ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี  และ มุเนะทสึกุ สะโตะมิ
ความร่วมมือที่นําไปสู่การจัดแสดงศิลปกรรมแห่งชาติของไทย

 

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกๆท่าน

    กลับมาพบกันอีกครั้งสำหรับสาระศิลป์ วันนี้ทางผู้เขียนขอหยิบยกเอาบทความ จากวารสารศิลป์ พีระศรี ปีที่ 1 ฉบับที่ 1
ซึ่ง
เป็นบทความที่เขียนขึ้นจาก คุณคะสุฮิโระ อะเบะ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของความสัมพันธุ์ของชาวต่างชาติ ที่ร่วมมือกันเข้ามาพัฒนาวงการศิลปะของไทยให้ก้าวหน้า และร่วมสมัยทัดเทียมสากล…..

    1. จากหนุ่มอิตาลีสู่หนุ่มไทย นามศิลป์ พีระศรี
      แล้วหนุ่มญี่ปุ่นคนนี้เล่า Munetsugu Satomi
    มาข้องเกี่ยวอะไรกับอ.ศิลป์ พีระศรี? ผู้ที่เปรียบเหมือนบิดาของศิลปะร่วมสมัยของไทยกัน…..
ผู้เขียนขอเท้าความ พาท่านผู้อ่านย้อนกลับไปยังช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6 ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า สยาม ณ ช่วงเวลานั้น กำลังต้องการศิลปินต่างชาติจำนวนมาก เข้ามาพัฒนาบ้านเมือง ทั้งเรื่องศิลปวิทยาการ สถาปัตยกรรรมการก่อสร้าง การศึกษา นอกจาก CORRADO FEROCI ศาสตราจารย์ผู้มีฝีมือในการสร้างสรรค์งานอย่างเก่งกาจแล้วนั้น ซึ่งภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อให้เป็น อ.ศิลป์ พีระศรี หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แถมยังเป็นบุคคลสำคัญ ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย 
แน่นอนว่าการพัฒนาทั้งการเรียนการสอนศิลปะและพัฒนาวงการศิลปะในประเทศไทย หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการริเริ่มการจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2492 อันเป็นเวทีสําคัญของการแสดงศิลปะ ฯลฯ นั้นย่อมต้องมีผู้คอยให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งต่างประเทศ ซึ่งนอกเหนือไปชาย อ.ศิลป์ พีระศรี แล้วนั้นยังมีชายหนุ่มจากแดนอาทิตย์อุทัยชื่อว่า Munetsugu Satomi (มุเนะทสึกุ สะโตะมิ) ศิลปินชาวญี่ปุ่น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนและผลักดันให้วงการศิลปะไทยได้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
     Satomi เข้ามาในมีบทบาทกับประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงเเม้สงครามจะสงบลง Satomiก็ยังคงเลือกที่จะอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยต่อหลังจากสงครามสงบ เพื่อให้ความร่วมมือกับ ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
อีกทั้งมุเนะทสึกุ สะโตะมิก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เกิดมิติความเคลื่อนไหวของศิลปกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย

 

ดังนั้นแล้ว บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่คุณคะสุฮิโระ อะเบะ ได้นําเสนอเมื่อ ค.ศ. 2004 ส่วนใหญ่เนื้อหาหลักก็จะเกี่ยวกับกอร์ราโด เฟโรชี หรือ ศิลป์ พีระศรี (ชื่อหลังจากเปลี่ยนสัญชาติ) กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อบทความเดิมคือ “รอยเท้าศิลปินอิตาเลียนในเอเชียตะวันออกที่หลงเหลือจนปัจจุบัน” ในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัย Seibi Gakuen University ฉบับที่ 36

อย่างที่ทราบกันดีว่า คอร์ราโด เฟโรจีได้เดินทางมารับราชการที่ประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. 1923 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6  เมื่อมาเมืองไทยก็ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานสร้างอนุสาวรีย์สำคัญๆต่างๆ เช่นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เเละการสร้างในครั้งนั้นก็คาดว่าน่าจะได้รับความดีความชอบเป็นอย่างมาก หลักฐานที่ปรากฎในเอกสารจากกรมศิลปากรบันทึกว่า ท่านได้รับเงินเดือน 800 บาท เทียบได้กับ 40,000 บาทในปัจจุบัน ซึ่งมากกว่าเงินเดือนทั่วไปถึง 5 เท่า

