เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 เวลา 15.14 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอศิลป์พิมานทิพย์ ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในการพระราชทานสัญลักษณ์ “สิริศิลปิน” แด่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และทรงเปิดงานการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 2 (Thailand Biennale, Korat 2021) ในการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เฝ้าทูลละอองพระบาทรอรับเสด็จ จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการ “สิริศิลปิน” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติเป็นใหญ่ในโลก ศิลปะมีอิสรภาพในตัวเอง” Nature reigns supreme in the world. Art has freedom in itself.

“สิริศิลปิน” นิทรรศการผลงานศิลปกรรม และภาพวาดฝีพระหัตถ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยทรงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนิพนธ์ ศิลปะร่วมสมัย ในชุดผีเสื้อ และชุดเสือ โดยเฉพาะ “เสือ” มีการนำเสนอเรื่องราวในอิริยาบถต่าง ๆ สื่อความหมายถึง “พ่อ” ผู้ทรงปกครองเหนือราชอาณาจักร หมายถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ราชาผู้ปกครองแผ่นดินด้วยพระเมตตา และทรงมีความห่วงใยทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ตลอดเวลา ทั้งนี้มีผลงานชิ้นสำคัญของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงคัดเลือกมาจัดแสดงเพิ่มเติมจำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ ภาพเสือร้องไห้ ภาพจิตรกรรมสีน้ำบนกระดาษ / ผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่มีชื่อ เป็นภาพผีเสื้อกระพือปีกอวดลวดลายและสีสันสวยงาม บางชิ้นมีการดัดแปลงเป็นรูปแบบสื่ออื่นๆ ทั้งประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และงานออกแบบเครื่องประดับ จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานสัญลักษณ์ “สิริศิลปิน”แด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี


ในการนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถวายสดุดีพระเกียรติคุณองค์ “สิริศิลปิน” สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ไทย ที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยพระองค์เอง โดยทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเรียนรู้ ฝึกฝนและลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ทรงได้รับการยกย่องจากประชาคมโลกในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยและนานาชาติ ทั้งทรงมีความสนพระทัยและมีพระอัจฉริยะภาพในงานศิลปะและการดนตรีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยพระปรีชาสามารถทรงได้รับการทูลเกล้าถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” จากรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม

สำหรับนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“Nature reigns Supreme in the World.Art has freedom in itself” ธรรมชาติเป็นใหญ่ในโลก ศิลปะมีอิสรภาพในตัวเอง โดย นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ภัณฑารักษ์(CURATOR)ของนิทรรศการฯ ในฐานะผู้ออกแบบสัญลักษณ์นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ได้ให้ความหมายของสัญลักษณ์ไว้ดังนี้


“สิริศิลปิน” หมายถึง “ผู้มีศิลปะงดงาม ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ศิลปะสมสง่าราศี ผลงานศิลปะของพระองค์สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีจินตนาการในตัวเอง จินตนาการทำให้เราสร้างสรรค์งานได้ไม่มีขีดจำกัด”
“สัญลักษณ์สิริศิลปิน” เป็นเครื่องหมายแห่งจินตนาการการสร้างสรรค์งานแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ ได้แก่ ศิลปะและวิทยาศาสตร์ รูปแบบของสัญลักษณ์เป็นงานศิลปะสมัยใหม่ประกอบด้วยรูปทรงเหลี่ยมของเรขาคณิตทั้งสองรูปทรงตั้งสง่าขึ้นเชื่อมโยงรูปสัญลักษณ์แสดงถึงจิตใจอันงดงามเป็นรูปทรงกลมมีลวดลายละเอียดอันประณีตอ่อนช้อย งดงามละเอียดละไมตามแบบของศิลปะไทย ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศถึงความสำเร็จของการสร้างสรรค์งานอันบริสุทธิ์ใจจากความคิด จินตนาการ และการสร้างสรรค์หลอมรวมกันอย่างมีเอกภาพ
สำหรับนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นบริเวณชั้น ๒ และ ๓ ของหอศิลป์พิมานทิพย์ ประกอบด้วย นิทรรศการแสดงผลงานขององค์สิริศิลปิน นำเสนอพระประวัติพระกรณียกิจ ความหมายและที่มาของพระสมัญญา พระปรีชาสามารถด้านศิลปะแขนงต่างๆ ได้แก่ ทัศนศิลป์ ดนตรี วรรณศิลป์ และการออกแบบ ผลงานของ “องค์สิริศิลปิน” นำเสนอในรูปแบบที่ทันสมัยและน่าสนใจ และผลงานของศิลปินร่วมสมัยนานาชาติรับเชิญจาก ๑๕ ประเทศ จำนวน ๒๑ ราย และศิลปินไทย จำนวน ๑๐ ราย ๒ พระองค์ รวมทั้งสิ้น ๓๑ ราย

ขอขอบคุณภาพจาก :
#เรารักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ขอบคุณภาพและเนื้อหาข่าวจากเพจสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

#หอศิลป์พิมานทิพย์ #สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย