สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกๆท่าน…

        ประโยคคำสอนที่คุณผู้อ่านบางท่าน อาจเคยได้ยินหรือเห็นผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง
เช่นคำว่า…

“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”

 หรือ

“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” 

        สำหรับสาระศิลป์ในคอลัมน์นี้ ทางผู้เขียนคิดว่าคำสอนต่างๆ ที่คุณผู้อ่านอาจจะคุ้นเคยกันนั้น มีใครทราบจริงๆไหมว่า อมตะคำสอนเหล่านี้นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งครั้งนี้เลยขอหยิบยกเอาประโยคคำสอนของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี มาขยายความ เล่าเรื่องราวที่มาของคำสอนเหล่านั้นที่เล่าผ่านจากบรรดาลูกศิษย์ที่ได้เล่าถึงชีวิต เรื่องราว ความรักความผูกพันตั้งแต่ครั้งเมื่ออาจารย์ศิลป์นั้นยังมีชีวิตอยู่ โดยคำบอกเล่าของบรรดาลูกศิษย์ตั้งแต่รุ่นเเรกครั้งที่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนปราณีตศิลปกรรม ราว พ.ศ 2477 จนกลายมาเป็น โรงเรียนศิลปากร และได้รับการเปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

 

เนื้อหาเรื่องราวส่วนใหญ่นั้น ทางผู้เขียนได้หยิบยกมาจากเรื่องราวเนื้อหา คำบอกเล่าส่วนใหญ่ จากหนังสือ อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี ฉบับที่ 3 (แอบกระซิบว่า เล่มนี้ทางผู้เขียนได้รับมาเมื่อครั้งตอนเข้าปี1 ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
     เเม้คำสอนส่วนใหญ่บางคำปัจจุบันอาจจะมีคนเข้าใจว่าอาจารย์ศิลป์ท่านเป็นผู้คิดขึ้น แต่คอลัมน์นี้ผู้เขียนขอนำเอาเล่าเรื่องราวที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดประโยคเด็ด หรือคำสอนที่เราส่วนใหญ่นำมายึดถือและใช้เป็นหลักคำสอนในการดำเนินชีวิตมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้รับรู้ถึงที่มาของคำต่างๆเหล่านั้นกันค่ะ…

 

 

“พรุ่งนี้ก็สายเสียเเล้ว”…

     ข้อความสอนใจ จากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จนถึงขั้นที่ได้รับการจารึกอยู่ตรงฐานบริเวณอนุสาวรีย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (ซึ่งใครอยากทราบที่มาและการกำเนินอนุสาวรีย์นี้ สามารถย้อนกลับไปอ่านสาระศิลป์ ตอน ไม่มีอนุสาวรีย์แก่ผู้สร้างอนุสาวรีย์ได้นะคะ) อันที่จริง คำสอนคำนี้ ถูกเล่าและถ่ายทอดผ่าน เฟื้อ  หริพิทักษ์  ศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรม ปี พ.ศ.2500 ศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม ซึ่งถือเป็นลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์รุ่นเเรก ก่อนก่อตั้งเป็นโรงเรียนประณีตศิลปกรรมและกลายเป็นโรงเรียนศิลปากร ช่วงราวพ.ศ.2477-2485 อาจารย์เฟื้อได้เล่าว่า คำๆนี้อาจารย์ศิลป์ท่านมักชอบพูดเตือนบรรดาเหล่าลูกศิษย์อยู่เสมอ ๆ จึงทำให้กลายเป็นประโยคคุ้นหูไปเสีย

 

คำสอนจากอาจารย์
เรื่องเล่าโดยเฟื้อ  หริพิทักษ์(จิตรกรรม)
โรงเรียนประณีตศิลปกรรม-โรงเรียนศิลปากร พ.ศ.2477-2485
ศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรม ปี พ.ศ.2500 ศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม

 