11 ปีก่อนหน้าที่คอร์ราโด เฟโรจีจะย้ายมายังประเทศไทย ในขณะนั้นได้มีการก่อตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาก่อนแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1912 และมีการเปิดโรงเรียนศิลปะเพาะช่างในปีต่อมา และโรงเรียนเพาะช่างก็ได้จ้างนักวิชาการสาขาต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อช่วยก่อร่างทางการศึกษาศิลปะ และอีกไม่นานก็ได้รับความช่วยเหลือจากศาสตรจารย์ศิลป์ พีระศรีเช่นเดียวกัน

 

ในช่วงแรกของการก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่างได้มีศิลปินชาวญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือทางด้านการเรียนการสอนอยู่หลายท่าน เช่น อิวะเสะ (Iwase), จิโระ โยะโคะตะ (Jiro Yokota), สะคะเอะ มิคิ (Sakae Miki) ซึ่งอาจารย์เหล่านี้ทําการสอนในวิชาจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะประยุกต์ เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ในช่วง ค.ศ. 1941 ช่วงสมัยต้นสงครามโลกครั้งที่สอง มีนักเรียนไทยได้รับทุนไปเรียนที่โรงเรียนศิลปะโตเกียว (ภายหลังคือมหาวิทยาลัยศิลปะและดนตรีแห่งโตเกียว Tokyo University of Fine Arts and Music) อีกหลากหลายคน

และในสมัยเดียวกันกับสยามประเทศญี่ปุ่นก็อยู่ในช่วงต้นสมัยเมจิ (Meiji Period) ก็มีการเชิญศิลปินชาวอิตาลีมาทําการสอนและสร้างผลงานศิลปะเป็นจํานวนมาก เนื่องจากสมัยที่ฮิโระฟุมิ อิโตะ (Hirofumi Ito) ดํารงตําแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ให้ความร่วมมือรับข้อเสนอในการวางแผนสร้างโรงเรียนศิลปะสมัยใหม่ โดยที่ได้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1877 (ปีที่ 9 ของสมัยเมจิ) โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ในการเปิดรับสมัครตําแหน่งอาจารย์ศิลปะในพระบรมราชูปถัมภ์แห่งองค์จักรพรรดิญี่ปุ่น ผลสรุปคือการรับศิลปินสามท่านเข้าทํางานดังนี้ วินเชนโซ รากุซา (Vincenzo Ragusa ค.ศ. 1841-1927) ประติมากร อันโตนิโอ ฟอนตาเนสิ (Antonio Fontanesi ค.ศ. 1818-1882) จิตรกร สอนวาดเส้น โจวานนี่ คัปเปลเล็ตติ (Giovanni Cappelletti เสียชีวิต 1885) สอนรายวิชาพื้นฐานโดยมีระยะเวลาในสัญญา 3 ปี รายได้ต่อปี 3,000 เยน เมื่อเทียบกับสมัยที่สามารถสร้างบ้านหนึ่งหลังด้วยเงินเพียงหนึ่งร้อยเยนได้ รายได้นี้ต้องนับว่าสูงกว่ารายได้ธรรมดามาก ศิลปินเหล่านี้ก็คล้ายกับคอร์ราโดเฟโรจี ที่ไปมีส่วนในการก่อร่างสร้างความรู้ศิลปะสมัยใหม่ให้กับประเทศที่ตนเองเดินทางไป 1 วินเชนโซ รากุซาเดินทางมาถึงประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1876 ห่างจากการเดินทางมาจากประเทศอิตาลีของคอร์ราโด เฟโรจีในภายหลังถึง 47 ปี

เนื่องจากในช่วงเวลาประมาณครึ่งศตวรรษนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายในประเทศอิตาลีอย่างมาก
มีการนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นนี้ที่สถาบันวิจัยญี่ปุ่น – อิตาลีเมื่อ ค.ศ. 2008 โดยโคอิจิโระ มะเอะโนะโซะโนะ (Koichiro Maesono) นักวิชาการชาวญี่ปุ่น ได้เสนอบทความเรื่อง “ความเป็นจริงทางสังคมในช่วงตอนปลายศตวรรษที่ 19”  ซึ่งสรุปปัจจัยของการเดินทางออกนอกประเทศของศิลปินอิตาลีดังว่า เมื่ออิตาลีการกลายเป็นประเทศอิตาลีอย่างเต็มตัว ปี ค.ศ. 1861 จึงทําให้เกิดการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้มีการจ้างแรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมปั่นด้าย มีการทําอุตสาหกรรมหนักที่กลายเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ อีกทั้งจํานวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยช่วงที่กําลังเริ่มต้นพัฒนาประเทศมีประชากรราว 25 ล้านคน และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 50 ปีต่อมาเป็น 36 ล้านคนในค.ศ. 1911 คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของจํานวนเดิม ประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้เองทําให้พื้นที่ในประเทศไม่สามารถรองรับได้จึงมีการอพยพของประชากรออกนอกประเทศอย่างจริงจัง เฉพาะการอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่อเมริกาตัวเลขขึ้นไปถึงราว 870,000 คน สําหรับผู้ประกอบอาชีพศิลปินซึ่งมีรายได้ไม่มั่นคงไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตามนั้น การไปเป็นศิลปินในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ต่างแดนซึ่งมีค่าตอบแทนสูง เป็นแรงจูงใจให้ศิลปินชาวอิตาลีเดินทางออกจากประเทศมายังดินแดนใหม่ ดังนั้นแล้วจึงอาจเป็นสาเหตุที่มีศิลปินชาวอิตาลีได้ย้ายาอาศัยอยู่ต่างแดนเช่นเดียวกับกรณีของทั้งไทยและญี่ปุ่นนั่นเอง

