าวสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ เป็นพระมหาธาตุและวิหารให้นามว่าวัดราชบูรณะ ล่วงถึงสมัยอยุธยาตอนกลางในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิได้สถาปนาสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีสุริโยทัยเป็นเจดีย์วิหารให้นามว่าวัดศพสวรรค์(วัดหลวงสบสวรรค์)

ในสมัยอยุธยาตอนกลาง การพระบรมศพมีการบันทึกอย่างละเอียดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลักษณะการปลูกสร้างพระเมรุมาศ ได้เริ่มมีการกำหนดตำแหน่งสถานที่ถวายพระเพลิงไว้ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นการถาวร ดังปรากฏในพงศาวดารว่าใน พ.ศ. ๒๑๔๙ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้พูนดินหน้าวิหารแกลบระหว่างวัดพระมงคลบพิตรกับวัดพระรามขึ้นไว้เป็นที่ถวายพระเพลิง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการกำหนดสถานที่แห่งอื่นอีกหรือไม่ และใช้สืบต่อกันมาเป็นเวลานานเท่าใด ไม่ได้กล่าวไว้

พระเมรุมาศในสมัยอยุธยาตอนปลายคงจะได้เปลี่ยนสถานที่ไปถวายพระเพลิง ณ ท้องสนามหลวงหรือสนามกว้างกลางพระนคร ไม่ห่างไปจากพระราชวังหลวงมากนัก(เพราะมีการพระบรมศพมีการจัดตั้งประดิษฐานพระบรมโกศ เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลถวายรอการออกพระเมรุ ณ พระที่นั่งสุริยามรินทรามหาปราสาทหรือพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ในพระบรมมหาราชวัง) เพื่อความสะดวกในททการจัดการเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราใหญ่ อัญเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุมาศททดังปรากฏในจดหมายเหตุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอธิบายถึงรายละเอียดว่า ได้จัดงานพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณีที่มีมาแต่ก่อน โครงสร้างพระเมรุมาศที่จัดสร้างตามคติธรรมเนียมหน้าที่ใช้สอยเดิมคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพระราชพิธีการพระบรมศพคงจัดขึ้นเป็นพระราชพิธีสำคัญและยิ่งใหญ่ พระเมรุมาศสร้างขึ้นนอกจากเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ คงได้จัดเป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลพร้อมสรรพ ขนาดของพระเมรุมาศจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ระยะเวลาการออกพระเมรุและการสมโภชจะใช้ระยะเวลาเท่าใด คงขึ้นอยู่กับพระอิสริยศักดิ์ พระราชอำนาจบารมี รวมถึงพระราชโองการตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์เป็นสำคัญ มีปรากฏความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ กล่าวถึงขนาดพระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า มีความสูงถึง ๓ เส้น หรือประมาณ ๑๒๐ เมตร ขนาดขื่อ ๘ วา หรือประมาณ ๑๖ เมตร ส่วนขนาดที่ย่อมลงมาคงเป็นพระเมรุมาศกรมหลวงโยธาธิพ ซึ่งสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ หรือสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ โปรดฯ ให้สร้างพระเมรุถวายพระอัยกี มีความสูง ๒๐ วา ๒ ศอก หรือประมาณ ๔๑ เมตร ขนาดขื่อ ๕ วา ๒ ศอก หรือประมาณ ๑๑ เมตร และพระเมรุมาศสมเด็จเจ้าฟ้าอภัย ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็เป็นขนาดขื่อยาวเท่ากัน การสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ไม่เป็นที่น่าแปลกอะไร เนื่องจากพระเมรุใหญ่ข้างนอกสร้างไว้เพื่อครอบพระเมรุทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งพระโกศพระบรมศพเหนือพระแท่นเบญจาสูงอีกชั้นหนึ่ง จึงมีความจำเป็นต้องส่งความสูงใหญ่ของพระเมรุมาศขึ้นไปด้วย ปริมณฑลของพระเมรุมาศก็น่าจะกว้างขวางออกไปมาก เนื่องจากการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพมีพระสงฆ์ถึงหมื่นรูปเป็นอย่างใหญ่ ๕,๐๐๐ ถึง ๖,๐๐๐ รูป เป็นอย่างน้อย ระยะในการสร้างใช้ระยะเวลาในการสร้างประมาณ ๘–๑๑ เดือน จึงแล้วเสร็จ รอถึงเมื่อแล้ง ฤกษ์ยามดีแล้วจึงแห่พระบรมศพออกสู่พระเมรุมาศ

ดังนั้น การสร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงคงเป็นการสำคัญประการหนึ่งด้วย ดังปรากฏหน้าที่ราชการนายช่างอำนวยการสร้างพระเมรุมาศเป็นการเฉพาะ มีราชทินนามเป็น “ขุนสุเมรุทิพราช” ปรากฏในจดหมายเหตุการณ์พระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนที่บรรยายถึงพระเมรุมาศ ดังนี้

“…มีรับสั่งให้ตั้งพระเมรุทองที่ท้องสนามหลวง แล้วตั้งพระเมรุใหญ่สูง แล้วปิดทองประดับกระจกยกเป็นลวดลายต่างๆ แล้วมีเพดานรองสามชั้นเป็นหลั่นๆ ลงมาตามที่ จึ่งมีพระเมรุใหญ่สูงสุดของยอดพระสะเดานั้น ๔๕ วา(๙๐ เมตร) ฝานั้นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษปูพื้นแดง เขียนเป็นชั้นนาค ชั้นครุฑ ชั้นอสูร และชั้นเทวดา และชั้นอินทร์ชั้นพรหม ตามอย่างเขาพระสุเมรุ ฝาข้างในเขียนเป็นดอกสุมณฑาและมณฑาเงินแกมกัน และเครื่องพระเมรุนั้นมีบันและมุข ๑๑ ชั้น เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจกขุนสุเมรุทิพราช เป็นนายช่างอำนวยการ พระเมรุใหญ่นั้นมีประตู ๔ ทิศ ตั้งรูปกินนร รูปอสูรทั้ง ๔ ประตู พระเมรุใหญ่นั้นปิดทองทึบจนเชิงเสา กลางพระเมรุทองก่อเป็นแท่นรับเชิงตะกอน อันเสาเชิงตะกอนนั้นก็ปิดทองประดับกระจกเป็นที่ตั้งพระบรมโกศ แล้วจึงมีเมรุทิศ ๔ เมรุแทรก ๔ เป็น ๘ ทิศ ปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายต่างๆ แล้วจึ่งมีรูปเทวดา วิทยาธร รูปคนธรรพ์ และครุฑ กินนร ทั้งรูปคชสีห์ ราชสีห์ และเหมหงส์ และรูปนรสิงห์ลิงโต ทั้งรูปมังกร เหรานาคาและรูปทักกะทอ รูปช้างม้าและเลียงผา สารพัดรูปสัตว์ทั้งปวงต่างๆ นานาครบครัน ตั้งรอบพระเมรุเป็นชั้นกันตามที่ แล้วจึงกั้นราชวัตรสามชั้น ราชวัตรนั้นก็ปิดทองปิดนากปิดเงิน แล้วตีเชือกเป็นทางเดินที่สำหรับจะเชิญพระบรมศพมา ริมทางเดินนั้นจึ่งตั้งต้นไม้กระถางอันมีดอกต่างๆ แล้วประดับประดาด้วยฉัตรและธงงามไสว…

การพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่มีธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติอย่างซับซ้อน มีการสร้างพระเมรุมาศเป็นงานใหญ่ มีการสมโภชเฉลิมฉลองต่างๆ ที่แสดงถึงอำนาจและความเจริญถึงขีดสุดของราชอาณาจักรอยุธยาตอนปลายนี้ และได้สืบทอดต่อเป็นแบบแผนให้กับพระราชพิธีในสมัยรัตนโกสินทร์

ส่วนในสมัยธนบุรีเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามตลอดจนสิ้นยุคสมัย การพระราชพิธีจึงมิได้ทำตามประเพณีเต็มขนาด คงได้ทำพอสมควรแก่เหตุการณ์ในสมัยนี้เท่านั้น ดังได้โปรดฯ ให้ถวายพระเพลิง พระบรมศพสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์) พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์สุดท้าย โดยตั้งเครื่องทำพระเมรุหุ้มผ้าขาว (อย่างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์สร้างถวายพระศพพระสงฆ์ซึ่งทรงสมณศักดิ์สูง) อัญเชิญพระโกศประดิษฐานในพระเมรุทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามสมควร แล้วถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการถวายกตัญญูต่อบรรพกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เป็นต้น

จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการจัดสร้างพระเมรุมาศ และออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวงบริเวณด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสถาปนาขึ้นบริเวณฝั่งตรงข้ามพระราชวังกรุงธนบุรีเดิม(ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา) การพระบรมศพและการสร้างพระเมรุในสมัยนี้ยังคงรักษาแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมนอกธรรมเนียมบ้างแต่น้อยไม่เป็นการใหญ่ จนถึงครั้งการพระบรมศพสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการปรับเปลี่ยนลดทอนการพระราชพิธีลงให้เหมาะสมกับยุคสมัย ดังพอสังเขปลักษณะและขนาดของพระเมรุ ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๘ ดังนี้

       ๑. พระเมรุมาศสมเด็จพระบรมราชชนก พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นพระเมรุมาศขนาดใหญ่ มีเมรุทิศโดยรอบทั้ง ๘ ทิศ พระเมรุมาศมียอดเป็นปรางค์พรหมพักตร์ กุฎาคารจตุรมุข และมีการประดับตกแต่งตามพระราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่มิได้บอกขนาดของพระเมรุมาศ

  ๒. พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้สร้าง พ.ศ. ๒๓๕๔ ตามแบบพระเมรุมาศครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นพระเมรุอย่างใหญ่เต็มตามตำรา ขนาดเสาใหญ่สูง ๑ เส้น(๔๐ เมตร) ขื่อยาว ๗ วา (๑๔ เมตร) พระเมรุมาศสูงตลอดยอด ๒ เส้น(๘๐ เมตร) มีพระเมรุทองสร้างซ้อนอยู่ภายในอีกชั้นหนึ่ง สูง ๑๐ วา (๒๐ เมตร) เป็นที่ตั้งพระเบญจาทองคำรับพระบรมโกศ

๓. พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. ๒๓๖๘ เป็นพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ยอดปรางค์ตามพระราชประเพณีพระเมรุมาศพระมหากษัตริย์ครั้งรัชกาลที่ ๑

๔. พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว สวรรคตวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ เป็นพระเมรุมาศขนาดใหญ่ เสา ๑ เส้น พระเบญจาหุ้มเงิน

  ๕. พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระเมรุมาศ พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นพระเมรุมาศขนาดใหญ่ สูงตลอดยอด ๒ เส้น(๔๐ วา หรือ ๘๐ เมตร) ยอดปรางค์ ๕ ยอด ยอดกลางภายในมีพระเมรุทองสูง ๑๐ วา (๒๐ เมตร) ตั้งพระเบญจาทองรองรับพระบรมโกศ ระยะเวลาก่อสร้าง ๘ เดือน

๖. พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชาร่วมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดฯ ให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ เสาสูง ๑ เส้น อย่างพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สร้างเสร็จวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๙

   ๗. พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคตวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระเมรุมาศตามอย่างพระเมรุมาศในรัชกาลที่ ๓ เสร็จ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นพระเมรุมาศขนาดใหญ่ สูงตลอดยอด ๒ เส้น (๘๐ วา) มียอดปรางค์ ๕ ยอด ยอดกลางภายในสร้างพระเมรุทอง สูง ๑๐ วา(๒๐ เมตร) ตั้งพระเบญจาทองรองรับพระบรมโกศ เมรุทิศ เมรุแทรก มียอดเป็นยอดปรางค์เช่นกัน

