เส้นทางศิลปะไทย
ย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อราว ๔๐ กว่าปีก่อน ครั้งที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์เริ่มต้นตั้งภาควิชาศิลปไทยขึ้น เป็นช่วงที่งานศิลปไทยดูเหมือนอยู่ในแนวตรึงทาง ไม่สามารถก้าวออกจากแนวประเพณีแบบเดิมๆ ในทางทิศใด
ช่วงนั้นเองท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอได้จัดการก่อตั้งภาควิชานี้ขึ้นจากการรวบรวมองค์ความรู้ด้านงานจิตรกรรม ประติมากรรมไทย ซึ่งท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีให้ความสำคัญและเริ่มต้นไว้แต่เดิม โดยประสงค์จะผลิตศิลปินที่มีความตระหนักรู้ลึกซึ้งถึงรากฐานศิลปะและเชิงช่างแบบไทยๆ เพื่อที่จะสร้างงานศิลปะไทยแนวใหม่ ก้าวเดินไปกับอนาคต
ความพิเศษในการศึกษาของภาควิชานี้ คือไม่ใช้วิธีการคัดลอกให้เรียนรู้ดังเคยทำกันมาแต่โบราณ แต่ได้เพิ่มการวิเคราะห์วิจัยเหตุผลต้นรากของวิธีการสร้างจิตรกรรม การเรียนรู้รูปแบบเนื้อหา เรื่องราว โครงสร้าง องค์ประกอบ เทคนิคโบราณ การใช้รูปทรง การใช้อากาศ ฯลฯและเทคนิคเชิงอนุรักษ์ของผลงานแบบไทยประเพณี รวมกับความคิดในแนวคติปรัชญาเชิงศาสนา เพื่อให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งมากไปกว่าที่เคยเป็นมา วิธีนี้ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจและตระหนักรู้ ทำให้เกิดศิลปะซึ่งต่อยอดทั้งทางรูปธรรมแบบไทย หรือแม้แต่ชี้ทางความเป็นไทยอย่างนามธรรม
เหนือกว่าเกณฑ์นี้ ยังมีกฎเหล็กอีกข้อหนึ่งที่จะเป็นบทสรุป นั่นคือ เมื่อนักศึกษาศิลปะเรียนรู้กระบวนทัศน์ของช่างไทยแล้ว ก็มีหน้าที่ประยุกต์ความรู้ที่ได้มาเข้ากับความคิดเชิงสร้างสรรค์ แสดงออกเป็นเนื้องานซึ่งต้องมีอัตลักษณ์ส่วนตนไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม..แต่ยังต้องรักษาความเป็นไทยไว้ นำเสนองานศิลปะต่อยอดไปในวิถีข้างหน้า
หากเปรียบการศึกษาในแนวนี้ ก็เป็นเสมือนเส้นทางอันดิ่งลงลึก เหมือนการขุดเหมืองเพื่อเสาะหาอัญมณีซึ่งฝังอยู่ในจิตศิลปิน ก่อนจะนำมาเจียระไนให้เป็นรัตนชาติเม็ดงาม ก่อนจะนำมาร้อยเรียงเข้าในหมู่ศิลปะไทยสมัยใหม่และจะกลายเป็นเครื่องเชิดชูชนชาติให้โลกชื่นชม
น่าแปลกใจว่า กระบวนการศึกษาในแบบแผนนี้เกิดเป็นความสำเร็จ เกิดศิลปินแนวไทยผู้มีฝีมือเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วดังอาจกล่าวนามเป็นอาทิได้เช่น อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิษย์รุ่น ๑ และอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิษย์รุ่น ๒ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จในการสร้างแต่หากไม่มีแรงส่ง ศิลปะไทยร่วมสมัยที่เราเห็นกันในปัจจุบันก็อาจไม่ผลิบานเท่าที่เป็นอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้มีคุณูปการชัดเจนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องได้รับคำยกย่องก็คือ มูลนิธิบัวหลวงแห่งธนาคารกรุงเทพ เป็นภาคเอกชนผู้ให้ความสนใจในการสืบสานเอกลักษณ์ไทย มูลนิธินี้มีส่วนสนับสนุนให้วงการศิลปะไทยเป็นที่ยอมรับในวงกว้างด้วยการจัดประกวดงานศิลปกรรมในชื่อจิตรกรรมบัวหลวง กระตุ้นศิลปินหน้าใหม่ในวันนั้นให้แข่งขันกันสร้างงานศิลปะโดยมีรางวัลแยกเฉพาะสาขาศิลปไทย
