“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”

“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

อมตะวาจาที่ตรึงใจยังลูกศิษย์ ทุกๆคน

 

….แต่ทว่า กว่าจะมีอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ให้เราเห็นอยู่จวบจนถึงปัจจุปันนี้ ใครจะไปคิดว่าต้องผ่านระยะเวลา ผ่านเรื่องราว เรื่องเล่า ที่น่าสนใจ จนเกิดมีวลีที่ตัดพ้อว่า “ไม่มีอนุสาวรีย์ให้แก่ผู้ที่สร้างอนุสาวรีย์” นี้ขึ้นมา

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งในสาระศิลป์ 

 

…….. เรื่องราวของชายหนุ่ม บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทยนั้นยังไม่จบ ในครั้งนี้สาระศิลป์ขอหยิบยกเอาบทความที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสได้อ่าน “ไม่มีอนุสาวรีย์ให้แก่ผู้ที่สร้างอนุสาวรีย์” แค่หัวข้อบทความ ก็ดูน่าสนใจไม่น้อยกันเลยใช่ไหมคะ ……….
       ใครจะคาดคิดว่า กว่าจะได้มีอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นั้นต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจจากบุคลต่างๆมากเพียงใด แถมยังไม่ค่อยได้เห็นบทความ หรือบันทึกใดๆในการก่อตั้ง หรือก่อสร้างเลย ถือเป็นความโชคดีที่ทางผู้เขียนได้พบบทความนี้ เลยขออนุญาตินำเอามาแบ่งบันให้ชาวสาระศิลป์ได้อ่านกัน

    บทความนี้ได้ตีพิมพ์ลง วารสารศิลป์ พีระศรี ปีที่3 ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2558 เป็นบทความที่เขียนขึ้นโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยบทความนี้มีชื่อว่า

 

“บันทึกความทรงจำ: บันทึกงานสร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี”

“Diary: The Construction of Professor Silpa Bhirasri Monument”

 

นิยามของอนุสาวรีย์

เป็นที่รู้กันดีว่า อนุสาวรีย์ คือสิ่งที่สร้างไว้เป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นมา  อนุสาวรีย์จึงสามารถเป็นได้ทั้งรูปประติมากรรม อาคารสถาปัตยกรรมหรือบริเวณที่ฝังศพ บางแห่งการสร้างอนุสาวรีย์นั้นอาจไม่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ตั้งก็ได้ แต่มีความหมายหรือความสำคัญต่อเหตุการณ์หรือสถานที่ใดๆก็ได้ สำหรับการสร้างอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์สถานมีขึ้นมาแล้วหลายพันปี นับแต่มนุษย์เริ่มมีการอยู่กันเป็นชุมชน มีการเลือกผู้นํา และมีการยกย่องวีรบุรุษ นักรบ หรือผู้นําในด้านจิตวิญญาณ เห็นได้จากการเขียนภาพของมนุษย์โบราณบนผนังถ้ำอายุเกือบสามหมื่นปีของฝรั่งเศส ซึ่งก็สามารถนับเป็นอนุสรณ์สถานของมนุษย์โบราณที่ได้บันทึกวีรกรรมและความเชื่อของตนเองไว้

 

มหาสฟิงซ์แห่งกิซ่าที่นั่งหมอบเฝ้าอยู่หน้าปิระมิด ของชาวอียิปต์โบราณ อนุสาวรีย์ของฟาโรห์ Khafre ผู้ยิ่งใหญ่แห่งปิระมิดทั้งสามของกิซ่าเสาโอเบลิสก์  หรือเสาเข็มที่สร้างด้วยหินของอียิปต์โบราณอายุราว 4,000  ปี  ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ของสุริยะเทพ รวมไปถึงในทางศาสนาที่มีการสร้างเสาอโศก สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่สร้างขึ้นเมื่อไปพบสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระบรมศาสดาและการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยของพระองค์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการสร้างสัญลักษณ์ของศาสนา เช่น รอยพระพุทธบาท เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่พระพุทธองค์ในการประทานพระธรรม  การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่บนหน้าผาแห่งบามิยัน พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ศรีลังกา จีนและญี่ปุ่น แม้กระทั่งสถาปัตยกรรมโบสถ์ วิหาร ก็นับเป็นอนุสรณ์สถานเช่นกัน

 