ศิลป์ พีระศรี และความสําเร็จที่ประเทศไทย

อย่างที่ทราบกันดีว่าเฟโรชีได้เข้ารับราชการในกรมศิลปากรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1923 มีหน้าที่รับผิดชอบงานสร้างอนุสาวรีย์และรูปหล่อสําริด โดยเริ่มจากการได้รับมอบหมายให้สร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1     นอกจากนั้นยังมีการทําการสํารวจวัดรวมถึงโบราณสถานหลายแห่ง และรวบรวมเป็นเอกสารสําคัญ ผลงานเหล่านี้ทําให้ประสบความสําเร็จและเป็นที่ยอมรับจนเมื่อปี ค.ศ. 1932 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและตลอดช่วงชีวิตก็ได้รับอีกหลายครั้ง อีกทั้งยังเข้ามาปรับปรุงหลักสูตรการสอน พัฒนาและวางรากฐานให้แก่โรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1933 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีพื้นฐานการเรียนการสอนศิลปะแบบตะวันตกผลมตะวันออก ภายหลังได้พัฒนาเป็นโรงเรียนศิลปากรและกลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของไทยในปี ค.ศ. 1943ในที่สุด โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้สนับสนุน โดยเฟโรชีได้ดํารงตําแหน่งเป็นคณบดีคนแรก

 

 และเนื่องด้วยเหตุผลในช่วงสงคราม คอร์ราโด เฟโรจีจึงได้รับการโอนสัญชาติเป็นคนไทยและเปลี่ยนชื่อเป็น ศิลป์ พีระศรี อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์สองแบบไปพร้อมๆกัน กล่าวคือ สถานการณ์สวนทางกันคือมีความตึงเครียดทางการเมือง เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นต้องการใช้ดินแดนประเทศไทยเป็นทางผ่าน โดยญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนรวมถึงมีองค์กรเข้ามาให้ความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ไทยเป็นอย่างดี

 

สงครามโลกครั้งที่สอง กับประเทศไทย

กองทัพเยอรมันบุกโปแลนด์เมื่อค.ศ. 1939 ทําให้ฝรั่งเศสและอังกฤษประกาศสงครามด้วย สงครามโลกครั้งที่สองจึงเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 1940 หลังจากนั้นไม่นานนัก กองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมนี ฝรั่งเศสทําสนธิสัญญาพักรบกับเยอรมนีและแต่งตั้งให้ฟิลิป เปแต็ง (PhilippePétain) ดํารงตําแหน่งเป็นผู้นําโดยมีนโยบายให้ความร่วมมือกับเยอรมนี ญี่ปุ่นได้ทําสนธิสัญญาทางการทหารเมื่อเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1940 และได้ตกลงเป็นพันธมิตรกันระหว่างประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลีในเดือนถัดมา และเคลื่อนกําลังเข้าทางตอนเหนือของอินโดจีน