สองเส้นทางซึ่งมาประสาน ระหว่างผู้สร้างและผู้ส่งเสริม จึงกลายเป็นจารึกหน้าใหม่ในวงการประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย ตั้งแต่นั้นมาศิลปะและศิลปินรูปแบบไทยก็กลายเป็นที่รู้จักและได้การยอมรับในวงกว้าง เกิดงานศิลปะที่ไม่จำกัดรูปแบบแต่คงความเป็นไทยและสามารถนำไปสู่สากล สร้างความภูมิใจให้ประเทศชาติ
แต่นั้นมา ความนิยมในแนวทางไทยก็เริ่มขยายออกไปสู่การศึกษาทั่วทุกภูมิภาคทำให้เกิดศิลปินในแนวทางนี้ทยอยตามกันมามากมาย และมีงานศิลปะหลากแบบซึ่งคงไว้ด้วยความเป็นไทยดังที่มีการเริ่มต้น อย่างไรก็ตามในเส้นทางศิลปะไทยที่เล่ามา เราจะได้เห็นสิ่งหนึ่งเหนือจากศิลปะของศิลปินรุ่นฝ่าฟันรุ่นแรกจนถึงรุ่นล่าในปัจจุบัน นั่นคือความเบ่งบานของพลังแห่งความเป็นไทย
คำเปรียบเทียบนี้ไม่ไกลเกินจริง หากลองนึกภาพย้อนไปถึงความนิยมในสังคมเมื่อหลายสิบปีก่อนความนิยมในสมัยนั้นพุ่งไปที่โลกตะวันตกเป็นหลัก ใครก็ตามที่นิยมความเป็นไทยจะกลายเป็นคนล้าหลัง แต่เมื่องานไทยแบบใหม่ถูกเผยแพร่ เริ่มเป็นที่นิยมและพูดถึงในวงกว้าง ผู้คนซึ่งเดิมนิยมไทยแต่ต้องแอบซ่อนเพราะไม่อยากเป็นคนเชยในสายตาผู้อื่นก็แสดงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องนี้อาจจำเป็นต้องกล่าวถึงตัวอย่างความสำเร็จบนเส้นทางศิลปะแนวไทยจนมีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างเช่นอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์-หนึ่งในนักศึกษารุ่นแรกเป็นหัวหอกผู้แข็งแกร่งและ ผลงาน“วัดร่องขุ่น” ศิลปินแนวไทยอันเป็นตัวอย่างท่านนี้ สามารถต่อยอดงานศิลปะดั้งเดิมด้วยรูปแบบส่วนตนและยังคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้ครบถ้วน กลายเป็นที่ยอมรับ และมีชื่อเสียงระดับโลก
ความเป็นไปคร่าวๆ ตามเส้นทางที่เล่ามานี้ อาจพูดได้ว่า เมื่อมีความนิยมไทยเกิดขึ้น ก็ย่อมนำไปสู่ความภูมิใจ และความภูมิใจก็จะต่อยอดไปเป็นการรักษาให้คงอยู่ มีเอกลักษณ์ไทยในสไตล์ใหม่สามารถผสานไปกับโลกที่เดินไปข้างหน้า-โลกซึ่งไร้พรมแดนด้วยการสื่อสารอันรวดเร็ว
ถึงแม้จะมีผู้กังวลถึงการคุกคามจากวัฒนธรรมต่างชาติที่ตามมากับโลกไร้พรมแดนสมัยใหม่ สิ่งนั้นไม่น่ากลัวอีกต่อไป หากความภาคภูมิในความเป็นไทยหยั่งรากลงในใจเสียแล้ว ก็เปรียบเสมือนเสาหลักของเขตประเทศปักลงลึกในใจคนไทยโดยฝีมือของขุนทหารซึ่งเป็นศิลปินถือพู่กัน เส้นเขตแดนชาติซึ่งสร้างได้ด้วยศิลปะก็ย่อมคงอยู่อีกนานเท่านาน
บทความโดย: วิภาวี รักษ์เจริญ