         “… ข้าพเจ้าได้ยินเสียงแว่วอยู่ข้างหู “พรุ่งนี้ก็ช้าเสียเเล้ว ๆ” …เสียงเตือนที่ท่านร้องเตือนมานานหลายปี เพื่อให้เราได้รู้จักคุณค่าของศิลปวัตถุที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษของเรา เสียงนี้บางคราวก็เเว่ว ๆ กระซอบอยู่ข้าง ๆ บางครั้งก็ดังก้องกังวานลั่นสนั่นยิ่งกว่าเสียงฟ้าผ่า !… เสมือนปลุกกระชากให้ผวาตื่นจากหลับ ความหลับไหลท่ามกกลางความมืดและความเย็นของรัตติกาล ซึ่งฝนกำลังโชยให้สบาย…”

      “พรุ่งนี้ก็ช้าเสียเเล้ว ๆ ” จึงไม่ใช่เพียงคำตักเตือนให้เราได้รู้จักคุณค่าของศิลปวัตถุเท่านั้น แต่ยังเป็นคำเตือนใจกลางๆ ไม่ให้เราประมาท ไม่ทอดทิ้งกาลเวลาอันมีค่าควรทำตัวเองให้เป็นผู้ตื่นตลอดเวลา อยู่ท่ามกลางแสงสว่างและความสดชื่น รู้จักตัวเอง รีบขวนขวายหาความรู้ ไม่ทอดทิ้งเวลา ทิ้งโอกาส โดยอย่าเป็นคนคนที่มัวเเต่หลับไหล นอนทอดกาย ทอดใจไปเรื่อยเปื่อย…

 


 

คำสอนจากอาจารย์
เรื่องเล่าโดยสนั่น ศิลากรณ์ (ประติมากร)
โรงเรียนประณีตศิลปกรรม-โรงเรียนศิลปากร

          “…วันแรกที่ผมพบท่านอาจารย์ศิลป์ เล่นเอาประหม่าทีเดียว เพราะท่านร่างกายสูงใหญ่ สวมแว่นหนาเตอะ พูดภาษาไทยเสียงดังเชียว แต่ผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก ท่านอยู่ในชุดผ้าทอแบบกางเกงจีน เสื้อสีขาว ภาพปั้นขนาดต่างๆตั้งอยู่เรียงรายเต็มห้อง ทำให้ผมประทับใจ เเละมุ่งมั่นที่จะต้องเป็นศิษย์ของท่านให้ได้ เมื่อเรียนจบ ผมก็มาทำงานอยู่กับท่าน โดยท่านได้มอบหมายงานชิ้นหนึ่งให้ทำ คือ อนุสาวรีย์เจ้าพ่อดำ ขนาดใหญ่เท่าครึ่งคนจริง ถือเป็นงานแรกและงานใหญ่ที่เรียกได้ว่าเเทบจะเกินตัวเองไปด้วยซ้ำ หลังจากปั้นมานานเกือบ 3 เดือน เกือบจะเสร็จอยู่เเล้ว เหลือแค่ส่วนของเครื่องหลังทหารเท่านั้น ปรากฎว่าศูนย์ถ่วงการยืนท่าเปลี่ยนไปเพราะดินเหนียวกว่า 30 กิโลที่เติมลงไป ทำให้รูปปั้นล้มลงทันที พังระเนระนาดหมด จิตสำนึกขณะนั้นคือคิดว่าคงจะต้องถูกดุอย่างแน่นอน ผมยืนมองชิ้นส่วนที่เเตกกระจายพร้อมๆกับเสียงฝีเท้าของอาจารย์ค่อยๆใกล้เข้ามา เตรียมใจรับการลงโทษ มีมือใหญ่ๆมาแตะที่หลังต้นคอผม พร้อมกับเสียงที่ท่านพูดว่า “ไม่เป็นไรนาย ทำใหม่ๆ” …

…สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นปรากฎการณ์ตรงกันข้าม ผมจึงหันมามองท่าน บอกท่านว่า “อาจาร์ยให้คนอื่นทำบ้างสิครับ” เพราะความเบื่อหน่าย และความกลัวว่าจะทำเสียหายซ้ำอีก…

 

 

“ไม่ได้…นายต้องทำ ฉันให้นายทำ”

      ตอนเเรกผมก็คิดว่า นี่คงเป็นการลงโทษของท่าน แต่ต่อมาเมื่อคิดได้ จึงเข้าใจได้ว่าท่านไม่ได้โกรธ ไม่ได้ลงโทษผมเลยแม้แต่นิดเดียว แถมเหตุการณ์นั้นยังทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าท่านเปลี่ยนให้คนอื่นมาปั้นเเทนผมคงรู้สึกแหยงงานไปเลย คงจะเป็นสามัญสำนึกที่รู้สึกกลัวไปตลอดชาติเลยทีเดียว…

 

 

 


 

คำสอนจากอาจารย์
เรื่องเล่าโดยประชิด  วามานนท์(มัณฑนากร)
โรงเรียนประณีตศิลปกรรม-โรงเรียนศิลปากร

…ยุคนั้นบรรดาลูกศิษย์มักจะเรียกท่านว่า “อาจารย์ฝรั่ง” แต่พอท่านได้เปลียนชื่อ จึงเรียกท่านกันว่า “อาจารย์ศิลป์” จนมาถึงปัจจุบัน สำหรับลูกศิษย์รุ่นแรกๆ พวกเราถือว่าเป็นนักเรียนของกรมศิลปากร ไม่ได้เรียนกันว่า “โรงเรียน”(ซึ่งทางท่านอาจารย์ประชิดหยอดไว้ในเล่มว่า ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง ถ้าให้เปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆก็คลคล้ายๆกัลสุภาษิตไทยที่ว่า กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถึงขั้นอมจนอาเจียนเลยทีเดียว)

ครูที่เข้ามาสอนเราในสมัยนั้นส่วนใหญ่คือคนที่อาจารย์ฝรั่งไว้ใจ อาจารย์คุณพระ(พระสาโรชรัตนนิมมานก์)ท่านสอนวิชาออกแบบและประวัติศาสตร์ศิลป์(ในช่วงนั้นเราไม่เรียกว่าสถาปัตย์ เพราะถูกกีดกันจากสถาบันอื่น)

อาจารย์พระพรหม(พระพรหมพิจิตร)สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย

อาจารย์ฝรั่งแรกๆท่านเรียนภาษาไทยจากหนังสืออ่านแบบเรียนเร็วและนิทานอีสป และจะมักเรียกชื่อขอลลูกศิษย์ชายว่า นาย แบบเต็มคำ ไม่ตัดอักษร ถ้าเป็นหญิง ท่านก็จะเรียก นางสาว นำหน้าเช่นกัน และสำหรับข้าราชการท่านก็จะเรียกชื่อตามยศศักดิ์ในสมัยนั้นเฉพาะคำที่ออกเสียงง่าย แต่หากเป็นคำยากๆเช่น อธิบดี, รัฐมนตรี อาจารย์ท่านก็จะใช้เพียง ฯพณฯ และตามด้วยชื่อเต็ม ท่านมักบอกว่าท่านกำลังเรียนอยู่ชั้นประถม ในช่วงของปีที่3, 4 ท่านก็อ่านประวัติศาสตร์ไทยและวรรณคดีไทย กลายเป็นว่า ท่านรู้ลึกและละเอียดกว่าเราไปแล้ว แม้ว่าท่านจะเขียนภาษาไทยได้บ้าง แต่หากเป็นเรื่องสำนวนโวหารนั้นไม่ต้องห่วง นอกจากวิชาทางศิลป์ที่เราต้องเรียนกันเเล้ว ผู้บริการในสมัยนั้นก็บังคับให้เรียนโน้ตดนตรี ภาษาไทย คำนวน แถมยังให้พวกนิสิตแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารมาสอน เราเลยพากันหลบบ้าง ขาดบ้าง ผลัดกัน พอเขาทนไม่ได้ก็ไปเอง อาจาร์ยฝรั่งแกเข้าใจ พอเห็นพวกเราแกก็จะยิ้มมุมปาก แล้วหรี่ตา ยื่นหน้าบ่นว่า “เสียเวลาศิลปะ” เห็นไหมล่ะ เรื่องคำคมปริศนาของท่านแสบไหม…