๘. พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช สวรรคตวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระเมรุมาศทรงมณฑปยอดบุษบกขนาดเล็กล้อมรอบด้วยเมรุราย ๔ ทิศ ตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ไม่ทรงต้องการให้เปลืองแรงงานและพระราชทรัพย์ จึงทรงให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่ แต่ให้ปลูกสร้างพระเมรุมาศแต่ที่พระราชทานเพลิงพอสมควรในท้องสนามหลวง

  ๙. พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จสวรรคตวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระเมรุมาศ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบเป็นพระเมรุมาศทรงปราสาท ๓ ยอด และยอดพรหมพักตร์

  ๑๐. พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบเป็นพระเมรุมาศขนาดเล็ก ทรงมณฑปยอดบุษบกคล้ายพระเมรุมาศในรัชกาลที่ ๕ แต่ไม่มีเมรุราย

  ๑๑. พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สวรรคตวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากรออกแบบ และได้มีเหตุให้ต้องชะงัก การดำเนินงานถึง ๓ ครั้ง ด้วยเหตุผลบางประการ ในที่สุดก็แล้วเสร็จวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ และถวายพระเพลิงพระบรมศพในวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ พระเมรุมาศเป็นเมรุขนาดเล็ก ทรงมณฑปยอดบุษบก ไม่มีเมรุราย

    ๑๒. พระเมรุมาศสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคตวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้าง และเสร็จ พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยใช้แบบพระเมรุมาศสมเด็จพระปิตุลาบรมพงศาภิมุขกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นเรือนจัตุรมุขยอดทรงมงกุฎ

ภาพ : พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

โครงสร้างพระเมรุมาศ

พระเมรุมาศเป็นสิ่งก่อสร้างชั่วคราวที่ใช้งานเฉพาะเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรื้อถอนออกได้ง่าย เมื่อเสร็จพระราชพิธี ดังนั้น แนวคิดเรื่องของโครงสร้างอาคารและส่วนตกแต่งสถาปัตยกรรมย่อมเป็นไปตามลักษณะงานเฉพาะสำหรับงานก่อสร้างพระเมรุมาศที่สามารถรื้อถอนออกได้ง่ายเช่นกัน เช่นการทำลายซ้อนไม้แทนการแกะสลัก มีการใช้กระดาษ เช่น กระดาษทองย่น(ปัจจุบันใช้เป็นผ้าย่นแทนเพราะจีนเลิกผลิตแล้ว) เป็นต้น งานโครงสร้างการก่อสร้างตามหลักฐานซึ่งสามารถพบได้ในภาพถ่าย(ภาพถ่ายเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔) จะเห็นการใช้ไม้ซุงและไม้ประกอบต่างๆ รวมทั้งไม้ไผ่มาผูกรัดเป็นโครงสร้างตามแบบสถาปัตยกรรม

ภาพ : ตั้งขาทรายสำหรับยกองค์พระเมรุมาศ
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ภาพ : การยกซุงเสาพระเมรุมาศขึ้นประกอบทุกมุมๆ ละ ๓ ต้น
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ภาพ : โครงถักไม้ไผ่ผูกอย่างแน่นหนาตามรูปทรงขนาดภายในองค์พระเมรุมาศ เพื่อใช้ผูกรอกชักเชือกยกซุงเสา
พระเมรุขึ้นทาบตามทรงมุมละ ๓ ต้น เพื่อทำเสาย่อไม้สิบสอง ของเสาพระเมรุทรงบุษบก
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ภาพ : การประกอบยอดพระเมรุมาศ และพื้นฐาน
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ภาพ : พระเมรุมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ภาพ : อัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเวียนรอบพระเมรุมาศ
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ภาพ : พระเมรุมาศ และเกรินอัญเชิญพระโกศพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ภาพ : พระเมรุมาศ งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ภาพ : พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗

ภาพ : พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ภาพ : ลิฟต์สำหรับเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระเมรุมาศ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ภาพ : พระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