ต่อมาเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 ก็ได้บุกเข้าตั้งฐานทัพที่อาณาเขตตอนใต้ของอินโดจีนได้สําเร็จ ช่วงเวลานี้ประเทศเพื่อนบ้านแถบตะวันออกของไทยได้รวมพลเข้าด้วยกันเพื่อเตรียมทําสงครามแปซิฟิก ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอเมริกาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1941 ทําให้เข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง กองกําลังญี่ปุ่นมีความจําเป็นต้องได้ความมั่นคงจากประเทศไทย เพื่อง่ายต่อการดูแลกองกําลังที่ดินแดนด้านมลายู จึงได้วางแผนยื่นข้อเสนอต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามให้กองทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านดินแดนไทยโดยสันติ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีการเตรียมการเอาไว้อย่างดี โดยวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 มีการเชิญรัฐมนตรีบางท่านให้ไปร่วมรับประทานอาหารค่ําที่สถานทูตญี่ปุ่น หลังจากนั้นได้เปิดการเจรจาตอนเที่ยงคืนและขอคําตอบในทันที หลักฐานบอกว่านายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจราชการทางอรัญประเทศและติดอยู่ในเส้นทางรถยนต์ขากลับ การติดต่อไม่ได้ทําให้ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีอยู่ที่ใด จึงเปลี่ยนเป็นยื่นข้อเสนอแก่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังว่าต้องการให้ออกคําสั่งอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนผ่านอาณาเขตประเทศไทยโดยสันติและขอให้กองทัพไทยไม่ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ฝ่ายไทยจึงได้มีการประชุมรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่อยู่จึงไม่สามารถตัดสินใจได้ เพื่อให้เข้ากับแผนการโดยรวม ฝ่ายญี่ปุ่นโดยศูนย์บัญชาการกองกําลังตอนใต้ที่ไซ่ง่อนจึงออกคําสั่งจู่โจมตอนเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม เวลา 01.30 น. (03.30 น. เวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น) โดยเริ่มยกพลขึ้นบกที่เกาะไผ่ สงขลา ชุมพร ปัตตานี ท่าแพ นครศรีธรรมราช เกาะฟูโกว๊ก โกตาบารู บันดุง จอมพล ป. พิบูลสงครามกลับเข้ากรุงเทพฯ เวลา 9.00 น. (7.00 น. เวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น) และมีคําสั่งให้กองกําลังไทยทั้งหมดหยุดต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีกองกําลังบางส่วนเกิดการปะทะกันไปแล้วในหลายจุด เกิดการบาดเจ็บล้มตายในหลายกรณี ภาพเบื้องหลังสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองกําลังอุโนะ (Uno Force Unit) กับฝ่ายไทยที่จังหวัดชุมพรวันนั้นได้ถูกนําไปทําเป็นภาพยนตร์และละครหลายครั้ง 3 รัฐบาลไทยได้ลงนามสัญญาเงื่อนไขที่ยอมให้กองกําลังทหารญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่าน วันที่ 8 ธันวาคม เวลา 15.00 น. หลังจากนั้น เนื่องจากสถานการณ์รบที่เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ของฝ่ายอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล (Pearl Harbor) ในวันที่ 10 ธันวาคม ทหารญี่ปุ่นโจมตีแปซิฟิกใต้ได้สําเร็จ สามารถจมเรือรบอังกฤษปริ๊นซ์ออฟเวลส์ (Prince of Wales) และรีพัลส์ (Repulse) วันที่ 11 ธันวาคม ไทยที่ไม่มีทางเลือกจึงต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตร มีการลงนามชั่วคราวซึ่งนําไปสู่การลงนามสัญญาพันธมิตร ไทย-ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 21 ธันวาคม และหลังจากขึ้นปีใหม่วันที่ 3 มกราคม มีการทําตามข้อตกลงในการบังคับใช้กลยุทธ์ร่วมระหว่างญี่ปุ่น-ไทยตามสัญญา ช่วงจังหวะนี้ มุเนะทสึกุ สะโตะมิ (Munetsugu Satomi) ใช้ความสามารถด้านภาษาฝรั่งเศสเข้าทํางานที่ศูนย์บัญชาการกองกําลังฝ่ายใต้ที่ไซ่ง่อน(โฮจิมินห์ในปัจจุบัน)ปฏิบัติภารกิจให้กับกระทรวงการต่างประเทศในตําแหน่งคณะกรรมการกําหนดอาณาเขตไทย อินโดจีน

ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนี้ได้มีการทําสนธิสัญญาความสงบระหว่างไทยกับอินโดจีน ญี่ปุ่นได้ยกดินแดนด้านขวาของแม่น้ำโขงจําปาศักดิ์ เสียมเรียบ พระตะบองคืนให้แก่ไทย และในเดือนสิงหาคมมีการส่งคณะกรรมการกําหนดอาณาเขต ซึ่งมีสะโตะมิเข้าร่วมเข้าไปยังพื้นที่ ซึ่งการสนับสนุนให้ไทยได้ดินแดนส่วนนี้กลับคืนมาจึงทําให้บทบาทของญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับในประเทศไทย และนอกเหนือจากกิจกรรมทางการทหารแล้วนั้น กองทัพญี่ปุ่นยังวางแผนระยะยาวด้วยการสนับสนุนกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมด้วย กล่าวคือส่วนหนึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสองฝ่าย จัดนิทรรศการ ฯลฯ ซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วม กรณีของมุเนะทสึกุ สะโตะมิก็เข้าข่ายนี้ ช่วงที่อยู่เวียดนาม สะโตะมิได้ก่อตั้งสํานักงานออกแบบที่ไซ่ง่อน ทํางานออกแบบหลายชิ้น เช่น โปสเตอร์ความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับอินโดจีน กองกําลังญี่ปุ่นใช้วิธีการสร้างข้อตกลงทางการทหารไปพร้อมๆ กับ การใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในภูมิภาคต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนแนะนําวัฒนธรรมญี่ปุ่นและวัฒนธรรมกัมพูชา 4 ค.ศ. 1943