 

คำสอนจากอาจารย์
เรื่องเล่าโดยสนิท  ดิษฐพันธุ์ (จิตรกรรม)
โรงเรียนประณีตศิลปกรรม-โรงเรียนศิลปากร

“…ผมเป็นนักเรียนที่จบมัธยม5 มาเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปากร (เดิมดือโรงเรียนประณีตศิลปกรรม) ตอนเรียนมัธยมทางโรงเรียนสอนเพียงทำงานศิลปะให้สะอาดเรียบร้อยแต่อาจารย์ศิลป์สอนให้มีความกล้า ต้องลากเส้นด้วยความกล้า เขียนด้วยความรู้สึก ผิดถูกไม่เป็นไร ถ้าดำเกินไปให้เอาขนมปังปอนด์ซับ ท่านทำให้ดูจนเห็นส่วนที่ดำหลุดติดออกไป

      ท่านสอนให้ Drawing ด้วยปากกาไม้ไผ่ผ่าปาก เจาะรูนิดหน่อย ท่านบอกว่าต่างประเทศก็ทำกันอย่างนี้ ท่านสอนให้ใช้กระดาษที่มีพื้นดำ แล้วเขียนด้วยสีน้ำขาว ซึ่งเขียน Portrait, Figure จากหุ่นจริง ท่านชอบใช้คำว่า Feeling “ถ้าไม่เห็นเงาให้ลีบตาดู” (หรี่ตาดู) เวลาท่าน แก้งาน ถ้าเห็นว่างานดูอ่อนแอ (Weak) ท่านก็เขียนลงไปในงานให้เห็นความแรง กล้า โดยท่านไม่ต้องอธิบายอีก ผมเองจึงเพิ่มพูนดวามกล้าจากวิธีการสอนของท่าน เวลาท่านจะสอนการทำ Fresco (ภาพปูนเปียก) ท่านก็มีการทดสอบ โดยให้ช่างปูนโบกปูนตามส่วนผสม โดยให้ทำช่องสำหรับเขียน ๒ ช่อง ช่องหนึ่งท่านเขียน และอีกช่องหนึ่งท่านให้ผมเขียนให้ดู และท่านจะมาดูว่าดนไทยทำได้ไหม ซึ่งงานนี้จะใช้สีฝุ่นเขียนลงไปบนผนังปูนเปียก ๆ จะแห้งในเวลาต่อมา ๓ – ๔ ชั่วโมงดูว่าเราจะเขียนเสร็จทันไหม ท่านเขียนพญาครุฑ ผมเขียนหน้านางฟ้า ที่ผนังส่วนนอกของห้องทำงานของท่านในการสอบวิชา Fresco เมื่อเลยเวลากำหนดประมาณ ๖ ชั่วโมงไปแล้วอาจารย์จะใช้น้ำราด สีที่เขียนลงไปภายหลังที่ปูนแห้งแล้วจะไม่ติดลงไปในปูน ก็จะหลุดออกมากับน้ำ ผู้ที่สอบก็ถือว่าไม่ผ่าน ต้องสอบใหม่ เมื่อสำเร็จจิตรกรรมคนเดียวในปีนั้น ท่านก็ให้โอวาท “อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก ฉันเองก็ยังศึกษา หาความรู้อยู่ตลอดเวลา”