          การก่อสร้างพระเมรุมาศมีวิวัฒนาการปรับปรุงตามสภาพและชนิดของวัสดุ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ และขณะเดียวกันทรัพยากรป่าไม้ลดลงจึงมีการปรับลดการใช้ไม้ซึ่งแต่เดิมเป็นวัสดุการก่อสร้างหลักของการก่อสร้างพระเมรุมาศเป็นวัสดุอื่นแทน เช่น เหล็ก เหล็กรูปพรรณ ไม้อัดวัสดุซีเมนต์ ซีเมนต์บอร์ด กระเบื้องหลังคาโลหะ การหล่อลวดลายประดับต่างๆ ด้วยเรซิ่น (Rasin) แทนการใช้ไม้ฉลุ เป็นต้น

สรุป รูปแบบโครงสร้างพระเมรุมาศ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗–๒๕๕๕

๑. พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗
– ฐานรากไม้ ทำเป็น งัว แระ
– เสาอาคารเป็นไม้

๒. พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
– ฐานรากเป็นพื้นสำเร็จรูป (Hollow Core Slab)
– เสาเป็นไม้ บางส่วนเป็นเหล็กรูปพรรณและผสมระหว่างไม้และเหล็กรูปพรรณ
– พื้นไม้อัด

๓. พระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
– ฐานรากเป็นพื้นสำเร็จรูป (Hollow Core Slab)
– เสาและคานเป็นเหล็ก
– พื้นไม้
– มีเทคนิคใหม่
๑) ลิฟต์รับน้ำหนัก ๕ ตัน เป็นลิฟต์ไฮดรอลิคยกสูง ๒.๕ เมตร
๒) เตาถวายพระเพลิง (โดยใช้แก๊ส)

๔. พระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
– โครงสร้างเหมือนพระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้านางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
– เตาถวายพระเพลิง (โดยใช้น้ำมัน)

ลำดับงานของโครงสร้าง

       ๑. งานฐานราก

เนื่องจากเป็นงานโครงสร้างชั่วคราว จึงไม่นิยมตอกเสาเข็มเพราะอาคารคงใช้งานอยู่ในระยะเวลาอันสั้น แล้วรื้อถอนออกหลังเสร็จงานพระราชพิธี และโดยธรรมชาติของดินที่ท้องสนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) ก็มีการก่อสร้างเป็นลักษณะอาคารชั่วคราวอยู่เสมอ พื้นดินจึงผ่านการบดอัดเป็นประจำ ทำให้มีสภาพค่อนข้างแข็ง จากการทดลองแรงแบกทาน(Bearing Capacity) คือความสามารถในการที่จะรับน้ำหนักได้ อยู่ที่ประมาณ ๑๓ ตันต่อตารางเมตร การคำนวณในอดีตตั้งแต่พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีใช้ค่าแรงแบกทาน (Bearing Capacity) ที่ ๕ ตันต่อตารางเมตร และครั้งนี้พระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วิศวกรเลือกใช้ที่ ๔ ตันต่อตารางเมตร เพราะคำนึงถึงขนาดพระเมรุมาศที่มีขนาดใหญ่โตกว่าครั้งก่อนๆ

รูปแบบของฐานรากเป็นแบบฐานแผ่ แต่เดิมพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ใช้ไม้ในการก่อสร้างโดยตัดเป็นท่อนวางเรียงแผ่เป็นลูกระนาด(ทำเป็นงัว) แล้วใช้ไม้กระดานวางซ้อนอีกชั้นหนึ่ง (กงพัด) และได้พัฒนารูปแบบฐานรากจากไม้มาเป็นแผ่นพื้นสำเร็จรูปมีรูกลวง(Hollow Core Slab) แทน เสริมด้วยไม้กระดานหรือเหล็กรูปพรรณก่อนจะตั้งเสาไม้หรือเสาโครงเหล็กซึ่งเป็นโครงสร้างอาคารต่อไป โครงสร้างฐานรากแบบนี้ได้ใช้ต่อมาในพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และในครั้งนี้พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เปลี่ยนฐานรากจากแผ่นพื้นสำเร็จรูปแบบมีรูกลวง(Hollow Core Slap) เป็นแบบฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อสำเร็จแล้วนำมาวางบนพื้นดินที่บดอัดแล้ว ส่วนฐานรากที่รองรับเสาหลักทั้ง ๔ ต้น ใช้การหล่อคอนกรีตในพื้นที่ เนื่องจากมีขนาดใหญ่

