เปิดให้เข้าชมแล้ว!!!กับสุดยอดนิทรรศการ ของตำนานศิลปินแนว expression แห่งวงการศิลปะไทย

“นิทรรศการ ทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์”

 ที่ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 17 พฤษภาคม – 11 กันยายน 2565

นิทรรศการ ทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ การเฝ้ามองสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยไม่ได้กีดกันตัวเองออกไปเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่อนุญาตให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตซึมลึกเข้าไปในความรู้สึก ทัศนคติ จิตใจ ก่อนส่งต่อจินตนาการผ่านฝีแปรงและสองมือ นี่คือเรื่องราวใน “นิทรรศการ ทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์” ที่เปรียบเสมือนการแสดงอัตชีวประวัติ บันทึกเรื่องราวของศิลปิน ขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนจดหมายเหตุบันทึกประวัติศาสตร์ในสังคมไทย ผ่านสายตาของอาจารย์ทวี รัชนีกร ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ.2548 วัย 88 ปี ผู้ทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมมาตลอดระยะเวลากว่า 62 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 จนถึงปัจจุบัน

ในเส้นทางการรังสรรค์งานศิลปะ อาจารย์ทวีทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นผู้เฝ้าสังเกตการณ์ความเป็นไปในสังคมไทย โดยมองเห็นทั้งปัญหาสงคราม การคอรัปชั่น การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม หลาย ๆ เหตุการณ์ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม งานปั้น งานเซรามิก งานสลักไม้เก่า ผ่านการคิดและตีความที่ผสานไปกับความเชื่อและศรัทธาในหลักพระพุทธศาสนา โดยมีผศ.วุฒิกร คงคา เป็นภัณฑารักษ์ผู้คัดเลือกผลงาน โดยตั้งใจจัดโครงสร้างหลักของนิทรรศการ ด้วยการแบ่งเป็นกรุ๊ปแนวคิด ให้อยู่ในหมวดหมู่ของเรื่องราวต่าง ๆ ตามที่อาจารย์ทวีให้ความสนใจ เรียงลำดับตั้งแต่ผลงานชิ้นแรก ไปจนถึงผลงานปัจจุบัน

อาทิ ผลงานที่สะท้อนเรื่องราวของรัฐบาล การเมือง และระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ โดยหยิบยกเหตุการณ์ทางการเมือง สงครามเวียดนาม และเครือข่ายมหาอำนาจ ซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงกับปัญหาโครงสร้างของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ยังมีผลงานสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่าง ปัญหาการกดขี่ทางเพศ ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ นับเป็นความเหลื่อมล้ำที่มองเห็นผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ทั้งยังมีผลงานที่เกิดจากการทดลองสร้างสรรค์งานในรูปแบบนามธรรมผ่านรูปทรง หรืออินทรีย์รูป และพลังของชีวิต ที่ยังคงไม่ทิ้งเนื้อหาของการเสียดสีสังคม โดยมีที่มาจากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเหตุบ้านการเมือง

อีกความสนใจที่นำมาผนวกเข้ากับการสร้างสรรค์งาน คือความเชื่อทางศาสนา นำเรื่องจากไตรภูมิพระร่วงมาถ่ายทอดผ่านสัญลักษณ์ของเปรตที่มีหน้าตาตามจินตนาการ ซึ่งแสดงถึงแรงกรรมของบรรดานักการเมืองและนายทุนที่โกงกิน นอกจากนี้ยังนำเสนอเรื่องราวการกดขี่ชาวนา และนำสมุดข่อยโบราณมาแปลงเป็นงานศิลปะ บอกเล่าความประทับใจที่มีต่อความเป็นพื้นถิ่น ประวัติศาสตร์ และความเชื่อ

 

อาจารย์ทวียังคงไม่ทิ้งปัญหาของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านงานประติมากรรมที่สะท้อนถึงการแก้ปัญหาของภาครัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต่างจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยท่านได้เล่าถึงในพาร์ทสุดท้ายที่เพิ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบัน ด้วยการหยิบความรู้สึกและความครุ่นคิดในช่วงที่ตนเองต้องถูกพันธนาการจากสถานการณ์โรคระบาด จึงใช้งานศิลปะในการปลดปล่อยพันธนาการนั้น

จะเห็นว่าตลอดช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษ อาจารย์ทวีไม่เคยหยุดสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยใจรัก แม้เวลาจะผ่านไป แต่น่าแปลกที่ปัญหาใหญ่ ๆ ในสังคมบ้านเรายังคงมีอยู่เช่นเดิม ดังนั้นในฐานะศิลปินผู้เฝ้ามองเหตุการณ์บ้านเมืองมาโดยตลอด จึงยังไม่เคยหยุดนิ่งที่จะสะท้อนเรื่องราวเหล่านั้นออกมาผ่านงานศิลปะ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและอุดมการณ์อันแน่วแน่ เปรียบศิลปินเป็นอีกเสียงหนึ่งของประชาชน ทุกฝีแปรงจึงยังคงเส้นสายและสีสันอันเด่นชัด เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณเสมอมา

ภาพบรรยากาศ พิธีเปิดนิทรรศการ ทวี รัชนีกร : ปรากฎการณ์แห่งอุดมการณ์ THAWEE RATCHANEEKORN , 1960 – 2022 : A Retrospective Exhibition เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมี นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เป็นประธานร่วมกันในพิธี พร้อมด้วย อาจารย์ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2548 เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ และผลงานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสม รวมกว่า 60 ผลงาน ในนิทรรศการ

 

 

ผลงานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสม รวมกว่า 60 ผลงาน ในนิทรรศการ ทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

จัดแสดงตั้งแต่ 17 พฤษภาคม – 11 กันยายน 2565