S  O  M  P  O  P       B  U  D  T  A  R  A 

...ชีวิต สังคม ความเชื่อ ค่านิยม สภาพแวดล้อม มักถูกปรุงเเต่งด้วยสิ่งต่างๆมากมาย
จนผู้คนลืมเลือนถึงต้นกำเนิดที่มาอันเเท้จริงของชีวิต...

 

… หากจะให้ทุกท่านลองจินตนาการถึงภาพผลงานของอาจารย์สมภพ บุตราช คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า ภาพที่ปรากฎเด่นชัดที่สุดในความทรงจำของผู้คนนั้น มักจะเป็นภาพผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยของบรรดาหญิงสาวที่มีใบหน้างดงามหมดจดราวกับเทพธิดาแทรกไปด้วยความอันละเอียดอ่อน ละเมียดละไม และมักจะเปิดเผยให้เห็นถึงทรวดทรง
ผิวพรรณที่เนียนผุดผ่อง ราวกับว่าอาจารย์กำลังจำลองถึงบรรยากาศของสรวงสวรรค์

 

 

ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่นั้นอาจารย์จะอ้างอิงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่, ความศรัทธา และรากเหง้าของคติความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ส่งผลให้ผลงานภาพวาดของอาจารย์นั้นล้อมรอบไปด้วยบรรยากาศ ที่ผสมผสานกันระหว่างความเป็นอุดมคติ และความเหมือนจริง

ทว่า…….

นอกเหนือจากภาพจิตรกรรมที่งดงามละเมียดละไมของบรรดานางฟ้า นางสวรรค์ของอาจารย์แล้วนั้น อาจารย์ยังมีผลงานภาพเหมือนบุคคลที่ไม่ได้ถูกเขียนด้วยสีอะคริลิก หรือสีน้ำอย่างที่เราคุ้นชิน แต่อาจารย์กลับเขียนภาพจาก “ดิน” สิ่งที่แสนจะดูปกติธรรมดาเมื่อเทียบกับความงดงาม ปราณีตในงานชุดนางฟ้า นางสงกรานต์ และชิ้นงานชุดอื่นๆ

 

ภายใต้สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่เเสนจะธรรมดานี้ อาจารย์สมภพกลับสอดเเทรกไปด้วยเรื่องราว สาระ เนื้อหา และสิ่งที่แปลกตาไปจากความคุ้นชินของเราได้อย่างน่าประหลาดใจ

 

การเลือกใช้ดินมาเขียนภาพเหมือนของบุคคลต่างๆนั้น อาจารย์สมภพเล่าให้ฟังว่า ตนได้แนวคิดและเริ่มทำการทดลอง โดยใช้ระยะเวลาค้นหาและทดลองร่วม 20 ปี ตั้งแต่ครั้งที่เดินทางไปร่วมเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดไทยพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ช่วงปีพุทธศักราช 2529 – 2535 กับศิลปินรุ่นพี่อย่างอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร โดยอาจารย์ได้รับคำแนะนำจากศิลปินหลายๆท่าน ควบคู่ไปกับการทดลองวัสดุของอาจารย์เอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ดิน ทราย ขี้เถ้า ไม้ การศึกษาความพิเศษของดินแต่ละชนิด ทั้งดินเหนียว ดินโคลน ดินทราย รวมไปถึงศึกษาแม้กระทั่งดินในสถานที่ต่างๆมากมาย เพื่อหาเฉดสีของดินที่สามารถนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน และตอบสนองตรงความต้องการ อาจารย์ให้มากที่สุด

จนในที่สุดช่วงราวปลายปี 2552 อาจารย์ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพเหมือนบุคคลในภาคอีสาน ร่วมกว่า 20 ภาพ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ, ครูอาจารย์, หมอลำ นักเขียน, ชาวไร่, ชาวนา ,นักต่อสู้ทางด้านสิทธิ, ปราชญ์อีสาน, ศิลปินพื้นถิ่น รวมไปถึงบุคคลคนธรรมดาสามัญ ที่ได้สร้างประโยชน์และคุณงามความดีต่อส่วนรวมจนเป็นที่ยอมรับ และภาพของนายบุญมี และนางทองบ่อ บุตราช ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญพ่อเเละเเม่ของอาจารย์สมภพเอง ในนิทรรศการ “เขียนดิน สินอีสาน” ณ หอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอาจารย์สมภาพใช้ดินที่มีอยู่ในภาคอีสานเท่านั้นในการวาดภาพสำหรับนิทรรศการนี้