         Satomiได้ย้ายมาที่กรุงเทพมหานครพร้อมกับครอบครัวเพื่อร่วมเป็นสมาชิกสมาคมวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น          ตําแหน่งอย่าวเป็นทางการของนักออกแบบกราฟิกผู้นี้คือหัวหน้าหน่วยโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของกองทัพยุวชนทหาร (The Japanese Eighteenth Area Army) ประจําภาคใต้ที่5

สำหรับผลงานสําคัญที่ได้ทำเมื่อครั้งที่ได้อยู่ในแระเทศไทยก็เช่น การจัดให้มีนิทรรศการศิลปะและการประกวดแข่งขันต่างๆ ที่เป็นการสนับสนุนวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถึงแม้หลักฐานจะไม่แน่ชัด แต่มีการคาดเดาว่านายกรัฐมนตรีไทยจอมพล ป. พิบูลสงครามกับSatomiน่าจะรู้จักกันตั้งแต่สมัยที่ศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลนี้กองทัพญี่ปุ่นจึงพยายามจะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ส่วนตัว ส่งผลให้สะโตะมิได้เข้าร่วมกิจกรรมของสังคมกรุงเทพจนกลายเป็นข่าวในหน้าหนังสือ พิมพ์ Bangkok Post เสมอๆ

ในช่วงสงครามสะโตะมิทํางานให้กับกองทัพแต่เมื่อสงครามจบลง ได้ถูกกองทัพสัมพันธมิตรนําโดยอังกฤษจับไปเข้าค่ายกักกันที่ค่ายบางบัวทองร่วมกับชาวญี่ปุ่นอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุให้ผลงานส่วนใหญ่โดนทางการยึดไป และสูญหายไปเป็นจำนวนมาก

 

 

ทีนี้เรามาดูประวัติคร่าวๆ ของชายหนุ่มจากเเดนอาทิตย์อุทัยคนนี้กันค่ะ

Munetsugu Satomi มุเนะทสึกุ สะโตะมิ  เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่โอซาก้า เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 5 คน ปี

ด้วยความผิดพลาดบางอย่างทําให้เข้าเรียนเร็ว 1 ปี ที่โรงเรียนประถมเทนโนจิชิฮังฟุโซ ในปีค.ศ. 1911