ภาพ : ฐานรากพระเมรุมาศสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งต้องรองรับพระเมรุมาศที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรองรับน้ำหนักและผลของแรงกระทำเนื่องจากแรงลม

ภาพ : การติดตั้ง Jig Plate ก่อนเทคอนกรีต

ภาพ : ฐานรากพระเมรุมาศคอนกรีตเสริมเหล็ก

          ๒. งานโครงสร้างทั่วไป

แต่เดิมใช้ไม้เป็นโครงสร้างหลัก แต่เนื่องจากไม้เป็นทรัพยากรที่หายากมากขึ้นและมีราคาแพง จึงได้มีการพัฒนาลดจำนวนโครงสร้างที่เป็นไม้และใช้เหล็กรูปพรรณมาทดแทน ตอนแรกๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงยังมีโครงสร้างไม้ผสมเหล็ก ดังเช่น พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โครงสร้างอาคารพระเมรุได้ปรับลดโครงสร้างส่วนที่เป็นไม้มาเป็นเสาเหล็กถัก และส่วนที่จะต้องมีการยึดโยงด้วยโครงสร้างไม้และส่วนตกแต่งจำเป็นจะต้องมีการตอกตะปูและยึดน็อต จึงต้องใช้เสาไม้หุ้มด้วยโครงเหล็กถักเพื่อง่ายต่อการประกอบงานไม้

ภาพ : ส่วนของโครงสร้างพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ภาพ : โครงสร้างพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

          โครงสร้างพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณทั้งหมด ซึ่งการประกอบเหล็กรูปพรรณเป็นโครงสร้างใช้วิธียึดติดกันด้วยสลักเกลียวและแป้นเกลียว(Bolt & Nut) ส่วนโครงสร้างพระที่นั่งทรงธรรมใช้วิธีการต่อเชื่อมด้วยไฟฟ้า

ภาพ : โครงสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ
ยึดด้วย Bolt & Nutซึ่งชิ้นส่วนของเหล็กผลิตจากโรงงานตามขนาดรูปแบบ แล้วนำมาประกอบในสถานที่ก่อสร้าง

          ๓. การจัดวางโครงสร้าง

การจัดวางโครงสร้างอาคารพระเมรุมาศขึ้นอยู่กับสถาปัตยกรรม พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในครั้งนี้มีขนาดใหญ่สูงถึง ๕๐.๔๙ เมตร เมื่อเทียบกับพระเมรุมาศครั้งก่อน กล่าวคือพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สูง ๓๗ เมตร ขณะที่พระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สูงเพียง ๓๕ เมตร และพระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก็สูงใกล้เคียงกัน และที่สำคัญพระเมรุมาศที่กล่าวมานี้ล้วนมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ซึ่งทำให้พระเมรุมาศมีความมั่นคงมากกว่าพระเมรุมาศที่เป็นทรงบุษบกไม่มีมุขยื่นออกมาช่วยค้ำยัน ดังนั้นการจัดวางโครงสร้างและการออกแบบโครงสร้าง จึงต้องถ่ายแรงทั้งหมดไปที่ส่วนของเสา รวมทั้งโครงสร้างส่วนของฐาน

ภาพ : พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

          ๔. รูปแบบโครงสร้างส่วนฐาน

โครงสร้างส่วนเสาซึ่งถ่ายแรงทั้งหมดลงสู่ฐานราก เนื่องจากมีน้ำหนักมากและถ่ายลงตรงตำแหน่งเสาเป็นจุดจะมีค่าของน้ำหนักมาก จำเป็นจะต้องแผ่โคนเสาออกไปเพื่อการกระจายน้ำหนักและการรับแรงลม มิให้มีการหก(Overturn) หรือมีแรงถอนในแต่ละฐาน ดังนั้น รูปแบบของโครงสร้างที่โคนเสา จึงออกแบบเป็นคานTruss จำนวน ๔ ตัว มีขนาดใหญ่ (Super Truss)

