อัตตา เอกลักษณ์แห่งตน นามธรรมที่เราต่างแสวงหา และ ยึดถือ

นิทรรศการแสดงกลุ่ม  :  ประทีป คชบัว , ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี , สุรเดช แก้วท่าไม้ , อนุพงษ์ จันทร
จัดแสดง : 2 มี.ค. – 31 มี.ค. 2019
ประเภทงาน : จิตรกรรม  – วาดเส้น  –  ประติมากรรม
@ RCB Galleria 2fl. River City Bangkok

อัตตา คือ ความเป็นตัวตน ความเป็นเราของเรา หรือ ego  ซึ่งเรามีอยู่แล้วในทุก ๆ คน สำหรับอัตตาของศิลปิน ต่างล้วนมีมากเกินไป หรือน้อยเกินไปเสมอ บางคนแสดงออกอย่างก้าวร้าว แต่ข้างในอ่อนแอ หรือข้างในอ่อนแอแต่แสดงออกในงานแบบก้าวร้าวรุนแรง ความปกติในศิลปิน ล้วนหาได้ยาก เพราะศิลปินทั้งหลายมีประสาทสัมผัสพิเศษที่สะเทือนใจ อ่อนไหวง่ายรับรสสัมผัสได้ลึกซึ้งกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการแสดงออกในงานศิลปะของเขาจึงมีอารมณ์ที่งามประณีตซ่อนอยู่ในภาพ อันส่งผลต่อความรู้สึกต่อผู้ชมสูง

จุดเริ่มต้นของอัตตา ความเป็นศิลปิน

นิทรรศการนี้ ประกอบไปด้วย 4 ศิลปิน ซึ่งแยกได้ 3 ท่านตามอายุในช่วง 50 – 60 ปี ซึ่ง 3 ท่านนี้ น่าจะเป็นแถวหน้าในรูปแบบงานของตนเอง คือ ประทีป คชบัว , ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี , สุรเดช แก้วท่าไม้ ส่วนน้องเล็กสุด คือ อนุพงษ์ จันทร เป็นแนวหน้าในรุ่น 30-40 ปี โดยเฉพาะแนวงานไทยประเพณีร่วมสมัย

หากกล่าวถึงสถาบันการศึกษาศิลปะในเมืองไทย แน่นอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คือสถาบันศิลปะชั้นแนวหน้าของไทยที่ผลิตบัณฑิตศิลปินชั้นเอกของเมืองไทยมากหน้าหลายตา จากสถิตินักศึกษาที่จบมาแล้วดำเนินชีวิตเป็นศิลปินอาชีพมากที่สุด

ย้อนไปถึงสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ สังคม และวงการศิลปะในยุคนั้น (พ.ศ.2520-2540) มีความอิสรเสรีพอสมควร แต่ด้านเศรษฐกิจของนักศึกษาศิลปะล้วนยากจนพอ ๆ กัน เรียกว่า 80-90% ของรุ่น ต้องดิ้นรนหารายได้เสริมเพื่อหาเงินมาซื้อสี ผ้าใบ อุปกรณ์ทำงานศิลปะ (ยุคนั้นทุกคนตอกเฟรมขึงผ้าใบเองเป็นปกติ ไม่นิยมซื้อเฟรมสำเร็จรูปเพราะเกินรายได้ เช่นที่ประทีปเคยบอกไว้ ขนาดสียังซื้อได้เพียงบางสี และต้องล็อคเก็บไว้อย่างดี) แต่ถึงแม้จะยากจนอย่างไร ทุกคนต่างก็มุ่งมั่น มีการแข่งขันในการศึกษาศิลปะเพื่อความเป็นเลิศสูงมาก โดยเฉพาะทักษะการเขียนรูปพื้นฐาน สมดังชื่อคณะ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และศิลปะไทย ที่ทุกคนจะได้เรียนวิชาพื้นฐานทั้งหมดในปี 1-3 ก่อนจะเลือกวิชาเอกในปี 4 และทำวิทยานิพนธ์ในปี 5 เพื่อสรุปผลงานที่กลั่นกรองจนเข้มข้นและจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชนต่อไป