  • ปี ค.ศ. 1914 ได้รับเงินรางวัลจากการประกวดโปสเตอร์ซากุระจิมะฟุงคะ
  • ปี ค.ศ. 1917 เข้าโรงเรียนมัธยมฟุริทสึอิมะมิยะ เพื่อเตรียมสอบเข้าโรงเรียนศิลปะโตเกียว แต่แล้วก็ตัดสินใจไปปารีสตามคําแนะนําของ นะระชิเกะ โคะอิเดะ (Koide Narashige) เพื่อนของพี่ชายคนโตที่กลับมาจากการไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส
  • ปี ค.ศ. 1922 เข้าศึกษาที่อะคาเดมีจูเลียน (Académie Julian) โดยบิดาของสะโตะมิซึ่ง เป็นนักธุรกิจส่งเงินให้เดือนละ 5,000 ฟรังก์
  • ปีค.ศ. 1923 สอบเข้าโรงเรียนวิจิตรศิลป์ (École des Beaux-Arts) ได้เป็นลําดับที่ 6 จาก หลักสูตรที่เปิดรับ 7 คน ซึ่งสะโตะมิเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่เข้าไปเรียนในสถาบันนี้และต่อมาก็มีคนญี่ปุ่นไปศึกษาที่นี่เป็นจํานวนมาก
  • ปี ค.ศ. 1924 ประกวดวาดเส้นได้รางวัลที่ 1 ชนะเลิศประกวดโปสเตอร์โฟโตเดอปารี (Foto de Paris)
  • ปี ค.ศ. 1925 ประกวดวาดเส้นได้รางวัลที่ 1 แต่งงานกับชาวโรมาเนียชื่อ มาเรีย วารา
  • ปี ค.ศ. 1926 ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมแสดงในซาลองฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง
  • ปี ค.ศ. 1927 บิดาเสียชีวิต ประสบความลําบาก จึงตัดสินใจดํารงชีพด้วยการเป็นนักออกแบบที่บริษัทโชแปง
  • ปี ค.ศ. 1928 เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในบริษัทออกแบบและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า สตูดิโอ ชนะเลิศการประกวดโปสเตอร์บุหรี่ยี่ห้อ Gauloises และได้ลูกชาย คนแรกชื่อโทคิมุเนะ
  • ปี ค.ศ. 1932 ชนะเลิศได้รับเหรียญทองอันดับหนึ่งในการประกวดโปสเตอร์ของ Foire de Paris (นิทรรศการที่มีประจําทุกปีที่ปารีสและมีการติดโปสเตอร์นี้เผยแพร่ทั่ว ปารีส ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ฟรังก์
  • ปี ค.ศ. 1933 ชนะการประกวดโปสเตอร์แข่งจักรยาน “6 วัน” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทําให้เขา ตั้งบริษัทตัวเอง สะโตะมิได้รับแรงบันดาลใจจาก โปสเตอร์ NORD EXPRESS ของกาซองดร์ (Cassandre) นักออกแบบกราฟิกและนักวาดภาพประกอบชื่อดัง
  • ปี ค.ศ. 1934 ทําโปสเตอร์ให้กับสายการบิน KLM ประจําชาติเนเธอร์แลนด์ เปิดนิทรรศการแลกเปลี่ยนงานศิลปะนานาชาติ นิตยสารจากญี่ปุ่นนําโปสเตอร์ชิ้นนี้กลับไป แสดงที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นชิ้นแรกของสะโตะมิ
  • ปี ค.ศ. 1934 คุระโซ มุโระตะ (Kurazou Murota) นําโปสเตอร์ 80 แผ่นจากญี่ปุ่นมามอบ ให้ สะโตะมิได้ใช้เงินส่วนตัวเปิดนิทรรศการศิลปะนิฮงเคียวโคคุ (Nihon Kyokoku) ที่ปารีสเป็นครั้งแรกซึ่งได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก สะโตะมิได้ ทํางานโปสเตอร์และได้เข้าร่วมแวดวงกับศิลปินมีชื่อเสียงของปารีส กาซองดร์และแมน เรย์ (Man Ray) เป็นต้น
  • ปี ค.ศ. 1936 กลับประเทศครั้งแรก ได้รับงานทําโปสเตอร์จากกรมการรถไฟ เรือไปรษณีย์ ญี่ปุ่น ร้านไข่มุกมิกิโมโตะ ในระหว่างที่พํานักอยู่ที่ญี่ปุ่นได้พบและเกิดมิตรภาพ ที่แน่นแฟ้นกับฮิสึอิ สึกิอุระ (Hisui Sugiura) หัวหน้าสมาพันธ์พาณิชย์ศิลป์แห่งญี่ปุ่น รวมถึงทะคะชิ คะวะโนะ (Takashi Kawano), ฮิโระชิ ฮะระ (Hiroshi Hara) โฮะคุโจ ทะดะ (Hokuchou Tada) และยุสะคุ คะเมะคุระ (Yusaku Kamekura) ด้วย
  • ปี ค.ศ. 1937 แสดงงานที่งานนิทรรศการ Paris Exposition ได้รับรางวัลกิตติมศักดิ์จากงาน ประกวดโปสเตอร์ของการรถไฟญี่ปุ่น