แต่สำหรับคนไทยนั้น การสร้างอนุสรณ์ถือเป็นการสร้างเพื่อระลึกถึงคุณความดีของบุคคล ดังนั้นจึงเป็นการสร้างพระสถูปเจดีย์ หรือบางครั้งก็สร้างเป็นโบสถ์ วิหารและพระพุทธรูป ซึ่งไม่ค่อยนิยมที่จะสร้างอนุสาวรีย์รูปบุคคลการเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ในไทยนั้นมาเริ่มกันในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งและให้เริ่มมีการสร้าง “พระบรมรูปทรงม้า” เนื่องจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ปีพ.ศ. 2450 ที่ประชุมเสนาบดีในนามของประชาชนจึงพร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายเป็นของขวัญเมื่อเสด็จนิวัติสู่พระนครนับเป็นพระราชานุสาวรีย์รูปบุคคลแรก ที่ประดิษฐานกลางที่สาธารณะ ทรงทําลายความเชื่อแต่โบราณด้วยการเสด็จพระราชดําเนินเปิดอนุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง ต่อมาเมื่อโปรเฟสเซอร์คอร์ราโด  เฟโรชี หรือ ที่เรารู้จักกันในนามศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี ประติมากรชาวอิตาเลียนเข้ามารับราชการในตําาแหน่งช่างปั้นในช่วงในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 งานประติมากรรมกลางชุมชนสาธารณะจึงสืบต่อ โดยมีการสร้าง พระบรมรูปทรงม้า  พระราชานุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 พระบรมราชานุสาวรีย์ที่ 6  พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  และมีการสร้างอนุสรณ์วีรบุรุษสตรีคนสามัญอื่นๆเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี  อนุสารีย์วีรสตรีเมืองถลางและอนุสาวรีย์บุคคลที่มีขนาดใหญ่อีกมากมายที่ถูกสร้างขึ้นจากการออกแบบของศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี  อีกทั้งท่านยังทำให้เกิดการศึกษาที่เป็นระบบมหาวิทยาลัยขึ้น นับว่าท่านได้ทําคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

 

อนุสาวรีย์ของผู้สร้างอนุสาวรีย์

การสร้างอนุสาวรีย์ของศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี ที่เป็นผู้สร้างพระราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์อยู่เต็มประเทศนี้  หากจะให้ค้นหาบันทึกใดๆ กลับพบว่ายังไม่ค่อยมีใครบันทึกถึง การสร้างอนุสาวรีย์ที่แปลก แตกต่าง และไม่เหมือนการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งอื่นๆ อาจด้วยสาเหตุที่ท่านเป็นชาวต่างชาติและได้เข้ามาทํางานเป็นข้าราชการไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 ภาระหน้าที่ของการเป็นช่างปั้นผู้สร้างอนุสาวรีย์กลางที่สาธารณะทั้งหลายให้กับประเทศไทย

 

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หลังจากที่ท่านเสียชีวิตในปีพ.ศ. 2505 บรรดาศิษย์ของท่านก็ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวด้านจิตใจ สิ่งที่จะเป็นสัญลักษณ์อันเป็นเครื่องทดแทนความดีงามที่ท่านมีต่อสถาบันการศึกษา วงการศิลปะและประเทศชาติ ผู้ที่คิดได้น่าจะมีหลายคนแต่ก็ไม่สามารถทําได้ อาจเนื่องด้วยบารมี ความสามารถไม่เพียงพอจนกระทั่งเมื่ออาจารย์สนั่น ศิลากร ประติมากรศิษย์รักของท่านอาจารย์รุ่นแรก ที่ท่านไว้วางใจให้เป็นผู้ช่วยในการสร้างพระราชานุสาวรีย์หลายต่อหลายแห่งและเป็นอาจารย์ผู้สอนประติมากรรมและวิชากายวิภาคในคณะจิตรกรรมฯ ท่านได้เริ่มปั้นรูปเหมือน ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยืนเต็มตัว ขนาดเท่าจริงขึ้น ด้วยความรักและความคิดถึง โดยใช้ห้องปฏิบัติงานประติมากรรมเป็นห้องทํางาน โดยอ.เสวต เทศน์ธรรมเล่าว่าเคยเห็นเสก็ตช์ชิ้นอื่นของอาจารย์สนั่นด้วย

 

รูปประติมากรรมของอาจารย์ศิลป์อยู่ในชุดทํางานตามปกติที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์คุ้นเคย เสื้อแขนสั้นกางเกงทรงสูงเหนือพุง มือซ้ายถือหนังสือตํารา ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความรู้แนบอยู่ข้างลําตัว มือขวางอข้อศอกยื่นมือออกเพียงเล็กน้อยและแบมือเป็นสัญลักษณ์ที่อาจารย์สนั่นแทนความหมายของการให้ อาจารย์สนั่นเริ่มงานของท่านอย่างเงียบๆ คล้ายกับเป็นความลับโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าท่านปั้นเอาไปทําไม  แต่คนที่อยู่แวดล้อมท่านต่างแวะเวียนกันเข้ามาชื่นชมกับรูปประติมากรรมอันงดงามนี้ ผลงานชิ้นนี้เริ่มปั้นในปีพ.ศ. 2509 หลังจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรีเสียชีวิตไปแล้ว 4 ปี

 

เมื่ออาจารย์สนั่นปั้นเสร็จก็ได้ส่งไปหล่อทองแดงยังโรงหล่อของคุณวิชิต  เชาว์สังเกตุ ที่อยู่หลังวัดระฆังโฆษิตาราม  โดยคุณวิชิตหล่อให้ฟรีโดยไม่คิดค่าดําเนินการ และวัสดุ ด้วยอยากตอบแทนบุญคุณของท่านอาจารย์ศิลป์ และอาจารย์สนั่นที่ทําให้มีอาชีพ เมื่อหล่อรูปท่านอาจารย์ศิลป์เสร็จก็บรรจุอัฐิของอาจารย์ไว้ที่ด้านในรูปปั้นบริเวณหัวเข่าด้านขวา และนํามาเก็บไว้ที่โรงหล่อของกรมศิลปากร ซึ่งในระยะแรกกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรยังเป็นส่วนเดียวกัน โดยรูปปั้นของท่านอาจารย์ศิลป์ยังคงถูกเก็บอยู่หลายปีโดยที่ยังไม่มีโอกาสจะติดตั้ง