       ผมเห็นท่านดูตำราแล้วโน้ตใจดวามเป็นภาษาอังกฤษง่าย ๆ เพื่อเตรียมการสอน แล้วท่านก็สอนเป็นภาษาไทยในห้องเรียนจากโน้ตนั้นเลย ท่านยังอบรมอีกว่า การที่จะไปมีอาชีพทางศิลปะนั้น บางอย่างจะต้องตีราคาให้ถูกต้อง เช่นว่า การทำงานจะต้องทำนานเท่าไหร่ เราจะต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง รวมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ด่าอาหาร คิดให้ถี่ถ้วน แต่ไม่ใช่ว่าแพงจนเกินไปหรือถูกจนเกินไป มีเพื่อนบ้านรุ่นน้องฝากปากกาปลอกทองยี่ห้อดี ๆ ให้ผมช่วยขาย นึกถึง ท่านเลยไปเสนอท่าน “อาจารย์ครับ ปากกาปลอกทองของดี ๆ ด้วย ไม่แพง” ท่านตอบว่า “ทำไมต้องใช้ของดี ๆ ราคาแพง ของราคาถูก ๆ ก็ใช้ได้ ไม่ต้องใช้ของโก้” 

 

     …วันหนึ่งผมขนสีไปที่ทำเนียบ รถยนต์ไม่ค่อยมี ต้องขึ้นรถม้า ผมรู้สึกอาย ไม่ค่อยอยากขึ้นรถม้า “นายเรียนจบแล้วอย่าจองหอง ฉันเองก็ยังต้องกวาดห้อง จัดหนังสือ ทำอะไร ๆ เอง” ขณะที่ผมนั่งรถเมล์ ได้เห็นท่านอยู่บนรถสามล้อเครื่อง เห็นท่านเปิดหนังสือดูบนรถ แสดงว่าท่านไม่เดยหยุดนิ่งที่จะหาความรู้ แม้ขณะเดินทางอยู่ ตอนนั้นท่านพักแถวสะพานควาย อาจารย์ศิลป์ท่านพูดภาษาฝรั่งเศสได้ด้วย ขณะที่ท่านปั้นรูปจากตัวจริงหลวงวิจิตรวาทการ ท่านคุยกันด้วยภาษาฝรั่งเศส คุยกันไปก็ทำงานกันไป พออาจารย์พระสาโรซรัตนนิมมานก็ลงมาร่วมสมทบ ทั้ง 3 คนก็พูดคุยกันด้วยภาษาฝรั่งเศส โดยที่ท่านก็ไม่ละการทำงาน

 

ผมมีโอกาสได้อยู่ทำงานที่หน้าห้องของอาจารย์ศิลป์เป็นปี ๆ ได้ช่วยเหลือท่านทำตำราวิชาทฤษฎีสี ทฤษฎองค์ประกอบศิลป์ และภาพแทรก ได้เห็นวิธีการทำงานของท่านซึ่งมีหลายขั้นตอน เช่น จะทำรูปใหญ่ต้องสเก็ตซ์รูปเล็กหลาย ๆแบบ และเอารูปดีที่สุดมาขยาย และบางครั้งท่านก็ขอดวามเห็นว่าอันไหนดี แสดงว่าท่านหยั่งความรู้สึกของผู้อื่นด้วยว่าผลงานที่ท่านทำนั้น คนอื่นจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ และผลงานในบทเรียนของนักศึกษา ท่านก็ให้โอกาสแก่อาจารย์ผู้ช่วยของท่านได้มีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ เราจึงได้ความรู้จากท่านมากมายในระยะเวลาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนกับท่านก็ดี ช่วงทำงานกับท่านก็ดี ผมได้จดจำอิริยาบถและพฤติกรรมของท่านมาใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองด้วย เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ท่านปรารถนาด้วยความเป็นห่วงลูกศิษย์อยู่บ่อย ๆ ก็คือ “นายอย่ากินเหล้านะ ลูกศิษย์ฉันหลายคนกินเหล้ากันจนเสียสุขภาพ กินเหล้าไทยที่ไม่เก็บไว้นาน ทำให้ร่างกายไม่ดี ไม่เหมือนเหล้าฝรั่งที่เขาเก็บไว้นานแล้วจึงเอามากิน”