  • ปี ค.ศ. 1938 ได้รับตําแหน่งงานเลขาธิการตอนที่สร้างสมาคมศิลปินญี่ปุ่นในปารีส และใช้ ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการเปิดนิทรรศการศิลปะของศิลปิน ญี่ปุ่นในฝรั่งเศส เดือนธันวาคมในปีเดียวกันและเดือนกรกฎาคมปีต่อมา ซึ่ง สะโตะมิได้เป็นผู้รวบรวมศิลปินด้วยกันในฐานะที่เป็นเลขาธิการ เขาใช้เงิน ส่วนตัวเข้าสนับสนุนในการจัดงานด้วย สมาชิกของสมาคมเหล่านี้ ได้แก่ ทสึกุฮะรุ ฟุจิตะ (Tsuguharu Fujita) ทาคะโนะริ โอกิสึ (Takanori Ogisu) ทาโระ โอะคะโมะโตะ (Taro Okamoto) ฮิโระอัทสึ ทะคะดะ (Hiroatsu Takada)
  • ปี ค.ศ. 1939 เกิดสงครามโลกครั้งที่สองจึงออกจากปารีส
  • ปี ค.ศ. 1940 กลับประเทศ และรับงานตกแต่งซุ้มญี่ปุ่นในงาน New York Exposition ก่อน หน้าที่ญี่ปุ่นจะประกาศสงครามกับอเมริกาเพียงเล็กน้อย เดินทางไปประเทศ สหรัฐอเมริกาโดยลําพัง ช่วงที่อยู่ที่นั่นได้ทําโปสเตอร์อีกบางชิ้น ฮิสึอิ สึกิ- อุระ (Hisui Sugiura) ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้อํานวยการโรงเรียนศิลปะทามะ(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ Tama Art University) ขอให้รับตําแหน่ง ศาสตราจารย์สาขาการออกแบบ
  • ปี ค.ศ. 1941 ใช้ความรู้ด้านภาษาฝรั่งเศสทํางานที่กระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรรมการกําหนดอาณาเขตอินโดจีนโดยไปปฏิบัติภารกิจที่ไซ่ง่อน หลังจากนั้นก็ย้ายไป ที่กรุงเทพฯ แต่ยังคงความสัมพันธ์กับโรงเรียนศิลปะทามะและอุปถัมภ์สมาคมญี่ปุ่น-ไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 หลังจากจัดงาน “สยามวันนี้” เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ญี่ปุ่นและไทยก็ได้ มีการจัดงานเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง สะโตะมิ ปฏิบัติหน้าที่นี้
  • หลังจากปี ค.ศ. 1943 และด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวทําให้ยังคงทํางานอยู่ที่ นี่แม้สงครามสิ้นสุดลง สะโตะมิอยู่ที่กรุงเทพฯ ถูกนําตัวไปกักกันอยู่ที่ค่ายบางบัว ทอง ด้วยเหตุนี้โปสเตอร์และเอกสารทั้งหมดจึงถูกยึดเป็นของทางการและ สูญหายไป
  • ปี ค.ศ. 1946 ถูกปล่อยเป็นอิสระ ขณะที่คนญี่ปุ่นเป็นจํานวนมากเดินทางกลับประเทศ แต่ สะโตะมิตัดสินใจอยู่เมืองไทยต่อ และได้จอมพล ป. พิบูลสงครามเพื่อนเก่า ครั้งเมื่อเป็นนักเรียนที่ปารีส ช่วยจัดการเรื่องงานจัดการเวทีที่โรงละครแห่งชาติให้ ทํางานออกแบบให้สายการบินสยาม (การบินไทยในปัจจุบัน) ทํางาน ออกแบบโฆษณาให้กับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบางกอกโพสต์
  • ปี ค.ศ. 1948 เป็นที่ปรึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ปี ค.ศ. 1949 สนับสนุนศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีในการจัดงานศิลปกรรมแห่งชาติตั้งแต่ ครั้งที่ 1 นอกจากทําหน้าที่เป็นกรรมการจัดงานแล้ว ยังดํารงตําแหน่ง กรรมการตัดสิน (Jury) ด้วย และส่งผลงานเข้าร่วมแสดงด้วย
  • ปี ค.ศ. 1950 นิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 เป็นกรรมการบริหารจัดการ กรรมการ ตัดสิน รับผิดชอบในส่วนของโปสเตอร์ใบปลิว และแสดงงาน ศิลป์ พีระศรี เคยแกะหินอ่อนรูปใบหน้าภรรยาของสะโตะมิด้วย ทําให้เห็นความสัมพันธ์ที่ ชัดเจน
  • ปี ค.ศ. 1951 นิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 มีบันทึกในการแสดงงานแต่ไม่มีชื่อ ของสะโตะมิในที่อื่นๆ
  • ปี ค.ศ. 1952 กลับไปปารีสหลังจากที่ไม่ได้กลับไปนานถึง 13 ปี หลังจากนั้นก็ทํางาน ออกแบบโปสเตอร์ ปกหนังสือ เครื่องหมายการค้า เขียนบทความมากมาย
  • ปี ค.ศ. 1974 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ชั้นที่สามจากญี่ปุ่น
  • ปี ค.ศ. 1989 กลับประเทศญี่ปุ่น
  • ปี ค.ศ. 1996เสียชีวิตที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 30 มกราคม