 

การเติบโตของศิลปินในยุค พ.ศ. 2530 – พ.ศ. 2540  ยังไม่มีแกลเลอรีมากมายนัก ส่วนใหญ่จะเปิดรับแต่ศิลปินทีมีชื่อเสียงแล้วเท่านั้น หน้าใหม่ๆ ที่ยังไร้ชื่อล้วนต้องสร้างชื่อจาการส่งผลงานประกวดเพื่อให้ได้รางวัล หรือจัดแสดงเดี่ยวในหอศิลป์ของรัฐ เช่น หอศิลป์เจ้าฟ้า หรือไปเรียนต่อเมืองนอก เพื่อหาพื้นที่ใหม่ให้ตัวเอง

การสร้างชื่อจากงานประกวดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ การประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งคนที่ได้รับความสำเร็จในด้านนี้มากที่สุด คือ อนุพงษ์ จันทร ซึ่งเขาได้รับรางวัลเหรียญทอง และเงินจนเข้าเกณฑ์เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนศิลปินอีก 3 ท่าน ล้วนเริ่มต้นอาชีพ สร้างชื่อโดยการเผยแพร่ผลงานผ่านการเขียนภาพประกอบลงนิตยสาร เช่น ลลนา อิมเมจ พลอยแกมเพชร เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้วตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของวงการสิ่งพิมพ์ มีสุรเดช ที่อาจจะไขว้เขวไปเป็นนักร้องอาชีพ อีกหนึ่งงานที่ศิลปินมีความหลงใหล แต่สุดท้ายก็ต้องย้อนกลับมาเป็นศิลปินดังเดิม

 

ครูศิลปะ มิตรสหาย และโชคชะตา

“ ถ้าเราจะเกิดมาเป็นศิลปิน เราก็จะเป็นศิลปิน มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ” ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณีกล่าวไว้

น่าแปลกใจ บางครั้งโชคชะตา เหตุบังเอิญต่างๆ มีผลต่อ ชีวิตศิลปินค่อนข้างมาก ดังเช่น ประทีป คชบัวโดนปฏิเสธจากแกลเลอรีหลายแห่ง เพราะเป็นศิลปินหน้าใหม่ไร้ชื่อ กลับได้แสดงในหอศิลป์แห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้า เพราะเพื่อนรัก คือ ปริทรรศน์ หุตางกูร ทำงานไม่ทัน และประจวบเหมาะ บังเอิญได้พบ ศาสตร์เมธี อ.นนทิวรรธรน์ จันทนะผะลิน ปรมาจารย์ประติมากรรม และอาจารย์ผู้มากเมตตาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านจึงแนะนำฝากฝังให้  นี่คือ โอกาสเริ่มต้นอาชีพศิลปินก้าวแรกของเขา ด้าน ศักดิ์วุฒิได้เพื่อนรุ่นพี่ ปริทรรศ หุตางกูร เช่นเดียวกัน คอยแนะนำและช่วยติวจนเข้าศิลปากรได้ ส่วน สุรเดช แก้วท่าไม้ แม้ว่าจะปฏิเสธโอกาสในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ร่วมกับรุ่นพี่ศิลปินชั้นนำ แต่ก็กลับได้รับโอกาสจาก สองสามีภรรยาให้ได้รับทุนส่วนตัวไปดูงานที่เยอรมันแทน  ซึ่งส่งผลให้ ตัวตน ผลงาน ของศิลปินมีความลุ่มลึกชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ถัดมา อนุพงษ์ จันทรได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจาก อ.ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ และ อ.ธวัชชัย พันธ์สวัสดิ์ ประติมากรร่วมสมัยชั้นนำ

จากเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด จะเรียกโชคชะตาว่า ดวง หรืออะไรก็ตามที แต่ถ้าเขาคนนั้น ขาดความมุ่งหวังตั้งใจแน่วแน่ ขาดการสั่งสมของทักษะฝีมือ โอกาสที่ได้รับมาก็อาจกลายเป็นอากาศธาตุก็ได้ คำว่า โชคดีย่อมเป็นของคนที่ทำงานหนักเสมอ