 

อาจารย์สนั่น ศิลากร ประติมากรเอกมือขวาอาจารย์ศิลป์

 

สำหรับประวัติของ อาจารย์สนั่น ศิลากร ประติมากรเอกมือขวาอาจารย์ ท่านเกิดเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 เป็นคนบ้านหม้อ กรุงเทพฯ คุณพ่อรับราชการอยู่ในกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ท่านจึงมีโอกาสได้พบเห็นผลงานศิลปะที่อยู่ในกรมศิลปากรโดนเฉพาะฝีมือของศาสตราจารย์ศิลป์ที่ท่านประทับใจ เมื่อท่านอาจารย์ศิลป์ตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมท่านจึงได้ทดสอบเข้าเรียนเป็นรุ่นแรกและเรียนจบหลักสูตร 4 ปี ต่อมาอาจารย์สนั่นก็ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จนโรงเรียนประณีตศิลปกรรมเปลี่ยนเป็นมหาวิยาลัยศิลปากร และกลายเป็นผู้ช่วยคนสําคัญในการปั้นอนุสาวรีย์หลายต่อหลายชิ้นร่วมกับอาจารย์ศิลป์  เช่นรูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร  และงานเดียวที่เป็นฝีมือของท่านคือ อนุสาวรีย์พระบรมราชชนก ที่โรงพยาบาลศิริราช อนุสาวรีย์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้าตึกรัฐสภา  และยังมีอีกมากมาย รวมถึงอนุสาวรีย์อันสำคัญนี้ อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

    อาจารย์สนั่นได้ร่วมงานกับอาจารย์ศิลป์ ในฐานะมือขวา ท่านได้ช่วยงานอ.ศิลป์จนกระทั่งท่านเสียชีวิต และอาจารย์สนั่นก็ยังสืบทอดความรู้ ส่งต่อมาสู่ศิษย์ทั้งหลาย อาจารย์สนั่นได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาประติมากรรมเมื่อปีพ.ศ. 2524 จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นคนแรก ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่โคนลิ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 สิริรวมอายุ 67 ปี

คืนกําเนิดอนุสาวรีย์อันระทึกใจ

         แม้ยังไม่เคยมีใครเขียนบันทึกถึงคืนวันก่อตั้งอนุสาวรีย์ของท่านศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี ซึ่งเป็นการตั้งอนุสาวรีย์ที่แปลกประหลาดที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ซึ่งเป็นโชคดีที่เผอิญอยู่ในช่วงเวลาที่อาจารย์พิษณุกําลังศึกษาอยู่ในคณะจิตรกรรมฯ ชั้นปีที่ 3 พอดี เลยทำให้อาจารย์พิษณุได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเล่าสู่กันฟัง

ถือเป็นประสบการณ์ที่อาจารย์พิษณุได้ประสบพบเห็นเองอีกทั้งยังได้ผสมกับข้อมูลที่ได้รับจากการพบปะพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์สน สีมาตรัง ซึ่งท่านเป็นนักศึกษารุ่นก่อนอาจารย์พิษณุ 1 ปี ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะนักศึกษา คณะจิตรกรรมฯ ถือว่าท่านเป็นอีกหนึ่งบุคคลสําคัญที่ทําให้การเกิดการรวบรวมประวัติศาสตร์การกําเนิดอนุ-สาวรีย์ครั้งสําคัญนี้

 

ในช่วงเวลาเย็นพลบค่ำของวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 มีเหตุการณ์ชุลมุนของผู้คนตรงบริเวณหลังลานสนามของคณะจิตรกรรมฯ ขณะนั้นเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างสํานักอธิการบดีกับ โรงปั้นหล่อกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ปัจจุบันคือหอศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ที่อยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์ศิลป์  พีระศรี  มีอาจารย์และนักศึกษานับร้อยมาชุมนุมกันในวันสุกดิบเพื่อระลึกถึงวันก่อนวันคล้ายวันเสียชีวิตท่านอาจารย์ศิลป์ ซึ่งก็คือวันที่ 14 พฤษภาคม มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งช่วยกันยกประติมากรรมรูปคนยืนในแนวนอน และช่วยกันส่งต่อจนสู่ลานกลางของคณะฯ  ท่ามกลางเสียงโหวกเหวกสั่งการของนักศึกษารุ่นพี่และอาจารย์ผู้ใหญ่คอยยืนสั่งการช่วยเหลือกันและกันอยู่โดยรอบ  ซึ่งรูปประติมากรรมหล่อสําริดรูปคนยืนนั่นคือ ประติมากรรมศาสตราจารย์ศิลป์ที่อาจารย์สนั่น เป็นผู้ปั้นนั่นเอง โดยจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์อยู่ที่ คุณไข่มุกด์ ชูโต ศิษย์เก่าและพรรคพวกเป็นผู้ไปบุกพังห้องคณบดีคณะจิตรกรรมฯ ที่เป็นที่เก็บรูปประติมากรรมท่านอาจารย์ศิลป์ไว้ จากนั้นก็ช่วยกันยกมาไว้ที่ลานกลางสนามของคณะฯไม่มีใครทราบว่ารูป  ประติมากรรมท่านอาจารย์ศิลป์นี้ไปอยู่ที่ห้องคณบดีคณะจิตรกรรมฯอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ได้อย่างไร คาดว่าน่าจะมี 2 กรณี คือ หนึ่ง  ท่านเอารูปประติมากรรมนี้มาเก็บไว้เอง โดยที่มีแผนการติดตั้งเป็นอนุสาวรีย์ในอนาคต สอง ท่านเป็นผู้เอารูปประติมากรรมมาเก็บไว้ โดยจุดประสงค์ที่จะยึดเอาไว้ไม่ให้ใครเอาไปติดตั้งเนื่องจากในช่วงเวลานั้นการก่อตั้งอนุสาวรีย์ชาวต่างชาติในประเทศไทยถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ดังนั้นรูปประติมากรรมของอ.ศิลป์ที่ท่านอาจารย์สนั่นดําเนินการปั้นหล่อเสร็จแล้ว จึงไม่สามารถติดตั้งในที่สาธารณะได้ เนื่องจากเหตุผลกรณีที่ 2 ที่ได้เล่าไว้แล้ว กล่าวคือการขาดผู้นําและเกรงกลัวกฎหมายในเรื่องของการสร้างอนุสาวรีย์ของคนต่างชาติ

เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่เก็บกดอยู่ในใจของบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายมานาน เนื่องจากท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นที่รักของทุกคนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านถือว่าเป็นผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ อุทิศตัวตนให้กับการศึกษาและศิลปะมาแล้วอย่างที่ไม่มีผู้ใดเทียบได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้นำไปสู่คำกล่าวที่น่าเจ็บใจช้ำว่า

 

“ไม่มีอนุสาวรีย์ให้แก่ผู้ที่สร้างอนุสาวรีย์”

และเมื่อหลังจากยกรูปประติมากรรมมาวางที่ลานสนามแล้ว มีการขนอิฐเผาไฟที่ใช้ในการเผาเททองจากโรงหล่อมาก่อเป็นฐานของรูปปั้นชั่วคราว ในคืนนั้นท่ามกลางแสงไฟวอบแวมจากเปลวเทียน ตะเกียงและไฟฉาย บรรยากาศที่มีบรรดาเหล่านักศึกษา อาจารย์ และศิษย์เก่า รวมถึงผู้ที่ยังระลึกถึงท่านอ.ศิลป์ได้ช่วยกันขุดดิน พร้อมกับก่อสร้างฐานอนุสาวรีย์ มีเสียงร่ําไห้และเสียงเพลงซานตาลูเซียร้องคลอไปตลอดระยะเวลาที่ทำการก่อสร้างกัน เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีใครคิดจะบันทึกภาพที่เป็นประวัติศาสตร์ในค่ำคืนนั้นไว้เลย

หลังจากการก่อสร้างฐานและอนุสาวรีย์ของอาจารย์ศิลป์ เนื่องจากส่วนฐานใช้อิฐในการสร้างทำให้ฐานอิฐดูซอมซ่อ และยิ่งวางอยู่บนริมถนน ดูไม่สมเกียรติกับผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรและผู้ที่เป็นบิดาของศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยทำให้เกิดความสลดหดหู่กับอนุสาวรีย์เป็นอย่างมาก อีก 4 เดือนต่อมา คือราว ๆ ก่อนวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2512 ซึ่งโดยปรกติแล้วถือเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่บรรดาลูกศิษย์มักจะจัดงานวันเกิดเล็กๆให้ท่านอยู่ทุกๆ  ปี  จึงได้มีการเปลี่ยนฐานและยกอนุสาวรีย์ขึ้นบนลานพร้อมกับจัดทําฐานที่จัดทําด้วยการใช้หินทรายสวยงามพร้อมคําาจารึกอย่างสมเกียรติ

“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร

ชาตะ ๑๕ กันยายน ๒๔๓๕
มรณะ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๐๕

อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ก่อนวันคล้ายวันเกิดและทันวันที่ 15 กันยายน 2512 ในปีนั้นพอดี แต่อย่างไรก็ตามการจัดทําอนุสาวรีย์นี้เสร็จสิ้นด้วยความเคลื่อนไหวอย่างจริงจังของนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ ในช่วงเวลานั้นโดยมีท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ที่คอยให้คําาปรึกษาอยู่เบื้องหลัง ด้วยเหตุที่ความเกรงกลัวอันเกิดจากการกระทําที่คิดว่าผิดกฎหมายยังอยู่ตลอดเวลา