     

    Munetsugu Satomi ตลอดชีวิตได้สร้างผลงานไว้กว่า 20,000 ชิ้น
    ผลงานจํานวนมากถูกเก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุของ Kyoto Institute of Technology

 

ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) และ มุเนะทสึกุ สะโตะมิ (Munetsugu Satomi)

     สองหนุ่มต่างสัญชาติ ที่มีหัวใจเต็มเปี่ยมไปด้วยการรักในงานศิลปะ และได้อุทิศชีวิตให้กับการศึกษาศิลปะของไทย จนศิลปะสมัยใหม่ของไทยได้รับการยกย่องทั้งในและต่างประเทศ

เมื่อศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ดํารงตําแหน่งคณบดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมมือกับศิลปินต่างชาติ และไทยจำนวนมาก บุคคลที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังและการริเริ่มการจัดนิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาตินั่นก็คือ มุเนะทสึกุ สะโตะมิ ผู้ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านได้ให้ความร่วมมือ อุทิศตนและสนับสนุนด้านการเงินอย่างไม่ขัดข้อง จากประสบการณ์การเป็นเลขาฯ นิทรรศการศิลปะของศิลปินญี่ปุ่นในฝรั่งเศส, ประสบการณ์การจัดการประกวดและนิทรรศการมากมายในฐานะหัวหน้าหน่วยโฆษณาชวนเชื่อ(Propaganda)ที่กองกําลัง “義” ค่ายยุวชนทหาร ทําให้เคยได้พบกับศิลปินมีชื่อเสียงมากมาย

และใครจะคาดคิดว่ามุเนะทสึกุ สะโตะมิ (Munetsugu Satomi) ผู้นี้แหละ คือผู้ที่จัดทําโปสเตอร์ชิ้นแรกของนิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติอีกขึ้น และเป็นที่รู้กันว่าในช่วงนั้นสะโตะมิก็ยังได้อุทิศตนช่วยเหลือ ทำการได้สอนพื้นฐานการวาดเส้นให้แก่มีเซียม ยิบอินซอย (ค.ศ. 1906-1988) ซึ่งเป็นศิลปินผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยอีกด้วย

มีเซียมเป็นศิลปินหญิงเพียงคนเดียวที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศงานศิลปกรรมแห่งชาติสามครั้ง งานภาพร่างลายเส้นชีวิตในค่ายกักกันบางบัวทองที่สะโตะมิเคยถูกจองจําหลังสงครามที่ยังหลงเหลืออยู่นั้น ปัจจุบันหลานสาวของมีเซียมเป็นผู้เก็บรักษาไว้

 

 

มิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างอ.ศิลป์ พีระศรีและสะโตะมิได้ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนระหว่างศิลปินญี่ปุ่นและศิลปินไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

 

ใจที่รักในการสร้างสรรค์งานศิลปะ อุดมการ ความมุ่งมั่น ของศิลปินชาวไทย ผนวกเข้ากับ อุดมคติ การอุทิศตนของ อ.ศิลป์ พีระศรี ผสานเข้ากับประสบการณ์และความสามารถในการวางแผนงานของสะโตะมิ อีกทั้งความร่วมมือกําลังทางการเมืองและการปฏิบัติงานของจอมพล ป. ได้สอดประสานสนับสนุนซึ่งกันและกัน มุ่งมั่นตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจนถึงการพัฒนาศิลปะของไทยให้ทัดเทียมสากลได้ อีกทั้งก็ทําให้ผู้คนชาวไทยรู้จักรักและหวงแหนศิลปะวัฒนธรรมของตนเองขึ้น และยังทำให้มีการส่งเสริม และสนับสนุนศิลปิน เกิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติที่สําคัญยิ่งมาจวบจนปัจจุบัน

 

 

   

สำหรับครั้งสาระศิลป์ในบทความนี้ ต้องขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
– วารสารวิชาการของมหาวิทยาลัย Seibi Gakuen University ฉบับที่ 36 บทความ “รอยเท้าศิลปินอิตาเลียนในเอเชียตะวันออกที่หลงเหลือจนปัจจุบัน”โดย คุณคะสุฮิโระ อะเบะ ค.ศ. 2004

– วารสารวิชาการศิลป์ พีระศรี ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 กันยายน 2556 แปลจากภาษาญี่ปุ่นโดยวิชนัญ กลั่นรอดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

– หนังสืออาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ ฉบับที่ 3 โดย สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี
– และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
  หากผิดพลาดประการใด ทางผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ โอกาศนี้ สำหรับตอนหน้า จะเป็นเรื่องเล่ารื่องไหน ฝากติดตามกันไว้ด้วยนะคะ หรือหากอยากรับฟัง สามารถรับฟังเป็นคลิปเสียงผ่านช่องทาง YouTube
GREAT STARS OFFICIAL

หรือสามารถแสกนผ่านทางคิวอาร์โค้ดด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ

 

 

เรียบเรียงเนื้อหาโดย…พาฝัน