 

ศิลปินล้วน ดิ่งลึก ในก้าวเดินแห่งตน

ประทีป คชบัว มีความถนัดในการเขียนเหมือนจริง และมีพื้นฐานจากการเขียนงานโฆษณา ซึ่งต้องขับเน้นให้งานมีการแสดงออกที่เกินจริง เพื่อดึงดูดคนดูให้รับสารได้ง่ายชัดเจน จะสังเกตได้ว่าประทีปชอบเขียนสัตว์ และคนเป็นพิเศษ ในรูปแบบงานแนวเซอเรียลลิสม์ มีความเหนือจริงกว่าโลกที่เรารับรู้ทั่วไป ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน ในการผสม ตัดต่อ ยืดขยายรูปทรงต่างๆ ในภาพ ที่ดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไป แต่เป็นเหตุผลในเชิงศิลปะ ที่ต้องการทำลายกรอบการยึดติดความจริงบางอย่าง ทำให้มีพื้นที่สำหรับศิลปินเพื่อสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ งานที่เด่นๆ ของประทีป อาทิ มวลมารผจญ < 2018 > , เรียนรู้ < 2018 > , กลืนกิน < 2018 >, ภาระ < 2018 > , เทน้ำเทท่า < 2018 >

นอกจากนี้ เราจะพบอารมณ์ขัน ตลกร้ายที่ประทีปซ่อนนัยยะ วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคม เช่นการติดถ่ายเซลฟี่ การติดกับดักโลกโซเชียลของคนยุคปัจจุบัน ในภาพ “เรียนรู้ < 2018 >” , การล่าสัตว์ป่า แต่กลับมุมมองให้คนมาเป็นอาหารของสัตว์แทนในงานชื่อ “อาหารสัตว์ < 2018 >”  , หรือ ประเด็นอาหารตัดต่อพันธุกรรมในภาพ ตัดต่อพันธุกรรม < 2018 > สุดท้ายคือ ปรัชญาพุทธศาสนา ในผลงานชื่อ มวลมารผจญ , < 2018 > และประติมากรรม พระปัจเจกพุทธเจ้า <2013>

และที่ต้องกล่าวถึงคือ ภาพเหมือนตัวเองของศิลปินในวัย 57 ปี “57 ปี < 2018 >”

ในภาพนี้ ศิลปิน นั่งหันหน้า ท่าทางผึ่งผาย สายตามองตรงมายังผู้ชม ด้านหลังมี ช้าง ปลาหมึก เสือดาวคำราม หมูป่าเขี้ยวโง้งซ่อนตัวในเงามืดมุมขวาล่างของภาพ ด้านบนมีหัวกะโหลกอ้าปากเข้าหาศิลปิน เหมือนศิลปินจะบอกเป็นนัยว่า ชีวิตของเขาผ่านการเคี่ยวกรำมาอย่างหนักหน่วง ทุกรูปแบบ แม้แต่ความตายเขาก็กล้าเผชิญอย่างไม่กลัวเกรงแม้แต่น้อย

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินเริ่มก้าวย่างสู่อาชีพจากการเขียนภาพประกอบ ลงนิตยสาร และรับเขียนภาพเหมือนบุคคล น่าสนใจตรงที่ แม้ศิลปินจะไม่ได้รับการยกย่องจากการเรียนในสถาบันศิลปากรเท่าที่ควร วิทยานิพนธ์ได้เพียงเกรด B แต่ศิลปินก็ยังมั่นคงยืนหยัดในการเขียนภาพคนที่ในยุคนั้นมองว่าเป็นงาน พื้นๆ ขาดความลุ่มลึก