“ศิลปะเป็นของสนุก ฉันเองไม่ค่อยมีเวลามากนัก เพราะฉันต้องทำการงานต่าง ๆ เตรียมการสอน งานราชการ ฉันไม่มีเวลา ฉันทำงานไม่มีวันหยุด ทั้งเสาร์ อาทิตย์ ไม่มีเวลาพักผ่อนเลย” ท่านถือว่างานนั้นสำคัญ ท่านทุ่มเทชีวิตให้กับงานจริง ๆ…


 


คำสอนจากอาจารย์
เรื่องเล่าโดยพินิจ  สุวรรณะบุย์ (ออกแบบประยุกต์ศิลป์)
โรงเรียนประณีตศิลปกรรม-โรงเรียนศิลปากร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(การออกแบบประยุกต์ศิลป์) พ.ศ. 2536

…พบท่านอาจารย์ครั้งแรกราว พ.ศ. 2527 ช่วงนั้นท่านกำลังปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และดวยเหตุที่อายุน้อยและตัวเล็กที่สุดในบรรดาลูกศิษย์ของท่าน ท่านจึงให้ฉายาว่า “หนูเล็ก”

สมัยนั้นท่านเป็นผู้สอนเองเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องนี้เป็นที่หนักใจไม่น้อยทั้งผู้ให้เเละผู้รับ เเต่ท่านเองก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะอธิบายให้ลูกศิษย์ทุกคนเข้าใจ ปีเเรกๆเราก็ยังฟังกันไม่ค่อยออกว่าท่าพูดอะไร เช่นคพว่า นับถือผี ที่ก็พูดเป็น “นับตู๋ปี๋” หรือ อยาบได๋ ความหมายของท่านก็คือ อยากได้ ฯ เลยพากันเเก้ปัญหาด้วยการจด จดกันละเอียดถี่ยิบเลยทีเดียว ทุกๆคำที่ได้ยิน แล้วค่อยมาช่วยกันอ่านเรียบเรียงและตีความใหม่อีกที สักพักก็ค่อยคุ้นหูขึ้น แต่มีคำเดียวที่ท่านมักติดอยู่ทุกที คือคำว่า สะดือ ท่านมักเรียก สะเดื๊อก ทุกที แม้ว่าท่านจะพยายามเเค่ไหนก็ตาม แต่พอคำเปรียบเปรยละก็… ท่านมักจะเปรยถึงความซนของบรรดาลูกศิษย์ว่า “ซนเหมือนลูกหมาเด็ก ๆ “ แทนที่พวกเราจะรู้สึกเจ็บเเสบ กลับเป็นเรื่องขบขันไปเสีย ก็ยังดีที่ท่านไม่เปรียบกับสัตว์ที่มีลักษณะคลายคนมากๆ แต่ที่เจ็บแสบที่สุดคือ เวลาเราจับกลุ่มตั้งวงคุยกันไม่ทำงาน ท่านก็จะเดินเข้ามาและทำลอยหน้าถามทำนองประชดว่า “ต้องการกาแฟอีกถ้วยไหมนาย”

 

 

 