สน สีมาตรัง หัวหน้าคณะนักศึกษาพร้อมกับ พิจารณ์ ตังคไพศาล รองหัวหน้าคณะฯ เข้าพบ คุณมีเซียม ยิบอินซอย ผู้ที่เคยศึกษาที่คณะจิตรกรและประติมากร อีกทั้งยังเป็นศิษย์ท่านอาจารย์ศิลป์ และท่านยังมีฐานะที่เคยอุปถัมภ์คณะฯ มาตลอด ขอเจรจาในการขอทุนเพื่อนํามาใช้ในการทําฐานอนุสาวรีย์ คุณมีเซียมท่านยินดีให้เงินมา 30,000 บาท โดยให้ไปรับเงินที่ท่านอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ โดยอาจารย์ชลูดเป็นผู้แนะนําให้ใช้หินทรายจากร้านทําฮวงจุ้ยที่หินกอง  สระบุรี อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน เป็นผู้ออกแบบฐานโดยใช้หินหนา 6 นิ้ว เข้ามุม 45 องศา ประกอบฐานที่ข้างในเป็นแกนอิฐส่วนข้อความที่จารึกลงบนฐานด้วยการสลักหินเป็นตัวอักษรภาษาไทยโดยขอความเห็นจากรองอธิการบดีซึ่งตอนนั่นคือ ศาสตราจารย์แสวง สดประเสริฐ แต่แรกจะใช้คําาว่า “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย”  แต่ศาสตราจารย์แสวงท่านให้ความเห็นว่า ควรเอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยของเราดีกว่า ดังนั้นจึงได้กลายเป็น “ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร” ซึ่งสน สีมาตรังเป็นผู้คิดข้อความ และรุ่งทิพย์ เตียวตระกูลเป็นผู้ออกแบบตัวหนังสือที่ปรากฏตรงฐานอนุสาวรีย์แห่งนี้ ดังนั้นอนุสาวรีย์์นี้จึงมีเรื่องเล่าในการสร้างขึ้นอย่างแปลกประหลาด โดยความร่วมมือทั้งของนักศึกษา, ผู้ที่รักท่านอาจารย์ โดยไม่มีส่วนราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้แต่พิธีเปิดก็เป็นแบบเรียบง่ายโดยเชิญ คุณมีเซียม ยิบอินซอย เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2512 น่าเสียดายที่รูปแบบของฐานอนุสาวรีย์ที่สวยงามเป็นหินทรายเหมาะสมกับบุคลิกของท่านอาจารย์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในสมัย ศาสตราจารย์ตรึงใจ บูรณสมภพ เป็นอธิการบดี (พ.ศ. 2539-2543) ซึ่งเป็นแบบที่เราเห็นอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายที่ว่าด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ในราชอาณาจักร อาจารย์พิษณุได้ไปค้นเจอว่าคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลในการจัดสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติเมื่อปีพ.ศ. 2520 หลังจากการสร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีแล้ว 8 ปี

   

การสร้างอนุสาวรีย์ศิลป์ พีระศรีหมายเลข 2 และ 3

 

สำหรับอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี  ที่สร้างขึ้นกลางลานของคณะจิตรกรรมฯ  ในปีพ.ศ. 2512  นอกจากจะได้กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านจิตใจและเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่รักงานสร้างสรรค์ทางศิลปะแล้ว อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังเป็นจุดเริ่มของการสร้างสรรค์ เป็นกําาลังใจและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เคารพกราบไหว้ของผู้คน ไม่มีใครที่เกิดขึ้นในยุคสมัยต่อมาจะลืมชาวอิตาเลียน โปรเฟสเซอร์คอร์ราโด เฟโรซี ผู้นี้ได้ และเมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรได้เปิดวิทยาเขตใหม่ ณ พระราชวังสนามจันทร์ เมื่อปีพ.ศ. 2511 ทางซีกนครปฐม ทางมหาวิทยาลัยเริ่มเป็นปึกแผ่นโดยมีคณะน้องใหม่เพิ่มขึ้น เช่น คณะอักษรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการศึกษา ต่อมาในปีพ.ศ. 2545 มีการจัดตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ที่จังหวัดเพชรบุรีเป็น คณะวิชาการจัดการและคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารวิทยาเขตแห่งใหม่ 2 ที่ทั้งที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดเพชรบุรี นับเป็นผลพวงมาจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรตามที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เริ่มต้นไว้ที่วังท่าพระ จึงมีความคิดที่ว่าน่าจะมีศูนย์รวมหรือสัญลักษณ์ของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย  ไว้สําหรับการระลึกถึง และพิธีกรรมของแต่ละวิทยาเขต

 แต่การสร้างอนุสาวรีย์ของบุคคลย่อมเป็นไปตามความยินยอมพร้อมใจของแต่ละพื้นที่ อาจารย์พิษณุผู้ที่ได้เขียนบทความบันทึกนี้และถือว่ามีบทบาทในการสร้างอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี 2 และ 3 เองมีก็ความเห็นว่าความจําเป็นในการสร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีนั้น ทั้งสองวิทยาเขตก็ถือว่าควรมีอนุสาวรีย์ไว้ เนื่องจากท่านคือผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย หากแต่การสร้างอนุสาวรีย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ ก็จะต้องไม่สร้างความขัดแย้งใดๆ  ขึ้นอันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติยศและคุณงามความดีที่ท่านทําไว้ให้แก่มหาวิทยาลัย และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนําอนุสาวรีย์ของท่านไปตั้งไว้ตามอําเภอใจ

    ด้วยความคิดเรื่องการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งที่ 2 เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ได้รอจังหวะที่เหมาะสมจึงได้เริ่มต้นดําเนินการในปีพ.ศ. 2552 แต่เดิมที่ยังรีรอที่จะเสนอความคิดกับทางมหาวิทยาลัยแต่ละวิทยาเขต เพราะวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์นั้นมีอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อยู่แล้วที่หน้าคณะศึกษาศาสตร์ เมื่อคิดจะมีอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรีเพิ่มขึ้น  จึงเกรงว่าจะเป็นที่ขัดแย้งกับผู้ที่เคารพนับถืออนุสาวรีย์เดิมที่มีอยู่และหากจะติดตั้ง จะหาสถานที่ตั้งที่ใดจึงเหมาะสม จึงมีการสอบถามความคิดเห็นของทางวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ผลตอบรับสำหรับทางอาจารย์ และชุมชนที่วิทยาเขตสนามจันทร์นั้นมีความยินดีอย่างมากที่จะมีอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และสําหรับวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีเองในช่วงเวลาที่ได้ปรึกษากับคณบดีเทคโนโลยีคณะสารสนเทศและการสื่อสารในช่วงเวลานั้นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี ท่านเองก็มีความต้องการอนุสาวรีย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพราะที่นั่นไม่มีศูนย์กลางหรือศูนย์รวมจิตใจ อีกทั้งเป็นวิทยาเขตที่อยู่ห่างไกล

 

 

แต่เดิมอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์นั้นอาภัพที่ก่อสร้างขึ้นด้วยความบังเอิญและไม่เป็นแบบของราชการ อาจารย์พิษณุเลยมาคิดเอาเองว่า น่าจะคิดแบบให้สําเร็จก่อนทํา ทำให้เห็นรูปแบบของอนุสาวรีย์ทั้งสองแห่งที่มีภาพชัดเจนแล้วจึงค่อยเสนอมหาวิทยาลัยแต่ละวิทยาเขต ส่วนมหาวิทยาลัยจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่จะเก็บแบบไว้เสนออีกต่อไปจนกว่าจะได้เห็นอนุสรณ์สถานของท่านอาจารย์ในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งนี้

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิต แม้ไม่ใช่สถาปนิก ไม่ใช่นักออกแบบอนุสาวรีย์  แต่ได้เคยเห็นแบบอนุสาวรีย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วมากมาย พอเข้าใจในเรื่องของความงามของประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อม จึงมั่นใจว่าจะทําได้ และเริ่มศึกษาแบบอนุสาวรีย์จากต่างชาติที่เห็นว่างดงามและสง่างาม เหมาะสมและเป็นเกียรติยศแก่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

หลักการเริ่มแรกอาจารย์ พิษณุ ยึดถือเอาประติมากรรมเดิมในแบบที่วังท่าพระ ที่ท่านอาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ ปั้นไว้ในปีพ.ศ. 2509 โดยจะไม่มีการเปลี่ยนหรือดัดแปลงใดๆ ด้วยอาจารย์ให้เหตุผลว่า 1.เป็นผลงานของอาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ ซึ่งเป็นบรมครูทางประติมากรรม 2.เป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนรับรู้ถึงบุคลิกและเข้าใจว่าสิ่งนี้คืออาจารย์ศิลป์อยู่แล้วทั้งประเทศ  3.การเปลี่ยนแปลงรูปปั้นใหม่จะมีปัญหาตามมาทันทีว่าใครจะปั้น ปั้นแล้วจะเหมือนไหม จะสู้ท่านอาจารย์สนั่นได้หรือไม่ เหลือแต่เพียงฐานเท่านั้นที่เราจะต้องออกแบบใหม่ให้ส่งเสริมประติมากรรมที่มีอยู่และจะต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่จะเอาไปติดตั้งอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีอีกด้วย

ดังนั้นอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีหมายเลข 2 ณ พระราชวังสนามจันทร์ อาจารย์พิษณุได้คํานึงถึงพื้นที่ ที่วิทยาเขตนี้ไม่กว้างขวางมากนัก และมีหมู่ต้นไม้และสนามพอควร จึงเห็นว่าอนุสาวรีย์นี้น่าจะตั้งอยู่ในสวนที่มีร่มไม้ เป็นอนุสาวรีย์เล็กๆ ที่เป็นกันเอง ไม่เป็นแบบพิธีกรรมมากนัก ผู้ที่เข้าชมและไปคารวะน่าจะเดินเข้าไปใกล้ชิดและสัมผัสอนุสาวรีย์ได้

 อาจารย์ พิษณุนึกถึงปีกด้านข้างของอนุสาวรีย์ทั้งสองด้าน ที่น่าจะแสดงถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ของอาจารย์และคําสดุดีชีวิตและการทํางานของอาจารย์ศิลป์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษซึ่งไม่ค่อยมี่ให้เห็นและทํากันในประเทศของเรา สําหรับผลงานที่จะนํามาประดับที่ฐานอนุสาวรีย์ของท่านอาจารย์ นั้นมีปัญหาอยู่ที่ผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่านที่เรารู้จักกันดีนั้นเป็นงานที่ทําอยู่ในเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ไทยซึ่งไม่อาจนําไปประดับที่ฐานเพื่อส่งเสริมบารมีของท่านอาจารย์ได้ จึงต้องย้อนไปเอาผลงานเมื่อครั้งที่ท่านทําไว้ที่ประเทศอิตาลีก่อนที่จะเดินทางมาสู่สยาม เช่น ส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์แห่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ปอร์โตเฟอรริโอ ที่เกาะเอลบ้า รูปสลักหินอ่อนนูนสูง Fantoni Sellon อนุสรณ์สถาน เดกกลี อัลลรี นครฟลอเรนซ์และงานออกแบบป้ายโรงเรียนมัณฑนศิลป์แห่งฟลอเรนซ์

ปัญหาที่ติดตามมาคืองานประติมากรรมผลงานท่านอาจารย์ศิลป์จําเป็นต้องใช้ประติมากรฝีมือดีมาทํางานจําลอง โดยภาพอาจารย์จะต้องไม่เกิดความเสียหาย ส่วนฐานของรูปประติมากรรมอนุสาวรีย์ก็ได้จําลองฐานหินทรายแบบเดิม โดยยังคงทั้งรูปแบบและขนาดเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้เหมือนกับฐานหินทรายเมื่อครั้งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2512

 

อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หมายเลข 3 ณ วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

 

สําหรับวิทยาเขตเพชรบุรี เป็นวิทยาเขตใหม่ที่มีพื้นที่กว้างขวางมากมาย ประโยชน์ใช้สอยน่าจะเป็นที่ประกอบพิธีได้ ใช้เป็นที่รับแขกผู้มาเยี่ยมเยือนถ่ายรูปกับอนุสาวรีย์โดยเฉพาะกับในวันรับพระราชทานปริญญา อาจารย์ พิษณุ จึงออกแบบให้เป็นลานกว้าง มีบันไดหลายขั้นเพื่อให้ยืนถ่ายรูปได้ อนุสาวรีย์อยู่บนฐานที่มีความสูงสง่า ดูเป็นพิธีการ ด้านหลังของอนุสาวรีย์มีผนังเป็นรูปโค้งเกือกม้า ที่ผนังจารึกชื่อท่านอาจารย์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี 2435-2505
Professor Corrado Feroci 1892-1962

อนุสาวรีย์แห่งนี้จะเรียบง่าย โอ่โถง สง่างาม ไม่มีรายละเอียดเพียงแต่เน้นพื้นที่ว่างที่งดงาม โดยอาจารย์พิษณุ ได้เลือกแบบอนุสาวรีย์เป็นงานของสถาปนิกชาวอเมริกันคนเดียวกันทั้งสองแบบ คือ Stanford White แบบแรกนั้นอยู่ที่นิวยอร์ค Madison Square Garden และแบบที่สองอยู่ที่ Springfield แมสซาชูเสตต์ โดยดัดแปลงรายละเอียดให้เหมาะสม

 

การเริ่มต้นของการทํางาน สร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีหมายเลข 2 และ 3

อาจารย์พิษณุ เป็นผู้ทําการร่างภาพอนุสาวรีย์ทั้งสองแบบ เมื่อเสร็จก็ได้ส่งหนังสือผ่านทางนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ศาสตราจารย์คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ และอีกฉบับส่งถึงท่านอธิการบดี ดร.อุทัย ดุลยเกษม (ในสมัยนั้น) พร้อมแบบร่างและแนวความคิดเหตุผลในการจัดสร้าง ท่านอธิการบดีก็นําเข้าที่ประชุมคณบดีเพื่อส่งต่อถึงสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ในครั้งที่ 17/2552  วันอังคารที่ 22 กันยายน 2552 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้สนับสนุนโครงการนี้อย่างจริงจังร่วมกับคณะจิตรกรรมฯ  และสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร  แต่ได้ดําเนินการสร้างจริงๆในสมัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช เป็นอธิการบดี หนังสือที่ส่งถึงท่านนายกสภาฯและอธิการบดีลงวันที่ 8  กันยายน 2552  แจ้งถึงสถานที่ตั้งโดยกําาหนดให้เป็นบริเวณกลุ่มอาคารเรียนด้านศิลปะคือคณะจิตรกรรมฯ  มัณฑนศิลป์และสถาปัตยกรรม แต่ที่ประชุมมีความเห็นว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย อนุสาวรีย์ของท่านจึงน่าจะอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางซึ่งต่อมาจึงได้ค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสมและได้แก่บริเวณเนินดินข้างสระน้ำหน้าสํานักงานอธิการบดี โครงการนี้ผ่านการพิจารณาโดยที่ปรึกษาศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ และอาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน และประติมากรผู้ปั้นผลงานของท่านอาจารย์ศิลป์บริเวณฐานอนุสาวรีย์หมายเลข 2 วิทยาเขตสนามจันทร์นั้น ปั้นโดยโดยอาจารย์อดิเรก โลหะกุล และอาจารย์มานะ เอี่ยมวัฒนะ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจําภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมฯ อนุสาวรีย์หมายเลข 2 เสร็จสมบูรณ์ในวันรับพระราชทานปริญญา วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ส่วนอนุสาวรีย์หมายเลข 3 ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เสร็จสมบูรณ์ในวันศิลป์ พีระศรี 15 กันยายน 2558