ศักดิ์วุฒิ มีความจริงใจ และมีฝีมือการเขียนภาพคนที่มีเอกลักษณ์ มีอารมณ์กึ่งจริงกึ่งฝัน ฝีแปรงที่ดิบหยาบ ปล่อยให้เห็นพื้นผ้าใบ เห็นร่องรอยการร่างภาพ ซึ่งในยุคปัจจุบันกลับได้รับการนิยมอย่างมาก ทั้งที่ยุคนั้นมองว่าเป็นงานที่ไม่สมบูรณ์ ลักษณะเด่นของบุคคลในงานของศักดิ์วุฒิจะมีการจัดท่าทาง ใบหน้า สายตา มือ แขนขา ที่คล้ายการโพสท่าของนาย นางแบบเพื่อนำเสนออารมณ์อย่างประณีตละเมียดละไม ทุกอย่างทีปรากฏแสดงออกถึงความพิถีพิถันของศิลปินอย่างยิ่ง

พื้นฐานสำคัญของศักดิ์วุฒิ คือ การวาดเส้น การปาดเกรยองไล่น้ำหนักมวลกล้ามเนื้อ การทิ้งเส้นร่องรอย โดยเฉพาะการวิธีการเน้น และปล่อยน้ำหนักระยะใกล้ไกล ของเส้นรอบนอกรูปทรงซึ่งสัมพันธ์กับ แสง และ บรรยากาศของสีในแต่ละรูป

งานชุดเด่นๆ ของศักดิ์วุฒิ นอกจากภาพเหมือนบุคคล ภาพนู้ด แล้ว คืองานชุด ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีทั้งงานจิตรกรรม และประติมากรรม ศักดิ์วุฒิกล่าวว่า ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เขียนแล้วเป็นศรีแก่ตัวเอง ทำให้ชีวิตศิลปินดีขึ้นทันตา ผลงานชุด ในหลวงรัชกาลที่ 9 นี้ ศิลปินได้รับการยกย่องทั้งจากนักสะสม และศิลปินด้วยกันในวงกว้าง มีศิลปินสร้างงาน เลียนแบบมากมาย

วกมาที่งานประติมากรรม การที่จิตรกรมาทำงานประติมากรรมนี้ ศักดิ์วุฒิสามารถดึงเอาลักษณะร่องรอยฝีแปรงมาใส่ในพื้นผิวงานประติมากรรมได้งามเป็นพิเศษ แสงที่กระทบกับรอยดิบหยาบปุ่มปม เหลี่ยมสันมีผลต่อสายตาผู้ชมอย่างไร เช่นเดียวกับผิวงานประติมากรรมของชาติชาย ปุยเปีย ซึ่งจิตรกรรุ่นหลังทั้งหลายควรศึกษาวิธีการอย่างยิ่ง

“ลักษณะการทิ้งและปล่อย” นี้เราจะเห็นได้อีกในงานประติมากรรม ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่ศิลปินใช้ไม้แขวนเสื้อเสียบทำเป็นโครง เพราะหาไม้ขึ้นโครงไม่ได้ในขณะนั้น ประเด็นนี้ เริงศักดิ์ บุญวาณิชย์กุล ศิลปินชั้นนำเพื่อนร่วมรุ่น ได้ให้ความเห็นว่า เป็นความงามทีเกิดจากการแก้ปัญหาเชิงเทคนิค ไม่ใช่เรื่องความบังเอิญที่ไม่มีที่มาที่ไป ผลงานเด่นของศักดิ์วุฒิ ในนิทรรศการนี้ คือ งานเขียนภาพเหมือน วนิดา กิฟซี่ , ภาพนู้ดหญิงสาว , ภาพนู้ดนางละคร , ประติมากรรมรูปเหมือนตัวเอง (Self-potrait) และรูปเหมือน ศ.ศิลป์ พีระศรี

สุรเดช แก้วท่าไม้ มีพื้นฐานมาจากการเติบโต ในสวนริมแม่น้ำท่าจีน—- โลกที่สุขสงบ ความรักความผูกพันของครอบครัว และธรรมชาติอันบริสุทธิ์ในวัยเยาว์ ส่งผลต่อการมองโลกศิลปะ ในแง่ความงามแบบอุดมคติ สุรเดชรักทั้งศิลปะ การวาดรูป และเสียงดนตรี เขาจบการศึกษาขั้นต้นจากวิทยาลัยช่างศิลป์ ก่อนจะเข้าสู่มหาวิทยาลัยศิลปากร  และสร้างงานวิทยานิพนธ์ทีมีเนื้อหาเกี่ยวกับความประทับใจและความโหยหาอาลัยในถิ่นเกิด บ้านสวนริมคลอง สภาพของใบไม้สวนที่รกร้าง มีแสงแดดฉาบไล้ เกิดเป็นอารมณ์สดชื่น แต่ก็แอบเหงาเปล่าเปลี่ยว เป็นอารมณ์ที่ซ้อนทับกันอย่างสวยงาม

ในปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา สุรเดชต้องเลือก สิ่งที่รักระหว่างการเป็นนักร้อง หรือ การเป็นจิตรกร

แต่ครั้งนี้เขาเลือกเส้นทางเสียงดนตรี ถึงกับปฏิเสธโอกาสในการไปเขียนจิตกรรมฝาผนังที่วัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ร่วมกับศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ , อ.ปัญญา วิจินธนสาร,เริงศักดิ์ บุญวาณิชกุล ,อลงกรณ์ หล่อวัฒนา เป็นต้น แต่ที่สุดแล้วเขาก็กลับมาทำงานที่เขาทำได้ดีที่สุด นั่น คือ การเป็นจิตรกร แม้จะไมได้ไปเขียนรูปสร้างชื่อเหมือนรุ่นพี่ แต่เขาก็โชคดีได้รับทุนดูงานศิลปะที่เยอรมัน จากคหบดีผู้หนึ่ง ซึ่งเขาได้ใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ ศึกษาและคัดลอกงานจากภาพจริงของศิลปินชั้นครู คือ Sir Lawrence Alma-Tadema , Damte Gabriel Rossetti และศิลปินในยุค Renaissance , Romantic ,Victorian, Impressionism , Pre-Raphaelite และ Art Nouveau.

ผลงานของสุรเดช ช่วงแรกได้รับอิทธิพลจาก อ.จักรพันธ์ โปษยกฤต ศิลปินผู้เป็นต้นแบบการเขียนภาพเหมือนบุคคลในบรรยากาศแสงสีอุดมคติแบบไทยมาไม่น้อย ก่อนจะพัฒนามาเป็นเนื้อหาแนวงานของตนในเวลาต่อมา

สุรเดชเริ่มสร้างชื่อจากผลงานชุดเด็กในสวนริมคลอง ภาพเด็กชายหน้าตาน่าเอ็นดู เล่นเป็นเหมือนเจ้าชายครองอาณาจักรสวนป่า ใส่มงกุฎใบไม้ อยู่ในโลกที่อบอุ่นสุขสงบมีอารมณ์โหยหาอดีตอวลไปทั่วทั้งภาพ ซึ่งจากงานชุดนี้ สุรเดชได้หยิบจับมาพัฒนาต่อเป็นการเขียนรูปภรรยา ลูกสาว ลูกชาย ในบรรยากาศของเสียงดนตรีจากเชลโล ไวโอลิน หีบเพลง เส้นทีพลิ้วไหวเต้นระริกยามกระทบกับแสง และการเขียนไล้สีผิวคนอันละมุนละไม ในบรรยากาศกึ่งจริงกึ่งฝันนับเป็นเอกลักษณ์ของสุรเดช ผลงานเด่นๆ ของเขา ได้แก่ รู้ใจ (2018) , คู่หู (2018) , บทเพลงยามเช้า (2018) , สไบนาง  (2016) , มัธนะพาทา (2018) , King of Hearts (2018) , Queen of Hearts (2018) สุรเดช ยังฝากถึงศิลปินรุ่นใหม่ว่า ไม่มีทางลัดใดสู่ความสำเร็จ นอกจากการฝึกหนักและ และมีปัญญา คือ รู้ว่าตัวเองฝึกอะไร เพื่ออะไร และจะพัฒนาไปสู่ขั้นสูงกว่าได้อย่างไร

อนุพงษ์ จันทร “ใครๆ ก็เรียกผมว่า ไอ้เปรต”  อนุพงษ์ กล่าวไว้ หลังจากงาน ภิกษุสันดานกา ได้รับรางวัลเหรียญทอง งานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ และได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชน ก่อให้เกิดการถกเถียงเรื่องความเหมาะสม ขอบเขตในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันสงฆ์ที่เป็นหนึ่งในสถาบันหลักของไทย จะสังเกตได้ว่างานศิลปะที่ดีจะแตะในประเด็นบางอย่างทีไม่มีใครกล้าแตะ เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่เกือบจะข้ามเส้นศีลธรรม จริยธรรมแต่ไม่ข้าม เพราะงานนั้นมีเหตุผลการคิดรองรับ ไม่ใช่การวิพากษ์แบบขาดสติ ให้เกิดความแตกแยกเกลียดชัง

อนุพงษ์ เริ่มต้นการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลป์ ซึ่งที่นี่เขาได้พบกับ อ.ธวัชชัย พันธ์สวัสดิ์ ศิลปินร่วมสมัยชื่อดังที่สอนให้เขาเข้าใจมุมมองใหม่ในการทำงานประติมากรรม ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรมาพบกับ อ.ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ที่ช่วยแนะนำให้เขาพัฒนาความคิดเกี่ยวกับแง่มุม บาป บุญ คุณโทษ ความเชื่อไทยๆ ที่เขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก มาผสมกับเนื้อหาวงการสงฆ์ที่มีความเหลวแหลก ปฏิบัติตนผิดหลักพุทธศาสนา แต่วงการสงฆ์ด้วยกันเอง กลับแก้ไขปัญหาไม่ได้ เป็นที่อึดอัดใจแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป

ผลงานของอนุพงษ์ มีการนำเนื้อหาจากพระไตรปิฎก โดยเฉพาะบททีเกี่ยวข้องกับนรก เปรตภูมิ นรกของพระที่ปฏิบัติตนออกนอกแนว ผสมกับรูปทรงจากงานจิตรกรรมไทยโบราณ งานปูนปั้นผีเปรตฝีมือช่างชาวบ้าน และนำเสนอวิธีการจัดวาง บาตร จีวร วัตถุทางศาสนาเพื่อให้เกิดมุมมอง และความหมายใหม่

ผลงานของอนุพงษ์ ช่วงแรกๆ จะวิพากษ์ถึงคนใจบาปทีแอบแฝงใช้ศาสนาพุทธมาหากินเป็นพุทธพาณิชย์ อาทิ ปลุกเสกเครื่องรางของขลังเดรัจฉานวิชา และผลกรรมทีเกิดขึ้นตามตำรานรกภูมิ เช่น มือใหญ่ อวัยวะเพศใหญ่โต คนใจบาปมีรูปร่างเป็นงูบ้าง เป็นสุนัขบ้าง มีปากเป็นปากอีกา มีอีกาจิก และไฟนรกเผาลนตลอดเวลา

อนุพงษ์ ใช้จีวรพระ มารองรับการวาดแทนที่จะเป็นผ้าใบปกติ และพระในภาพก็ห่มจีวรหลุดลุ่ย จนเห็นรูปร่าง อวัยวะเพศชัดเจน สิ่งนี้เป็นเหมือนการตั้งคำถามต่อ ความเป็นพระอยู่ที่ เครื่องแบบ คือ จีวร หรือ อยู่ที่ไหน เราควรเคารพพระสงฆ์เพราะแค่ห่มจีวรหรือแค่โกนหัวหรือไม่ และใครควรจัดการเรื่องพระนอกแถวนี้ ส่วนผลงานตั้งแต่ปี 2018 ศิลปินเริ่มจับประเด็นพระตุ๊ด เณรแต๋วที่เราเริ่มพบเห็นตามสื่อโซเชียล สังเกตได้จากสีของจีวรแสบสันทั้งชมพู ม่วง ผู้ชายหัวล้านคิ้วโก่ง ขนตางอน  ผิวกายสีฟ้า ส้ม เปลือยกายโอบกอดกัน มีผีเสื้อ แอปเปิ้ล อีกาทีแอบซ่อนนัยของความเป็นมายา อวิชชากระจายอยู่ในภาพ (ผลงานชุด ใต้กาสาวพัสตร์ (2018) ,  ผ้าคลุมสีชมพู (2018) , คู่จิ้นจีวรหลุด (2018)