และทุกๆวันที่ 15 กันยายน บรรดาลูกศิษย์ทุกรุ่นก็ถือเป็นการชุมนุมพบปะสังสรรค์ และร่วมรับประทานอาหารกัน จำได้ว่ามีอยู่ปีหนึ่ง ได้จัดการแสดงกัน โดยมีอาจารย์พิมาน มูลประมุข กรุณาเเต่งบทร้องให้ แต่เพราะเวลากระทันหันและอ่อนซ้อมกันไปหน่อย พอแสดงเข้าจริงๆเลยจำเนื้อเพลงได้ไม่หมด อึกๆอักๆ จนทำให้หยุดชะงักกลางคัน ไม่รู้ว่าท่านอาจารย์รู้สึกสนุกหรือสงสารแกมสังเวช จึงสงเคราะห์ลูกศิษย์ด้วยการลุกจากโต๊ะอาหารมาสัพยอก ทำท่าไขลานที่ตัวผม และพูดเเกมเเซวว่า “อย่าหยุดสิ” เล่นเอาบรรยากาศกลายเป็นครื้นเครงไปเลย…

 

 


 

คำสอนจากอาจารย์
เรื่องเล่าโดยพูน เกษจำรัส รุ่น1 

คณะจิตรกรรม – ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร(2486)
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะภาพถ่าย) พ.ศ. 2531
ศาสตราจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

 

 

 

 

“…สมัยแรกที่ห้องเรียนยังเป็นโรงไม้เตี้ยๆเพียง 2 – 3 หลัง และบริเวณของมหาวิทยาลัยก็มีเพียงสุดเขตตรงตึกหลังรูปปั้นของอาจารย์ศิลป์เท่านั้น(ปัจจุบันคือตึกคณะมัณฑนศิลป์) เลยจากนั้นไปก็เป็นเขตกำแพงวังท่าพระ ดูเอาเถอะ พื้นที่ๆเรียน ออกจะคับแคบ แต่หัวใจของนักเรียนที่เรียนอยู่ที่นี่กลับพองโต สดใสเบิกบาน ขยันกันเหมือนเป็นคนบ้า…

 

       

     …สมัยนั้นอาจารย์ศิลป์ท่านยังคงสอนนักศึกษาทุกชั้นเรียน ยิ่งพอเป็นมหาวิทยาลัยแล้วและเริ่มมีการจัดตารางสอนแล้ว สถาบันแห่งอื่นๆก็ยังยัดเยียดนักศึกษามาให้อาจารย์ศิลป์ท่านสอนอีกหลายแห่ง ที่จำได้แน่ๆก็เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ที่อาจารย์ท่านได้ไปช่วยสอนทั้งกายวิภาค ประวัติศาสตร์ศิลป์ จิตรกรรม และประติมากรรม กลายเป็นว่าท่านทำงานทั้งหนักและทั้งเหนื่อย แต่แม้ว่าท่านจะทำงานหนัก ท่านก็ยังไม่แสดงทีท่าเกียจคร้าน หรือเห็นเหนื่อยให้เห็น ท่านมักจะเดินตรวจทุกๆชั้นเรียน ใครนั่งเฉยๆเป็นต้องถูกไล่ ส่วนมากถ้าท่านจำชื่อไม่ได้ท่านก็จะเรียกผู้ชายว่า นาย… ส่วนผู้หญิงท่านก็เรียนเเทนว่า เธอ… แต่น้อยคนนักที่ท่าจะจำไม่ได้ เวลาทำงานปฎิบัติ เราก็จะต้องยืน ไม่ว่าจะเป็นวิชาปั้น เขียน หรือแกะสลัก เพราะท่านบอกว่าการยืนเวลาทำงานนั้นจะทำให้คล่องตัวกว่า เลยทำให้ติดเป็นนิสัย “นาย…นาย… ทำงาน …ทำงาน… ทำงาน” ท่านมักจะพูดเสมอ ดังนั้นสมัยที่เรียน กล้าท้าได้เลยว่า จะมาหาคนที่เอาเเต่นั่งคิด นอนฝัน หรือนั่งผิงจนต้นจันที่ข้างลานเอนนั้นไม่มีเลย ผิดกับเดี๋ยวนี้ มีคนนั่งคิดนั่งฝันกันได้นานกันเป็นชั่วโมง ทั้งๆที่ท่านอาจารย์ศิลป์สั่งนักสั่งหนาว่า “พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว” ช่างไม่นึกถึงคำพูดของอาจารย์เสียบ้างเลย…