สิ่งที่น่าสนใจไปมากกว่าการใช้ดินวาดภาพเหมือนบุคคลต่างๆของอาจารย์สมภพแล้วนั้น สิ่งที่ดึงดูดให้ผู้ที่เข้ามาชมผลงานในนิทรรศการจนต้องเดินเข้าไปพินิจฝีแปรงใกล้ๆนั้น คือเทคนิคการเขียน ที่ใช้สีของดินล้วนๆไม่มีการผสมสีอื่นใดๆ การทิ้งพื้นผิวเท็กเจอร์ (Texture) รอยแตกของดิน  ความหนา บาง องค์ประกอบทุกๆอย่างภาพในภาพต่างแสดงอารมณ์ของตัวมันออกมาได้อย่างสมบูรณ์ 

 

 

 

 

หลังจากนั้นอาจารย์สมภาพก็ได้จัดเเสดงนิทรรศการภาพเหมือนที่เขียนจากดินอีกหลายครั้ง อาทิ นิทรรศการ เกิดแต่ดิน (Born From Earth) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า, ทรรศการ “ป่ากลางใจ ใจกลางป่า” ช่วงปี 2556 โดยส่วนใหญ่ภาพของบุคคลต่างๆ ที่อาจารย์เลือกเขียนนั้นล้วนเป็นบุคคลสำคัญทั้งทางด้านต่างๆรวมทั้งบุคคลสำคัญต่อตัวอาจารย์แทบทั้งสิ้น เช่น ทั้งภาพของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้อุทิศชีวิตเพื่อผืนป่าเมืองไทย ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, พระสงฆ์, นักคิด, กวี, นักเขียน ฯลฯ รวมถึงภาพของ พระไพศาล วิสาโส พระนักคิด นักพัฒนา นักอนุรักษ์ป่า

 

 

ซึ่งครั้งหนึ่งผลงานชุด “มรรคาแห่งชีวิต” ของอาจารย์สมภพ ถูกใช้เป็นภาพประกอบให้กับหนังสือธรรมะของท่านท่าน และท่านคือผู้ที่เขียนคำนิยมให้กับสูจิบัตรนิทรรศการ “เกิดแต่ดิน(Born From Earth)” ของอาจารย์สมภพในครั้งด้วย จึงขอยกเอาคำนิยมตอนหนึ่งที่ พระไพศาล วิสาโล ได้กล่าวถึงงานของอาจารย์สมภพไว้อย่างน่าประทับใจว่า

งานชุดนี้เป็นเสมือนเสียงเชิญชวนให้เรากลับมาเคารพและเห็นคุณค่าของสิ่งสามัญ ขณะเดียวกันก็แฝงสัจธรรมอันลึกซึ้งว่า เราทุกคนนั้นล้วนมาจากดิน ไม่ว่าเป็นชายหรือหญิง ฆราวาสหรือพระ สูงหรือต่ำ นั่นเป็นเพียงแค่สมมติ เพราะแท้จริงแล้วเราทุกคนล้วนเสมอกัน คือมาจากดินเหมือนกัน และในที่สุดก็จะคืนสู่ดินเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ควรหลงในมายาภาพจนลืมตัวลืมความจริง

การแสดงสัจธรรมให้เราเห็นโดยไม่ปรุงแต่งซ่อนเร้น เปิดเผยความธรรมดาสามัญอย่างซื่อตรงนั้น ในตัวมันเองก็เป็นความงดงาม ไม่ต่างจากถ้วยชาญี่ปุ่น ซึ่งดูเรียบง่าย แม้ผิวไม่เรียบ ขอบไม่เสมอ และรูปลักษณ์ไม่สมมาตร แต่ก็ถือว่าเป็นงานศิลปะชั้นครูเปี่ยมด้วยความงดงาม เพราะสะท้อนถึงสัจธรรมของชีวิต ที่ช่วยให้ผู้เข้าถึงนั้นสามารถอยู่อย่างโปร่งเบาและผาสุกได้

งานชุดนี้ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของสังคมไทย ผ่านใบหน้าบุคคล ตั้งแต่ระดับสูงสุดจนถึงต่ำสุด มีทั้งบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักดี และคนธรรมดานานาอาชีพ ทั้งหมดนี้เป็นตัวแทนของผู้คนที่ประกอบกันขึ้นเป็นชาติไทย แม้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมไทยแตกต่างกันไป แต่ก็สมควรถูกจารึกหรือระลึกนึกถึงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย

“เกิดแต่ดิน” จึงเป็นงานศิลปะที่สะท้อนความจริงหลากมิติ อีกทั้งยังเปี่ยมด้วยความงาม ที่จะเข้าถึงได้ก็ด้วยใจอันพินิจ เปิดกว้าง และว่างเปล่าจากการปรุงแต่งทั้งปวง…”

 

— การเล่าเรื่องราวจากดินอีกครั้ง

กับนิทรรศการ “เกิดแต่ดิน Alfred Pawlin”—

และในปี 2565 นี้ การกลับมาอีกครั้งสำหรับการเล่าเรื่องราวของบุคคลสำคัญ ภาพวาดภาพพอร์ทเทรท(Portrait)ที่เขียนขึ้นจากดิน ในนิทรรศการ “เกิดแต่ดิน Alfred Pawlin” ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565นี้ 

 

หากจะถามถึงความน่าสนใจในนิทรรศการครั้งนี้ แน่นอนว่าอาจารย์สมภพไม่เคยทำให้ผู้ชม หรือผู้ที่ชื่นชอบในงานผลงานศิลปะผิดหวัง นับตั้งเเต่การเริ่มทดลองเทคนิคการใช้ดินในการเขียนภาพ การสะสมประสบการณ์ ความรู้มามากกว่า20 ปี จวบจนถึงปัจจุบันนี้ อาจารย์ไม่เคยหยุดยั้งกับการทดลอง คิดค้น และพัฒนาเทคนิควิธีการ
กระบวนการใช้ดินในการเขียนภาพเหมือนให้ดียิ่งขึ้น

 

 

เกิดแต่ดิน Alfred Pawlin” เป็นนิทรรศการที่อาจารย์สมภพตั้งใจที่จะแสดงความรำลึกถึง Alfred Pawlin
บุคคลผู้ที่เป็นทั้งคนสำคัญ ผู้ที่คอยสนับสนุนให้ศิลปะร่วมสมัยของไทยได้ก้าวเข้าสู่โลกตะวันตก รวมทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง “วิณวลธรรมแกลลอรี่” อีกด้วย

 

น้อยคนนักที่จะรู้จัก Alfred Pawlin  เขาเกิดที่เมืองเวียนนา ออสเตรีย เป็นคนที่ชอบเดินทางและเรียนรู้ชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ต่อมาAlfred เริ่มหันมาสนใจในพุทธศาสนา โดนเริ่มศึกษา ค้นคว้า มากไปกว่านั้น Alfred ยังฝึกฝนและลงมือปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนทางศาสนาอย่างจริงจังอีกด้วย ทำให้ในปี 2518 หลังจากที่ได้เดินทางไปยังอินเดีย Alfredได้เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งทำให้เขาได้พบกับศิลปะร่วมสมัย เชิง Buddhist Art ซึ่งเเตกต่างจากงานศิลปะที่เขาได้พบในประเทศอื่นๆที่เน้นเพียงการอนุรักษ์และสืบต่อจากของเดิมเท่านั้น จึงทำให้ Alfred ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ประเทศไทย และมีความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยให้เผยแพร่ให้กับชาวตะวันตก ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิด “วิณวลธรรมแกลลอรี่” ขึ้นมา

นอกจากภาพเหมือนของบุคคลสำคัญบุคคลหลักของนิทรรศการนี้อย่าง Alfred Pawlin แล้วนั้น ภายในนิทรรศการก็ยังประกอบด้วยภาพเหมือนของศิลปินอีกหลากหลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านนั้นล้วนมีความเกี่ยวข้องกับ “วิณวลธรรมแกลลอรี่” แทบทั้งสิ้น อาทิ  อาจารย์พิชัย นิรันด์, อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี,อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ประเทือง เอมเจริญ, ท่านอังคาร กัลยาพงษ์, วสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นต้น

 

รวมไปถึงภาพของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องในการนำศิลปะตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทย จนทำให้เกิดศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย อย่างเช่น กาลิเลโอ คินี, อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์อีกด้วย

 