 

ภาพ : เสาเหล็กทั้ง ๔ ต้นของบุษบกประธาน ใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณประกอบและคาน Super Truss
ที่โคนเสาเป็นคานเพื่อกระจายน้ำหนักและการรับแรงจัดวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมเพื่อความสมดุล

          ๕. โครงสร้างส่วนเรือนยอดบุษบก

รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยทรงบุษบกจะมีชั้นซ้อน(ชั้นเชิงกลอน) ถึง ๗ ชั้น การจัดวางโครงสร้างเหล็กถักแบบตั้งเป็นตุ๊กตาซ้อนขึ้นไปแต่ละชั้นย่อเล็กลงตามส่วนของสถาปัตยกรรม(แต่เดิมพระเมรุมาศองค์ก่อนๆ มีส่วนเป็นโครงสร้างไม้ จะมีการยึดรั้งด้วยลวดสลิงอยู่ภายในอีกชั้นหนึ่ง เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากกรณียึดโยงด้วยไม้อาจจะมีการชำรุดได้

ภาพ : ยอดบุษบกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

          ๖. หน่วยแรงที่ใช้และวิเคราะห์โครงสร้าง

ข้อกำหนดการวิเคราะห์โครงสร้างคำนึงถึงน้ำหนักบรรทุก(Live load) และแรงลม (Wind load) ดังตัวอย่างข้อกำหนดการออกแบบพระเมรุมาศสมเด็จพระนครินทราบรมราชชนนี ดังนี้

          – น้ำหนักบรรทุกบนหลังคา ๕๐ กก./ตารางเมตร
          – น้ำหนักบรรทุกที่พื้นรับได้ ๓๐๐ กก./ตารางเมตร
          – แรงลม ๕๐–๑๒๐ กก./ตารางเมตร
          – น้ำหนักที่ดินรับได้ปลอดภัย ๕,๐๐๐ กก./ตารางเมตร
          – กำลังของเหล็ก ๑,๒๐๐ กก./ตารางเมตร
          – กำลังของไม้เนื้อแข็งปานกลาง ๑๐๐ กก./ตารางเมตร

ข้อกำหนดการวิเคราะห์โครงสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชใช้น้ำหนักบรรทุกที่ ๕๐๐ กิโลกรัมต่อตารางเมตร เมื่อคำนึงถึงน้ำหนักของผู้เข้าร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รวมถึงประชาชนที่จะเข้าชมนิทรรศการและชมความงดงามของพระเมรุมาศหลังเสร็จสิ้นพิธี ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมาก ส่วนแรงลมใช้ตามเกณฑ์เทศบัญญัติกำหนด และการวิเคราะห์โครงสร้างจากแรงลมใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ซึ่งทำให้สามารถกำหนดขนาดของเสาโครงเหล็กถักให้เหมาะสมกับแบบสถาปัตยกรรมได้

ภาพ : นายอารักษ์ สังหิตกุล (กลาง) วิศวกรที่ปรึกษา นายพีระพงษ์ พีระสมบัติ (ซ้าย)
และนายเชาวน์วัศ มังกร (ขวา) วิศวกรผู้รับผิดชอบโครงสร้าง

          อย่างไรก็ตาม การออกแบบโครงสร้างพระเมรุมาศย่อมขึ้นอยู่กับรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นหลัก นอกจากนี้โครงสร้างพระเมรุมาศจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ยังขึ้นอยู่กับการกำหนดน้ำหนักเพื่อการใช้สอยอีกด้วย

ภาพ : โครงสร้างพระเมรุมาศ แล้วเสร็จ

 

ที่มาของข้อมูล : เอกสารประกอบในกิจกรรม พิพิธภัณฑ์เสวนา ครั้งที่ ๔  เรื่อง “สถาปัตยกรรมเนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ” เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (