ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2465 ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี บิดาเป็นข้าราชการกรมป่าไม้ ชื่อ พ่วง มารดาชื่อ ดิ่น เริ่มเรียนวิชาเขียนภาพจากอาจารย์เป้า ปัญโญ แห่งวัดพระทรง ตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยเรียนเฉพาะวันอาทิตย์ วันธรรมดาต้องเรียนวิชาสามัญที่โรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี วัดคงคาราม เมื่ออายุราว 13 – 14 ปี เริ่มเรียนเขียนภาพกับนายเลิศ พ่วงพระเดช

พ.ศ. 2480 ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง สนใจเป็นพิเศษทางวิชาช่างปั้น จากนั้นเรียนต่อที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม หรือมหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน เมื่อเรียนจบหลักสูตร 4 ปี อาจารย์ศิลป์ พีระศรี แนะนำให้ไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการของกรมศิลปากร ได้รับเงินเดือนๆ ละ 45 บาท อาจารย์ไพฑูรย์รับราชการเป็นประติมากรที่กรมศิลปากรและเป็นอาจารย์สอนวิชาประติมากรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในยุคบุกเบิกก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่พ.ศ. 2486 จนกระทั่งได้รับปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
ต่อมาในปีพ.ศ. 2508 ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้เข้ารับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท ณ สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทำงานประติมากรรมตามพระประสงค์ ส่วนใหญ่เป็นพระบรมรูปพระมหากษัตริย์และพระพุทธรูป โดยมุ่งมั่นสร้างงานประติมากรรมทั้งงานในหน้าที่และงานเพื่อความคิดคำนึงส่วนตัว ได้รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณจนเกษียณอายุราชการ นับเป็นศิลปินอาวุโสที่มีผลงานอันทรงคุณค่าในวงการประติมากรรมของไทย
ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ได้รับการยกย่องให้เป็นประติมากรที่สร้างผลงานประติมากรรมรูปแบบเหมือนจริง ภาพบุคคลและสัตว์ที่ให้ความรู้สึกดูมีชีวิตมีความเคลื่อนไหว เช่น ผลงานหลวงตาศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี’ลูกวัว’ ‘ลูกม้า’ ‘ลูกช้าง’ ‘ยีราฟ’ ฯลฯ รวมถึงผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ เช่น ปั้นหล่อรูปต้นแบบพระบรมรูปปฐมบรมกษัตริย์ รัชกาลที่ 1 ผลงานพุทธปฏิมากรรม เช่น พระพุทธนวราชบพิตร
ผลงานประติมากรรมของศาสตราจารย์ไพฑูรย์ มีแสดงถาวรอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทั้งในประเทศและต่างประเทศผลงานประติมากรรมแบบปัจจุบันเป็นผลงานบุกเบิกในแนวทางสัจนิยมของประเทศไทยและผลงานประเพณีเป็นการอนุรักษ์และสืบต่อศิลปะแบบประเพณีของชาติ
ศาสตราจารย์ไพฑูรย์นับว่าเป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญในด้านประติมากรรม ที่มาผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะและทั่วไป ได้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมทั้งที่เป็นงานศิลปะแบบปัจจุบันและประเพณีไว้มากมาย ได้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทองถึง 3 ครั้งและได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ก่อนจะได้รับเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปีพ.ศ. 2529
ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. 2542 ด้วยความที่มีอายุมากแล้วสุขภาพไม่แข็งแรง
กุลพัฒน์ เมืองสมบูรณ์ หนึ่งในทายาทของศาสตราจารย์ไพฑูรย์ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินอาวุโสคนสำคัญด้านประติมากรรม ได้นำผลงานสำริดของพ่อเปิดแสดงเป็นครั้งแรก ในงานนิทรรศการชื่อ “ชีวิตและสำริด” (Life and Bronze)
ผลงานประติมากรรมของอาจารย์ไพฑูรย์ได้รับการยอมรับคุณค่าในแวดวงศิลปะสมัยใหม่ยุคแรกเริ่มของไทย มีรางวัลและประกาศนียบัตรรับรองอย่างเป็นทางการ และเป็นที่กล่าวถึงอยู่เสมอในยุคสมัยของท่านแม้ในปัจจุบันก็ตาม และเป็นความจริงที่ว่าผลงานประติมากรรมส่วนราชการที่ ศาสตราไพฑูรย์สร้างขึ้น โดยหน้าที่จะได้รับการหล่อเป็นโลหะสำริดเพื่อประดิษฐานตามสถานที่ราชการแทบทั้งสิ้น แต่ผลงานประติมากรรมส่วนตัวส่วนหนึ่งเพื่อร่วมแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติและผลงานที่สร้างขึ้นด้วยความพอใจส่วนตัว จำนวนกว่า 100 ชิ้น ในยุคสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เคยได้รับการหล่อเป็นโลหะสำริดไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของผลงานที่มีอยู่ เช่น รูปลูกไก่ ลูกแพะ ลูกวัว ลูกยีราฟ กายกรรม หมายเลข 1 และ 5
ปัจจุบัน ผลงานสำคัญๆ กว่า 70 เปอเซ็นต์ ของผลงานทั้งหมดได้รับการหล่อเป็นโลหะสำริด พร้อมนำเสนอเป็นครั้งแรกจำนวนกว่า 20 ชิ้น ในนิทรรรศการผลงานประติมากรรม ‘ชีวิตและสำริด’ (Life and Bronze)
เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ผลงานจำนวนมากของอาจารย์ไพฑูรย์ไม่ได้มีการหล่อเป็นโลหะสำริดเนื่องจาก 1.เราไม่มีทุนทรัพย์มากมายนัก 2.อาจเป็นเพราะความไม่ไว้วางใจช่างหล่อโลหะสำริด 3. ไม่มีเวลาควบคุมการหล่อผลงานด้วยตนเองเพราะท่านต้องปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ และ 4.ท่านเลือกที่จะไม่เสี่ยงกับขั้นตอนการหล่อที่จะต้องตัดย่อยต้นแบบประติมากรรมปูนปลาสเตอร์ที่ทีเพียงชิ้นเดียว เพราะหากไม่สำเร็จในการหล่อโลหะสำริดก็จะสูญเสียต้นแบบปูนพลาสเตอร์ไปด้วย จากเหตุผลดังกล่าวทำให้อาจารย์ไพฑูรย์มีความไม่สบายใจ กังวล และเป็นห่วงผลงานประติมากรรมของตนจะไม่มีโอกาสได้หล่อเป็นโลหะสำริดถาวรดังความตั้งใจอยู่ตลอดมา
จนเมื่อประมาณปี 2540 โรงหล่อโลหะสำริดที่ดำเนินการโดยคนไทยภายใต้การควบคุมขั้นตอนวิธีการหล่อโลหะสำริดจากประเทศฝรั่งเศสได้เข้ามาเปิดกิจการในเมืองไทย ทำให้ศาสตราจารย์ไพฑูรย์จึงติดต่อและตัดสินใจทดลองหล่อผลงานประติมากรรมของท่าน ซึ่งท่านพอใจในคุณภาพและไว้ใจการหล่อทำให้ได้ผลงานออกมานับ 100 ชิ้น