—————  นักศึกษาคณะจิตกรรมรุ่น 1 ถ่ายภาพร่วมกับคณาจารย์หน้าตึกกรมศิลปากร  ——————  


คำสอนจากอาจารย์
เรื่องเล่าโดยสวัสดิ์  ตันติสุข รุ่น1
คณะจิตรกรรม – ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร(2486)ศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาจิตรกรรม พ.ศ. 2498
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) พ.ศ. 25314
อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์

 

 

…เมื่อผมเอารูปสีน้ำให้อาจาร์ยดูในช่วงก่อนเที่ยของวันหนึ่ง เป็นภาพทิวทัศน์ซึ่งผมเขียนบนสะพานพุทธยอดฟ้าฯ ช่วงหน้าหนาวเลยมีหมอกจางๆ ริมฝั่งแม่น้ำสองข้างเป็นเงาตะคุ่มๆไม่ชัดมาก ผมตั้งใจเขียนเป็นพิเศษ เพราะทุกๆเช้าผมจะเดินผ่านเพื่อไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งวันนั้นช่วงเช้าเป็นวิชากายวิภาค เป็นวิชาที่ผมชอบน้อยที่สุดเลยหนีไปเขียนรูปสีน้ำแทน พอยื่นให้ท่านดูท่านจึงเงยขึ้นมาจ้องหน้าผม “นายไม่ได้เรียนanatomyเมื่อเช้านี้สิ แล้วนายจะรู้anatomyได้ยังไง” ผมตีหน้าแหย เพราะหนีเรียนจริงๆ จดก็ไม่ได้จด เพราะปรกติท่านจะเขียนบนกระดานดำให้ดู และให้นักศึกษาคัดลอกตาม…

 

“ทุกๆวิชาสำคัญเท่ากันนะนาย ตกไม่ได้เข้าใจไหม”
“ไม่เลว” …ท่านสรุปถึงสิ่งที่ผมทำผิดคือหนีเรียนในเข้าวันนั้น …“ไม่เลว เเต่ไม่ดี”

   ผมรับคำท่านอย่างอ่อยๆ หลังจากนั้นก็ไม่เคยขาดเรียนanatomyอีกเลย สำหรับเรื่องนี้ผมนำมาสอนนักเรียนหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้เป็นคนมีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และให้ความสำคัญกับทุกๆวิชาที่เราได้เลือก…”


 

      …คอลัมนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ผู้เขียนหยิบยกมาให้ได้อ่านกัน สำหรับใครที่อยากอ่านหรืออยากรับฟังเพิ่มเติม เรื่องราวอื่นๆที่น่าสนใจต่อ ก็สามารถติดต่อได้ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ หรืออัมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์สามารถสั่งซื้อหนังสือ อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีประมาณ  672 หน้า สำหรับคอลั่มหน้า วลีเด็ด ประโยคฮ๊อตประโยคไหนที่เราจะหยิบมานำเสนอ เล่าที่มาต่อนั้น  รอติดตามกันให้ได้นะคะ…

 

 

และเช่นเคยต้องขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบหลักๆจาก

– หนังสืออาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ ฉบับที่ 3 โดย สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี
– และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ด้วยค่ะ

หากผิดพลาดประการใด ทางผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ โอกาศนี้ และหากอยากรับฟังเป็นคลิปเสียง สามารถรับฟัง YouTube ทางช่อง

GREAT STARS OFFICIAL

 

ตอนที่ 1

หรือสามารถแสกนผ่านทางคิวอาร์โค้ดด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ

 

 

เรียบเรียงเนื้อหาโดย…พาฝัน