นอกจากงานจิตรกรรมแล้ว งานประติมากรรมของศิลปินก็น่าสนใจไม่น้อย เช่น งานชุดลานกรรม (2017) ซึ่งมีทั้งความงามและความน่าสะพรึง รูปทรงสัตว์และคนที่ผสมกันเพื่อแสดง ภาพสัตว์ประหลาดในนรกภูมิ รูปทรงบาตรถูกนำมา ยืดขยาย และจัดวางใหม่ บางครั้งวางบนพื้น หรือ คว่ำ ซึ่งอาจล้อกับคำว่า “คว่ำบาตร” เหมือนต้องการกระทุ้งไปถึงวงการสงฆ์แรงๆ ให้ช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

ผลงาน “หัวเปรตบนแท่นผ้าเหลือง (2018)” เป็นผลงานที่ถูกจัดวางบนแท่นที่คลุมด้วยจีวร สูงเกินระดับสายตาคนทั่วไป เหมือนเรามองรูปพระ หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้ากลับเป็นศรีษะชายหัวโล้น ลักษณะเคร่งขรึม มีร่องรอยคล้ายรอยสัก มีภาษาขอม ปะปนกับภาพการร่วมเพศ อวัยวะเพศหญิง ภาพยันต์ไสยศาสตร์ ปรากฏทั่วศรีษะจนไม่มีที่ว่าง

ศิลปินเล่นกับมุมมอง ของผู้ชมที่เราเคยชินกับการมองของที่สูงส่ง แต่กลับค่านั้น มาเป็นการมองของที่ดูประหลาด ทำให้ผู้ชมต้องฉุกคิด และพิจารณาดูสิ่งตรงหน้าอย่างช้าๆ ซึ่งก็เปรียบเหมือนว่า ให้เราทำสมาธิมีสติพิจารณาว่า อะไร คือ เปลือก และ แก่นของพุทธศาสนากันแน่

ต้องขอชมทีมงาน และทีมทำสูจิบัตรที่คัดสรร และจัดแสดงนิทรรศการได้เป็นอย่างดี ศิลปินเป็นอาชีพที่ทำงานหนัก ส่วนใหญ่มุ่งแต่การสร้างสรรค์ จนละเลยการจัดเก็บบันทึก รูปภาพข้อมูลผลงาน และประวัติชีวิตของตัวเอง หลายๆ ครั้งข้อมูลสูญหายไม่สามารถสืบค้นได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายในการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อการศึกษาในภายหลัง ดังนั้น นักศึกษาศิลปะ หรือ ศิลปินอาชีพจึงควรเก็บข้อมูลทุกอย่างให้เป็นระบบระเบียบ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการสร้างสรรค์ผลงานเช่นเดียวกัน

เราทุกคนต่างมี อัตตา มีดี มีชั่ว มีชอบ มีชัง แต่ใครจะเลือกใช้ เลือกแสดงออกอย่างไร อยู่ทีตัวตนของท่านเอง ขอสรุปปิดท้ายด้วยข้อเขียนของศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ที่สะท้อนตัวตนลึก ๆ ของศิลปินได้ครบถ้วน ดังนี้

“ข้าพเจ้า ชมชอบการเขียนรูปคน
ข้าพเจ้าเขียนด้วยความรัก และ ความเกลียดชัง
เขียนด้วยความถวิลหา และ ความหมางเมิน
เขียนด้วยอำนาจเงิน และ ความศรัทธา
เขียนด้วยความกล้า และ ความขลาด
เขียนด้วยความฉลาด และ ความโง่
เขียนด้วยความอยาก และ ความเบื่อ
เขียนด้วยความเชื่อ และ ความสงสัย
เขียนด้วยความมั่นใจ และ ความกลัว

รวมทั้งเขียนด้วยหัวใจ และ ความจำใจ
อารมณ์ทุกอย่างในตัวข้าพเจ้าล้วนอยู่ในภาพเขียนทั้งสิ้น”

 

ผู้เขียน กฤษณะ ชัยกิตวัฒนะ