หลังจากนั้นเมื่อท่านอายุมากขึ้นแล้วและสุขภาพไม่แข็งแรงจึงเริ่มให้มีทายาทและลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดร่วมควบคุมการหล่อผลงานให้สมเจตนารมณ์ ท่านเองก็ได้เห็นผลงานส่วนหนึ่ง ก่อนจะจากไปด้วยความสบายใจเมื่อปี 2542

ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญในด้านประติมกรรม ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะและทั่วไป ได้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมทั้งที่เป็นงานศิลปะแบบปัจจุบันและประเพณีไว้มากมาย ได้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทองหลายครั้งและได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าปฏิบัติราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณ ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๘ ได้รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณจนเกษียณอายุราชการ ผลงานประติมากรรมมีแสดงถาวรอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทั้งในประเทศและต่างประเทศผลงานประติมากรรมแบบปัจจุบันเป็นผลงานบุกเบิกในแนวทางสัจจะนิยมของประเทศไทยและผลงานประเพณีเป็นการอนุรักษ์และสืบต่อศิลปะแบบประเพณีของชาติ ในด้านวิชาการนั้นได้เป็นอาจารย์สอนวิชาประติมากรรมในยุคบุกเบิกและก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๖ และยังทำหน้าที่นี้อยู่ในฐานะอาจารย์พิเศษ ด้วยบทบาทที่สำคัญในด้านวิชาการนี้ จึงได้รับปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยความสามารถดีเด่น จึงได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๙