ท่ามกลางภาพเหมือนของบุคคลสำคัญต่างๆแล้วนั้น ภายในนิทรรศยังมีงานศิลปะจัดวาง(Installation) ของอาจารย์จัดวางบริเวณตรงกลางห้องอีกด้วย โดยผลงานInstallationชุดนี้เป็นชุดที่อาจารย์ได้เปรียบเทียบกับพื้นฐานของชีวิต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยอาจารย์สมภพได้เปรียบเทียบเชิงสัญญะ เรื่องราวของชีวิตถูกเล่าผ่านศาลพระภูมิ เครื่องหมู่บูชา ของไหว้ต่างๆ เปรียบเสมือนวัฒนธรรม ความศรัทธา ความเชื่อ การบูชาเทพ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนอยู่ในความเชื่อของคนไทยมาอย่างช้านาน แต่เมื่อสิ่งที่เคยได้รับการสักการะ ดูแลพุพังไปกับกาลเวลา ผู้คนกลับทิ้งขว้าง ปล่อยปะละเลย และเมื่อกระบวนการการย่อยสบายทางธรรมชาติเกิดขึ้น สิ่งที่เคยดำรงอยู่เหล่านี้ก็จะหวนคืนกลับสู่ดิน

 

 

” ศิลปินก็เหมือนกับนักทดลอง ศิลปะสำหรับผมคือการสร้างสรรค์ การคิดค้นอะไรใหม่ๆ ค้นกรรมวิธีใหม่ๆ วิจัย วิเคราะห์ใหม่ขึ้นมา ควบคู่กันไประหว่างความคิด ความรู้ และจินตนาการ จึงจะสามารถสร้างสรรค์งานออกมาได้ตรงความต้องการ และอิสระ ”

อาจารย์สมภพ บุตราช

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาจารย์ได้ทำการทดลอง ปรับเปลี่ยน ผสม เพิ่มเติมวัสดุต่างๆเพื่อนำมาประยุกต์ให้เข้ากับการสร้างสรรค์งาน ถึงแม้ว่าดิน จะเป็นวัสดุทั่วไป และหาได้ง่ายแต่สีบางสีของดินก็หาได้ตามพื้นที่เฉพาะเท่านั้น เช่นดินสีแดง อาจารย์ใช้ดินที่เขาใหญ่ ส่วนดินที่มีสีชมพู จะเป็นดินที่มาจากบ้านเกิดของอาจารย์บริเวณอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งอาจารย์ได้ใช้เวลาศึกษา และทดลองร่วม 20 ปี อาจารย์ยังเล่าให้ฟังถึงกระบวนการการผสมดิน โดยแรกๆ อาจารย์ลองเอากาวผสมเพื่อไม่ให้ดินหลุด รวมไปถึงลองเอาถ่านดำผสมเพราะดินดำสนิทไม่มี แต่ก็ยังประสบปัญหาอื่นๆอีกมาก ทั้งปัญหาจากความหนาของดิน พอเมื่อแห้งจะหลุดออกจากพื้น  อาจารย์จึงหาวิธีเคลือบงานโดยศึกษาจากคนใกล้ตัวด้วยกรรมวิธีต่างๆเพื่อที่จะสามารถรักษาสภาพของชิ้นงานได้มากที่สุด จนในที่สุดก็ปรับและหาเทคนิคที่ลงตัวเพื่อรักษาสภาพคุณสมบัติของดินและภาพผลงานของอาจารย์ไว้ได้อย่างใกล้เคียงที่สุด

 

ด้วยความทุ่มเทในการสร้างสรรค์งานของอาจารย์สมภพ บุตราช ทำให้ภาพเหมือนบุคคลที่แสดงอยู่ในนิทรรศการราวกับกำลังเปล่งเสียงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตน ผ่านร่องรอยของดิน พื้นผิวที่แยกออกจากกัน ร่องรอยที่ปรากฎ ราวกับว่ากำลังเชิญชวนผู้ชมเข้ามาฟังเรื่องเล่าของบุคคลสำคัญเหล่านี้

 

 

 


สำหรับครั้งสาระศิลป์ในบทความนี้ ต้องขอขอบคุณคุณเรื่องราวดีๆจากอาจารย์สมภพ บุตราช และสถานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้าด้วยนะคะ หากผิดพลาดประการใด ทางผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ โอกาศนี้ สำหรับตอนหน้า จะเป็นเรื่องเล่ารื่องไหน ฝากติดตามกันไว้ด้วยนะคะ หรือหากอยากรับฟัง สามารถรับฟังเป็นคลิปเสียงผ่านช่องทาง YouTube

GREAT STARS OFFICIAL

หรือสามารถแสกนผ่านทางคิวอาร์โค้ดด้านล่างนี้ได้เลย

 

เรียบเรียงเนื้อหาและภาพโดย…พาฝัน