และแล้วการสร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ทั้งสองแห่ง โดยขยายอาณาเขตจากวังท่าพระไปสู่นครปฐมและเพชรบุรีก็สําเร็จลุล่วงไปด้วยดี ถือว่าเป็นโครงการที่เริ่มต้นจากบุคคลสู่ความเห็นชอบของมหาวิทยาลัยซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้  ถึงแม้ว่าใช้เวลานานกว่าที่คิดแต่ก็เสร็จสิ้นโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ ซึ่งก็ต้องขอบคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดนี้ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช  อธิการบดี  รองอธิการบดี  พระราชวังสนามจันทร์ รองศาสตราจารย์คณิต  เขียววิชัยรองอธิการบดีเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดาวลอย กาญจนมณีเสถียร และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ดร.นนท์ คุณค้ำชู ท่านที่ปรึกษาและประติมากรทุกๆท่าน ที่มีส่วนร่วมทํางานโดยไม่มีผลประโยชน์ใดๆ  งานเหล่านี้ไม่ใช่งานประจําแต่เป็นงานพิเศษที่งอกเงยขึ้นมา จะทําก็ได้ไม่ทําก็ได้ เพียงแต่เป็นงานจากความรักและเพื่อบูชาต่อผู้มีพระคุณ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ด้วยแรงผลักดันนี้จึงทำให้ได้เห็นความสําเร็จอันน่าชื่นใจ ของอนุสาวรีย์ทั้ง 3 แห่ง และน่าจะงอกเงยต่อไปตามความเจริญของมหาวิทยาลัยศิลปากรในวิทยาเขตอื่นๆในอนาคต

 

วันรดน้ำดําหัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

    หากจะให้พูดถึงวันรดน้ำดําหัว ถือเป็นประเพณีไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ลูกหลาน ลูกศิษย์ จะพากันกลับบ้านเพื่อกราบไหว้เคารพครูบาอาจารย์และญาติผู้ใหญ่  ขอพรให้เป็นสิริมงคล ซึ่งทางภาคเหนือก็จะเรียกว่า “รดน้ำดําหัว”  สำหรับประเพณีนี้ก็ระบาดมาถึงท่านอาจารย์ศิลป์จนได้ ในช่วงสงกรานต์เดือนเมษายนซึ่งเป็นเวลาปิดเทอม เด็กๆที่ยังทําางานอยู่ที่คณะฯ เกิดอารมณ์ว่างงาน ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมาฝุ่นคราบไคลจับคลุมอนุสาวรีย์ท่านอาจารย์จนดูหม่นหมอง จึงได้นัดกันทําความสะอาด ชําาระล้าง เช็ดให้แห้งแล้วจึงลงแว็กซ์ จนทำให้ท่านอาจารย์ศิลป์ดูว๊อบแว๊บหล่อฟิ้งเหมือนใหม่ เมื่อได้เริ่มทําไปปีหนึ่ง ปีต่อๆมาเด็กๆ ก็อยากทําต่อ จนในที่สุดก็เลยนัดแนะกันในวันสงกรานต์ที่ 13 เมษายนทุกปี กลายเป็นประเพณี วันรดน้ำดําหัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

 

 

เริ่มแรกก็มีคนเข้าร่วมเป็นกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน จนปัจจุบันแม้ผ่านมาหลายปีแล้ว นักศึกษาบางคนก็กลายเป็นอาจารย์ กลายเป็นว่า13 เมษายนของทุกๆปี กลายเป็นกลุ่มใหญ่ คนที่มาช่วยกันชําระล้างให้อาจารย์ศิลป์เข้าไม่ถึง  ต้องผลัดกัน  กิจกรรมก็ขยายวงกว้าง กลายเป็นการทําความสะอาดทั่วทั้งบริเวณลานอนุสาวรีย์ รวมถึงอาบน้ำให้ต้นจันชราอายุ 200 ปีด้วย และเด็กๆที่อยู่ในสนามจันทร์ก็ได้นำวิธการนี้ไปใช้ตรงบริเวณอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อนุสาวรีย์แห่งใหม่ สำการทําความสะอาดอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี หวังว่าจะได้รับการสืบทอดต่อเนื่องจนกลายเป็นประเพณี “วันรดน้ำดําหัวอาจารย์ศิลป์” ในที่สุด

—————————————————————————————–
สำหรับครั้งสาระศิลป์ในบทความนี้ ต้องขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

– วารสารวิชาการศิลป์ พีระศรี โดย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 กันยายน 2558 บทความบันทึกความทรงจำ : บันทึกงานสร้างอนุสาวรียศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีโดย  พิษณุ ศุภนิมิตร
– หนังสืออาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ ฉบับที่ 3 โดย สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี
– และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

ตอนที่1 :

ตอนที่2:

 


หากผิดพลาดประการใด ทางผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ โอกาศนี้ สำหรับตอนหน้า จะเป็นเรื่องเล่ารื่องไหน ฝากติดตามกันไว้ด้วยนะคะ หรือหากอยากรับฟัง สามารถรับฟังเป็นคลิปเสียงผ่านช่องทาง YouTube

.…GREAT STARS OFFICIAL….
หรือสามารถแสกนผ่านทางคิวอาร์โค้ดด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ

 

 

เรียบเรียงเนื้อหาโดย…พาฝัน